กรีซลี มาร์ค-วัน
.45 วินเชสเตอร์ แม็กนั่ม

กรีซลี เป็นชื่อเรียกหมีสีน้ำตาลของทวีปอเมริกันตอนเหนือ ตัวใหญ่พอๆกับหมีควายบ้านเรา แต่ดุร้ายกว่ากัน เพราะหมีกรีซลีเป็นสัตว์กินเนื้อโดยธรรมชาติ อเมริกาไม่มีเสือโคร่งหรืองูจงอางอย่าง แถบเอเชีย แล้วก็ไม่มีสิงโต ควายป่า กับช้างหนักสองตันอย่างเช่นแอฟริกา หมีกรีซลีนี่ล่ะครับ เป็นสัตว์อันตรายที่สุดของเขาแล้ว ดังนั้น ในเมื่อโรงงาน L.A.R. ทำปืนในสไตล์ M1911 ที่มีอานุภาพร้ายแรงที่สุดขึ้นมา จึงได้นำเอาชื่อหมีกรีซลีมาใช้เป็นชื่อปืน ซึ่งก็นับว่าตั้งชื่อ ได้เหมาะสมแล้วละครับ เพราะว่ากรีซลีกระบอกนี้จัดเป็น M1911 ที่มีน้ำหนักมากถึง 3 ปอนด์ และยังทำเฉพาะกระสุนแรงสูงเท่านั้น ขนาดเบาที่สุดก็คือ 9 มม.พาราเบลลัม, .30 เมาเซอร์ ขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึง .50 AE


ภาพเต็มด้านซ้ายของกรีซลี มาร์ค-วัน

บริษัท L.A.R. เริ่มผลิตปืนกรีซลีเข้าสู่ตลาดในปี ค.ศ.1984 หลักการก็คือนำปืน 1911 มาขยาย โครงด้ามให้กว้างขึ้น แต่ยังหนาเท่าเดิมเพื่อให้รับกับซองกระสุนที่ใส่กระสุนยาวๆ
อย่าง .45 วินฯแม็กฯ กับ .357 แม็กนั่มได้ ปัญหาต่อมาก็คือจะทำให้โครงสร้างของปืน 1911 ทนแรงอัดของกระสุนแรงสูงได้อย่างไร คำตอบก็คือกระสุนปืนทั้งที่แรงอัดสูงที่สุด
อย่างเช่น .44 แม็กนั่ม กับ .45 วินฯแม็กฯ ก็ยังมี แรงอัดเพียง 40,000 CUP
(40,000 ปอนด์/ตารางนิ้ว เมื่อวัดด้วยแท่งทองแดง)

การวัดแรงอัดในรังเพลิงสมัยก่อนจะต้องทำให้ลำกล้องทดลองที่เจาะรูทะลุลงไปถึงรังเพลิงแล้วสอด แท่งทองแดงลงไปในรูปลายข้างหนึ่งยันอยู่กับปลอกกระสุน อัดด้านบนให้แน่นด้วยเกลียวยึดจนได้ มาตรฐานแล้วยิง จากนั้นก็นำแท่งทองแดงออกมาวัดความยาวว่าโดนแรงอัดกดให้สั้นลงไปเท่าไหร่ นำมาคำนวณเป็นแรงอัดในรังเพลิงได้ แต่ถ้าเป็นกระสุนอ่อนๆที่ทองแดงไม่ยอมยุบตัวก็ เปลี่ยนเป็นแท่งตะกั่วแทน แต่ในสมัยนี้เขาจะวัดด้วยทรานสดิวเซอร์ซึ่งเป็นเซ็นเซอร์ทางไฟฟ้า ใช้งานได้สะดวกกว่าเพราะไม่ต้องใช้ลำกล้องพิเศษ วัดจากปืนธรรมดาได้เลย โดยนำเซ็นเซอร์มาแนบกับลำกล้องปืน ก็จะแปรผลออกมาเป็นแรงอัดขึ้นจอให้ดูทันที ถึงแม้จะวัดด้วยทรานสดิวเซอร์แล้ว แต่ก็ไม่ได้คิดมาตรฐานขึ้นใหม่ แต่ยังใช้ CUP เหมือนเดิม


