เดียน่า 46 CFO
อัดลมยาวแรงสูงจากเยอรมัน

ในยุคที่บ้านเรายังไม่มีระบบ "โควต้า" กำหนดจำนวนปืนที่แต่ละร้านสามารถสั่งซื้อได้ต่อปี ห้างฯปืนต่างๆเคยนำเข้าปืนอัดลมสั้นยาวตั้งแต่ระดับปืนยิงเล่นราคาถูกๆ ไปจนถึงระดับแรงสูง และปืนยิงเป้าแข่งขันที่ให้ความแม่นยำสุดยอด ซึ่งราคาแพงกว่าปืนใช้กระสุนจริงขึ้นไปอีก ครั้นพอเริ่ม กำหนดจำนวนปืน ห้างร้านต่างๆก็มีความจำเป็นต้องเลือกนำเข้าเฉพาะปืนที่ราคาค่อนข้างสูง และน่าจะขายได้รวดเร็ว ปืนอัดลมระดับราคาประหยัดซึ่งเหมาะสำหรับฝึกซ้อมยิงในบ้าน เนื่องจากไม่ก่อเสียงดัง และมีความปลอดภัยพอสมควรเพราะไม่แรงพอจะยิงทะลุผนังห้องได้ กลายเป็นสินค้า "อาวุธปืน" กลุ่มแรกที่หายไปจากตู้โชว์ของห้างฯปืนทั้งหลาย ใครอยากจะฝึกซ้อมยิงปืนต้องซื้อปืนใช้กระสุนจริง และต้องหอบหิ้ว (ห้ามพกพาครับ) ไปสนามยิงปืน เพิ่มปัญหาการตีความกฎหมายและโอกาสเกิดคดี "ความผิดต่อรัฐ" มากขึ้น


ภาพเต็มตัวด้านซ้ายของเดียน่า 46 CFO เป็นปืนสำหรับผู้ใหญ่

ไม่ว่าจะเป็นปืนลมราคาถูกหรือแพง กฎหมายไทยก็ถือว่าเป็นอาวุธปืนเต็มขั้น ต้องมีการขออนุญาตสั่งซื้อหรือนำเข้าจากต่างประเทศทั้งนั้นนะครับ แม้แต่ปืนลมจีนแดงที่มีขายตามชายแดน (ประเทศลาวและเขมรไม่ห้าม) ถ้าซื้อเข้ามาฝั่งไทยก็จะเป็นปืนเถื่อนครับ ที่ตลาดเช้าของนครเวียงจันทร์ ผมเคยพบปืนยาวอัดลม "ซีแซด" ระดับฝึกซ้อมยิงเป้าขายอยู่กระบอกละสามพันกว่าบาท เทียบกับราคาในไทยขณะนั้นประมาณหนึ่งหมื่นสองพันบาท และเมื่อไปดูงานที่อินโดนีเซีย ก็พบปืนยาวอัดลมระดับยิงเป้าแข่งขันขายอยู่ในห้างสรรพสินค้าเคียงข้างแร็กเก็ตแบดมินตันครับ
ซื้อได้ไม่ต้องมีใบอนุญาต