การถอดปืนออกมาทำความสะอาด ก่อนอื่นให้ปลดซองกระสุนแล้วเคลียร์รังเพลิง
ให้เรียบร้อย สวมแว่นตาหรือแว่นนิรภัยเพื่อลด อันตรายเผื่อครอบสปริงหลุดมือดีดใส่หน้า แล้ว กดครอบสปริงพร้อมกับบิดบูชลำกล้องตามเข็ม นาฬิกาไปจนสุด ปล่อยรีคอยล์สปริงคลายตัว ออกมา

จับสไลด์ถอยหลังจนท้ายคันค้าง สไลด์มาตรงกับรอยบากรูปเล็บมือ ปลดคันค้างสไลด์ออกมา หงายปืนแล้วดึงสไลด์ออกไป ทางด้านหน้า

ในเมื่อแรงอัดไม่เกิน 40,000 ปอนด์ ก็หมายความว่ารังเพลิงขนาด .45 ของ M1911 ทนไหว ไม่ต้องเปิดตำรากันให้วุ่นวายจนเกินเหตุหรอกครับ ดูด้วยตาแวบเดียวก็ยังเห็นว่ารังเพลิงของ 1911 หนากว่าช่องลูกโม่ของปืน .44 อยู่แล้ว ในปืนลูกโม่นั้น ปลอกกระสุนมันอยู่นิ่งๆในช่องโม่เพราะว่ามี โครงปืนกั้นเอาไว้ แต่สำหรับปืนออโตแล้ว สไลด์มีการถอยหลังเพื่อถอนปลอกกระสุนออกจากรังเพลิง ถึงแม้ว่าจะเป็นระบบรีคอยล์ซึ่งให้ลำกล้องถอยมากับสไลด์หน่อยหนึ่งก็ตาม
แต่ก็ยังอาจจะถอยเร็วไปจนทำให้ปลอกกระสุนขาดหรือแตกได้

สำหรับปืนเดสเซิร์ท อีเกิล หรือว่า ไวล์ดี้ (Wildey) ซึ่งใช้ระบบก๊าซอ็อพเพอเรท จะออกแบบได้ง่าย เพราะปืนระบบก๊าซจะถ่วงเวลาด้วยการทำให้ปลดกลอนช้าขนาดไหนก็ได้ แต่ข้อเสียของปืนระบบก๊าซก็คือทำให้ปืนมีขนาดใหญ่โตเกินไป

กรีซลีจะใช้วิธีสู้กับแรงถอยอย่างรุนแรงด้วยการเพิ่มน้ำหนักสไลด์ขึ้นไปอีก 50% เมื่อเทียบกับโคลท์ ซึ่งยังไงๆก็ยังได้ปืนที่มีขนาดกะทัดรัดดีกว่าปืนระบบก๊าซ แต่จะออกแบบ ยากกว่าเพราะระบบรีคอยล์ของบราวนิงจะปลดกลอนด้วยการลดท้ายลำกล้อง เวลา เอามาใช้กับกระสุนยาวๆอาจจะขัดตัวได้ ทำให้ต้องปรับแต่งปืนกันอย่างประณีตให้ เข้ากับกระสุนในแต่ละขนาด

สไลด์ที่หนักขึ้นจะช่วยให้ถอยช้าลง คล้ายๆรถบรรทุกหรือคนอ้วนนั่นละครับ กว่าจะขยับออกตัวได้ก็ต้องใช้แรงมาก และใช้เวลากันพอสมควร อีกจุดหนึ่งที่ช่วยให้ สไลด์ถอยช้าลงก็คือเมนสปริงหรือสปริงนก เนื่องจากในปืนระบบที่ใช้นกปืนอย่างเช่นโคลท์ 1911 นั้น นกปืนจะช่วยต้านสไลด์เอาไว้ โดยเฉพาะในช่วงเริ่มถอย ดังนั้น ปืนที่ใช้ กระสุนแรงสูงจะต้องใช้สปริงนกขนาดมาตรฐานเสมอ ห้ามลด ห้ามตัดเด็ดขาด