เมื่อพิจารณาดูปืนอัดลมโดยแบ่งแยกเป็นกลุ่มปืนยิงเล่นราคาถูกกับปืนอัดลมชั้นดีราคาแพง ที่เห็นชัดๆคือ ปืนราคาถูกส่วนมากจะผลิตจากสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกที่ใช้ลำกล้องเรียบ ไม่มีเกลียว ยิงกระสุน เหล็กหุ้มทองแดงเม็ดกลมที่เรียกว่า BB Gun (ปัจจุบันเนื่องจากปืนกลุ่มนี้ไม่มีเข้ามาขายนานแล้ว คนรุ่นใหม่เมื่อพูดถึง BB Gun จะหมายถึงปืนเลียนแบบปืนจริงแต่ใช้กระสุนเม็ดพลาสติกกลม จัดเป็นสิ่งเทียมอาวุธปืน) แต่ปืนราคาแพงลำกล้อง 12 เกลียว ความแม่นยำสูงถึงสูงมากแบบปืนแข่งขัน มักจะผลิตจากเยอรมันครับ ที่เป็นเช่นนี้เพราะในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง คนเยอรมัน ถูกฝ่ายพันธมิตรบังคับยึดอาวุธปืน โดยยอมให้มีแต่ปืนลมไว้ยิงเล่นแก้เครียด เครื่องจักร เครื่องมือในโรงงานปืนก็ถูกถอนย้ายไปฝรั่งเศสบ้าง ฮังการีบ้าง เป็นค่าปฏิกรรมสงคราม ช่วงนั้นเยอรมันตั้งหน้าตั้งตาผลิตปืนอัดลมกันเป็นล่ำเป็นสัน จนเมื่อพ้นจากยุคห้ามปืนแล้ว ก็เลยใช้ความรู้ความชำนาญที่สั่งสมไว้ ผลิตปืนลมชั้นดีมาขายต่อเนื่องเป็นผู้นำตลาดนี้ไปโดยปริยาย


ยางรองส้นพานท้ายเหมือน ปืนไรเฟิลแรงสูง

มองจากด้านหน้าเหมือนปืนแฝดซ้อน

ปืนยาวอัดลมที่ "อาวุธปืน" ได้มาทดสอบเดือนนี้ เป็นปืนเยอรมันในระดับคุณภาพสูงสุดจากบริษัท ดีอานาแวร์ค (Dianawerke) ที่ผลิตขายทั่วโลกใช้ยี่ห้อ Diana คนไทยออกเสียงว่า "เดียน่า" ใกล้เคียงกับเยอรมันครับ ถ้าเป็นคนอังกฤษหรืออเมริกันจะออกเสียง "ได-แอ๊-น่ะ" เน้นตัวกลาง แต่เมื่อเข้าไปขายในสหรัฐฯ ไม่ใช้ยี่ห้อนี้ครับ เปลี่ยนไปใช้ของบริษัทไดนามิท โนเบล คือ RWS แทน คงเห็นว่าชื่อเป็นผู้หญิงน่ารักเกินไป ไม่เหมาะกับปืน แถมโลโก้บริษัทยังทำรูปเทพธิดาแห่งดวงจันทร์ ทิ้งคันศรมาถือปืนแทน (Diana ในเทพนิยายโรมันคือ Moon Goddess และยังเป็นเทพประจำป่ายิงธนูได้แม่นยำเทียบกับฝ่ายกรีกคือ อาร์เทมิส - Artemis)

เดียน่ามีระบบการเรียกชื่อรุ่นปืนที่จำง่ายครับ ปืนสั้นอัดลมใช้เลขตัวเดียว เช่น โมเดล 3, 5 และ 6 เป็นต้น ปืนยาวอัดลมแบบสปริงใช้เลขสองตัว พวกที่ใช้เลข 2 นำ (คือ 20 ถึง 29) จัดเป็นปืนขนาดไม่แรงนัก เหมาะกับเด็กหรือผู้ที่ต้องการใช้ยิงซ้อมมือในอาคารระยะไม่ไกลมาก ขยับขึ้นไปเป็นเลข 3 นำ (35, 36 เป็นต้น) จะแรงจัด เหมาะกับการใช้งานสนาม ทั้งสามชุดที่กล่าวมานี้ ใช้ระบบหักลำกล้องง้างสปริง ถ้าเป็นรุ่นที่ใช้คันง้าง จะนำด้วยเลข 4 (เช่น 46, 48) หรือเลข 5 (52, 53 เป็นต้น) ซึ่งโมเดลสี่สิบกว่าห้าสิบกว่าเหล่านี้ ผลิตอย่างประณีต สวยงาม ไม่ด้อยกว่าปืนกระสุนจริงชั้นเยี่ยม ให้ทั้งความแรงและความแม่นยำในระดับสูงสุดของปืนอัดลมสปริง เดียน่าเป็นผู้เชี่ยวชาญปืนสปริงครับ มีปืนแบบใช้ระบบคันอัดลมอยู่รุ่นเดียวคือ โมเดล 100 สำหรับยิงเป้าแข่งขัน และเริ่มใช้เลขสามตัว (เช่น 350) สำหรับรุ่นแรงพิเศษ


แท่งใต้ลำกล้องคือคันง้างสปริง

ถ้าเปรียบเทียบระบบการทำงานระหว่างปืนแบบปั๊มลม แบบใช้ก๊าซและแบบสปริงลูกสูบ แบบปั๊มนั้นตัวปืนสั้น กะทัดรัด ควบคุมความแรงได้โดยปั๊มมากน้อยตามต้องการ (ปั๊มได้ตั้งแต่ 3 ถึง 10 ครั้ง) ยิงนิ่มไม่มีแรงกระแทก แต่เสียเวลาปั๊มมากไปหน่อย และการสึกหรอส่วนบานพับต่างๆ สูงครับ แบบใช้ก๊าซสะดวกมาก ไม่ต้องปั๊ม ยิงนิ่มเหมือนแบบแรก แต่ความแรงจำกัด เพราะความดันก๊าซตัวนี้ (คาร์บอนไดอ็อกไซด์) ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิครับ เพิ่มให้สูงไม่ได้ และมีปัญหาเรื่องต้องหาก๊าซมาเติมครับ ที่น่ารำคาญคืออยากจะยิงสักสามนัดห้านัดต้อง เติมก๊าซเข้าปืนให้ยิงได้สี่ห้าสิบนัด ยิงแล้วเก็บไว้แบบมีก๊าซมากๆ ก็ไม่เหมาะ ซีลจะชำรุด ต้องหาทางยิงให้หมดหรือทิ้งไปเปล่าๆ แบบสุดท้ายคือแบบสปริง ด้านความสะดวกจัดว่าดีที่สุดครับ ง้างครั้งยิงครั้ง ไม่ต้องปั๊มกันให้เสียเวลา ไม่ต้องหาก๊าซเติม อาจจะกินแรงขณะง้างบ้างสำหรับรุ่นที่สปริงแข็ง มีข้อติคือ กระแทก เพราะลูกสูบที่วิ่งอัดลมนั้น เป็นเหล็กท่อนใหญ่เกือบเท่าถ่านไฟฉายใหญ่ สปริงขับตัวโตแข็งแรง เหนี่ยวไกแต่ละครั้งเกิดแรงกระแทกแบบสองจังหวะ คือถอยหลังในจังหวะที่ลูกสูบวิ่งไปข้างหน้า และเดินหน้าเมื่อหัวลูกสูบวิ่งไปสุดทางครับ

เดียน่ารุ่นนี้ เรียกชื่อรุ่นว่า โมเดล 46CFO ตัวย่อ C คือ Compact หมายถึง ลำกล้องสั้นกว่ามาตรฐานนิดหน่อย อีกสองตัว FO มาจาก Fiber Optic ครับ คือใยแก้วนำแสงสีเขียว สีแดงที่ติดมากับศูนย์เปิด ทำให้ได้ศูนย์แบบ "สามจุด" เล็งง่ายรวดเร็วเหมือนปืนต่อสู้ ตัวปืนขนาดใหญ่เท่าไรเฟิลแรงสูงครับ ยาวตลอด 41 นิ้ว ความยาวพานท้ายจากยางส้นพานท้ายถึงหน้าไกวัดได้ 14 นิ้ว ไม่ใช่ปืนสำหรับเด็กหรือคนตัวเล็กนะครับ การทำงาน แบบสปริงลูกสูบ ใช้คันขึ้นลำใต้ลำกล้อง เดียน่าวางสลักบานพับคันง้างไว้ด้านหน้า เกือบถึงปลายกระโจม ไม่ต้องผ่าท้องกระโจมเหมือนระบบคันง้างของอังกฤษที่บานพับอยู่หน้าโกร่งไก การบรรจุกระสุนเข้าลำกล้อง ใช้แท่งติดบานพับเปิดขึ้นด้านบน สามารถใส่กระสุนจับร่องเกลียวลำกล้องโดยตรง ไม่ใช้ระบบแท่งพลิกโดยต้องหยอดกระสุนลงในรู เหมือนแบบเดิม