ยกไกด์ร็อดขึ้นมา ล้มห่วงโตงเตงไปข้างหน้า บิดบูชทวนเข็มนาฬิกาไปจนสุด แล้ว ถอดลำกล้องออกไปทางด้านหน้าเหมือนกับ M1911 มาตรฐาน

ถอดแค่นี้ก็เพียงพอสำหรับทำความ สะอาดตามปกติโครง

ปืนกรีซลีที่ออกมารุ่นแรกในปี ค.ศ. 1984 นั้นยังไม่เรียกว่ามาร์ค-วัน ตอนปี 84 นั้นเป็นปีสุดท้ายที่ยังมีโคลท์ ซีรีส์ 70 ขายกันอยู่ ราคาของโคลท์ในกันส์ไดเจสต์คือ 419.95 เหรียญ ส่วนกรีซลีขาย 749.95 เหรียญ กับคอนเวอร์ชั่นอีกชุดละ 169.95 เหรียญ ในตอนนั้นปืนที่พอจะเป็นคู่แข่งกับกรีซลีก็คือเดสเซิร์ทอีเกิล ซึ่งตอนนั้นยังเรียกว่า "อีเกิล" เฉยๆ และยังทำเฉพาะขนาด .357 แถมยังมีรูปร่างอัปลักษณ์ชอบกล
ในปี 84 อีเกิลขายกระบอกละ 699 เหรียญ

รุ่งขึ้นปี ค.ศ.1985 กรีซลียังขายราคาเดิมแต่เริ่มเรียกว่าเป็นรุ่นมาร์ค-วัน แล้ว คงจะเป็นการเตรียมที่จะออกรุ่นมาร์ค-ทู ในปีถัดไป ส่วนโคลท์ก็ส่งปืนซีรีส์ 80 ออกมา เป็นปีแรกและปรับราคาขึ้นมาเป็น 459.50 เหรียญ สำหรับโคลท์ซีรีส์ 80 รุ่นแรกมา อยู่กับผมกระบอกหนึ่งและใช้งานมาจนถึงทุกวันนี้ จำได้ว่าซื้อมาจากโครงการสวัสดิการ ดูเหมือนว่าราคาเจ็ดพันกว่าบาท

ส่วนอีเกิลก็ตกแต่งรูปร่างหน้าตาใหม่มาเหมือนกับในปัจจุบัน และเปลี่ยนชื่อมาเป็นเดสเซิร์ทอีเกิล แต่ขายในราคาเดิมและยังคงทำเฉพาะ .357 เดสเซิร์ทอีเกิลมาทำขนาด .44 แม็กนั่มในปี ค.ศ.1988 หรืออีก 3 ปีถัดมาโดยตั้งราคาไว้กระบอกละ 699 เหรียญ และในปี 88 นั้นเอง กรีซลีก็ได้ผลิต
มาร์ค-วัน ลำกล้อง 8 นิ้วกับ 10 นิ้ว แบบสไลด์ยาว โดยตั้งราคาไว้กระบอกละ 1,250-1,337 เหรียญ ในขณะที่แบบมาร์ค-วัน มาตรฐานกลับลดราคาลงมาเหลือ 675 เหรียญ
ถูกกว่า .44 ของเดสเซิร์ทอีเกิล 24 เหรียญ

สำหรับกรีซลี มาร์ค-ทู คือไม่มีอะไรแปลกใหม่ คือเป็นมาร์ค-วัน แบบศูนย์ตาย แล้วก็มีเซฟข้างเดียวแต่เข้าใจว่าคงไม่มีใครซื้อ เพราะทำออกมาในปี ค.ศ.1986 แล้วก็ปิด สายการผลิตม้วนเสื่อกลับไปในปีเดียวกันนั้นเอง ส่วนมาร์ค-ทรี ไม่มีประวัติ
โดยข้ามไปเป็นรุ่นมาร์ค-โฟร์ ในขนาด .44 แม็กนั่ม ที่ผลิตออกมาในปี ค.ศ.1991
แล้วถัดมาอีก 2 ปี ก็ตามออกมาด้วยรุ่นมาร์ค-ไฟว์ ในขนาด .50 AE