กดปุ่มตัวปิดท้ายลำกล้องจากด้านซ้าย

ฝีมือการผลิต การแต่งผิวโลหะและไม้เรียบร้อยดีมากครับ จากยางรองส้นพานท้ายปืน ซึ่งแม้จะไม่จำเป็นในการถนอมไหล่คนยิง แต่ก็ช่วยให้การง้างสปริงสะดวกปลอดภัยขึ้นเพราะลดโอกาสลื่นถลำ สันพานท้ายเป็นแบบหยักมอนติคาโล วัดแนวต่ำจากศูนย์ที่ส้นพานท้าย (Drop at Heel) ได้ 3 นิ้ว ที่สันหยัก (Drop at Monticarlo) 2 3/8 นิ้ว และที่ส่วนหน้าก่อนปาดเว้าเป็นด้ามคอปืน (Drop at Comb) 2 นิ้ว ใช้ไม้เนื้อแข็งแต่งสีเข้ม แกะลายกันลื่นที่คอปืนและที่กระโจม 16 เส้นต่อนิ้ว ไกปรับน้ำหนักได้ ห้ามไกอัตโนมัติ อยู่ที่ส่วนท้ายสุดของห้องลูกสูบ เมื่อง้างสปริงจะยื่นออกมาเป็นการเข้าห้ามไก ต้องการยิง ผลักไปด้านหน้าเป็นการปลดห้ามไก เนื้อโลหะรมดำเงางาม บนสันปืนติดรางรับแหวนรัด กล้องยาวตลอดถึงแท่งปิดท้ายลำกล้อง ซึ่งจะสังเกตเห็นหลุมสำหรับลงสมอกันแหวนเคลื่อน ทำมาพร้อมครับ ปืนอัดลมแบบสปริงมีแรงกระแทกสูง แม้ว่าจะไม่ถึงขนาดยิงแล้วเจ็บไหล่ แต่เรื่องกล้องเคลื่อนจะพบเสมอ ติดกล้องยากกว่าปืนลูกกรด

ศูนย์หน้า-หลังของเดียน่ารุ่น CFO ติดใยแก้วดังกล่าวแล้วนะครับ ศูนย์หน้าเป็นแบบแท่งบาง มีตุ่มที่ปลาย ศูนย์หลังร่อง U เหลี่ยม ปรับซ้าย-ขวา สูง-ต่ำได้ ซึ่งสลักอักษร R (ไปขวา) กับ Up (สูงขึ้น) ตามระบบอังกฤษ/อเมริกัน ไม่ใช่ "bei" ที่แปลว่า "มาจาก" อย่างระบบเยอรมันครับ ฐานศูนย์หน้า ด้านล่างเป็นตัวหุ้มคันง้างไปด้วย มองจากด้านหน้าเหมือนปืนแฝดซ้อน จากแนวพานท้ายที่ต่ำกว่าแนวศูนย์ถึง 2-3 นิ้ว ทำให้เล็งศูนย์เปิดง่าย ไม่ต้องกดหน้าจนเจ็บแก้มครับ ทดลองกดปุ่มล็อกแท่งปิดท้ายลำกล้อง สปริงจะดีดแท่งปิดท้ายขึ้นมาเอง และค้างอยู่ในตำแหน่งเปิดให้บรรจุกระสุนได้ง่าย

ง้างสปริง มือขวาดึงคันง้าง มือซ้ายจับกระโจม

ทดสอบที่สนามราชนาวี ช่องอัดลม 10 เมตร ติดรอกไฟฟ้าทันสมัย (ไทยทำ ไทยใช้ครับ) การง้างสปริงกินแรงนิดหน่อย ถ้าเทียบกับพวกหักลำกล้องที่ได้เปรียบเพราะลำกล้องยาวกว่านะครับ ไม่ถึงกับหนักจนเกินไป อย่างอาจารย์วีระทดลองยิงสามสี่สิบนัด "ยังไหว" มีที่ต้องระวังคือ เมื่อเอา มือขวาดึงคันง้างลงมานั้น มือซ้ายควรอยู่ที่กระโจมครับ ไม่ควรจับที่ลำกล้อง เพราะถ้า คันง้างเกิดลื่นหลุดมือก่อนง้างสุดจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม มันจะดีดกลับอย่างแรง ถ้า มืออีกข้างกำลำกล้องอยู่จะหมดสนุกนะครับ กลุ่มกระสุนสำหรับศูนย์เปิด ระยะ 10 เมตร ทำได้เล็กกว่าครึ่งนิ้วนิดหน่อย ทั้งสี่ท่านผลัดกันยิงแบบพาดแท่น ไกคมดี ไม่ต้องแต่งก็ใช้ได้แล้วครับ การทำงานทุกอย่างเรียบร้อยตามคาด ถ้าซื้อมาแล้วจะทดสอบพาดยิง อย่าพาดกับผิวแข็งนะครับ ใช้ผ้าหนาๆ รอง หรือมือซ้ายจับกระโจมไว้ นอกจากช่วยกันไม้กระโจมบุบเป็นรอยแล้ว ยังช่วยให้กลุ่มดีกว่าพาดกับผิวแข็งครับ

ความเร็ววัดได้ 624-629 ฟุต/วินาที และเที่ยงตรงดีมาก คำนวณจากน้ำหนักหัวกระสุน 12 เกรน ได้พลังงานประมาณ 10 ฟุต-ปอนด์ นะครับ ซึ่งจัดว่าเป็น "สเป็กอังกฤษ" คือพลังงานต้องไม่เกิน 12 ฟุต-ปอนด์ จึงจะซื้อหาได้โดยไม่ต้องมีใบอนุญาตปืนรุ่น 46 นี้เดียน่าผลิตออกมาเป็นแบบกระโจมไม้เต็มเรียกว่า 46 Stutzen อีกสองแบบซึ่งเน้นความสวยงามกลมกลืนของเส้นสายรูปทรง ไม่ได้เน้นความแรงพิเศษเหมือน รุ่นง้างข้างอย่างโมเดล 48 หรือ 52 ครับ ก็เหมาะดีแล้วเพราะถ้าสปริงแข็งเหมือนรุ่นใหญ่แต่คันง้างสั้นแบบ 46 นี้คงจะง้างกันไม่ไหวแน่ ถ้ามีขนาดเบอร์ 1 สำหรับปืนรุ่นนี้น่าจะทำความเร็วได้ในระดับ 800 ฟุต/วินาทีครับ ในหมู่ปืนลมด้วยกันก็จัดเป็น "แม็กนั่ม" ได้แล้ว สำหรับสัตว์ขนาดหนูท่อ ต้องเรียกว่าแรงเหลือเฟือครับ

เป้าละนัด

สำหรับท่านที่ต้องการปืนอัดลมไว้ยิงเล่น ไม่ต้องเสียเวลาไปสนาม ไม่ต้องวุ่นวายหาก๊าซเติม รับประกันคุณภาพความทนทาน ตัวปืนเรียบร้อยสวยงามอวดเพื่อนฝูงได้เหมาะมากครับ ถ้าจะใช้ล่าหนูเป็นบางครั้งก็สามารถติดกล้องเล็งเพิ่มความแม่นยำได้ จุดนี้เป็นข้อได้เปรียบของปืนที่ใช้คันง้างครับ ลำกล้องไม่ต้องกระดกขึ้นกระดกลงเหมือนพวกหักลำ ขอแนะนำให้เลือกกล้องสำหรับปืนลมสปริงโดยเฉพาะ ปรับโฟกัสสำหรับยิงระยะใกล้ๆได้ (เริ่มจาก 5 เมตร) และใช้ฐานกล้องลงสมอครับ
ราคาตัวปืนห้างฯ ปืนเทเวศร์ ตั้งไว้สองหมื่นสามยังไม่ได้ต่อรองนะครับ

นิตยสารอาวุธปืน ฉบับที่ 327 มกราคม 2545 มีวางจำหน่ายตามแผงหนังสือทั่วประเทศ

Copyright ©2000 www.gunsandgames.com Powered by eighteggs.com