เรื่องราวของกระสุน .45 วินฯแม็กฯ เริ่มในปี ค.ศ.1977 เมื่อวินเชสเตอร์เอาปลอกกระสุน 9 มม. พาราเบลลัมและปลอก .45 ACP มายืดให้ยาวขึ้นเป็น 9 มม. วินฯแม็กฯ และ .45 วินฯแม็กฯ สำหรับ 9 มม. วินฯแม็กฯ นั้นหายไปจากท้องตลาดนานแล้ว แม้แต่วินเชสเตอร์เองแท้ๆ ก็ยัง ไม่ทำปลอกกระสุนออกมาให้อัดกันเองที่บ้านเลยด้วยซ้ำ ส่วน .45 วินฯแม็กฯ ออกจะสดใสกว่าเพราะยังมีทั้งปลอกกระสุนและกระสุนสำเร็จรูปขายอยู่ตามปกติ ในปัจจุบัน มีวินเชสเตอร์เพียงโรงงานเดียวที่ผลิตกระสุนขนาด .45 วินฯแม็กฯ โดยทำออกมา 3 แบบ
คือ 230 เกรนแบบ FMJ มาตรฐาน แล้วก็หัว 260 เกรนอีก 2 แบบ คือหัวรูธรรมดา กับที่ใช้หัวกระสุนของโนสเลอร์รุ่น Partition Gold

ลองใช้กระสุน 185 เกรน หัวรู ยิงสมุดโทรศัพท์ชุ่มน้ำ แรงปะทะทำให้สมุดโทรศัพท์ ทั้งมัด 3 เล่มถอยมาจนตกโต๊ะ แต่ปรากฏว่าหัวกระสุนแบบนี้น้ำหนักเบา ทำให้ความเร็วสูงมากเกินไป เปลือกฉีกแบะบานตั้งแต่เริ่มเจาะเข้าไปนิดเดียว ทำให้เจาะได้ไม่ลึกนัก ประมาณเล่มครึ่ง แล้วแกนตะกั่วหัวกระสุนหายไปเกือบหมด อย่างนี้เองกระสุนหัวรูรุ่นใหม่ถึงได้ลดความเร็วลงโดยเพิ่มน้ำหนักขึ้นเป็น 260 เกรน

ปืนที่ใช้กับกระสุน .45 วินฯแม็กฯ แบบแรกก็คือ ไวล์ดี้ ซึ่งเป็นปืนระบบก๊าซ ต่อจากนั้นก็เป็นปืนบรรจุเดี่ยว ธอมป์สัน TC ซึ่งเจ้านี่ไม่ว่ามีกระสุนอะไรออกมาใหม่ TC เป็น ต้องขอแจมกับเขาด้วยทุกที หลังจากนั้นอีกห้าหกปีต่อมาพอ L.A.R. เริ่มทำปืนกรีซลี ก็ไม่รั้งรอที่จะบรรจุกระสุน .45 วินฯแม็กฯ เป็นกระสุนมาตรฐานของกรีซลีไปเรียบร้อยโรงเรียนหมี และนับตั้งแต่กรีซลีออกสู่ตลาดก็ดูเหมือนจะเป็นปืนที่อยู่คู่กับ .45 วินฯแม็กฯ
ถ้าเอ่ยชื่อกรีซลีก็ต้องนึกถึง .45 วินฯแม็กฯ และถ้าพูดถึง .45 วินฯแม็กฯ ก็ต้องนึกถึงปืนกรีซลี

กรีซลีถูกปิดสายการผลิตลงไปเมื่อสองปีก่อน ผมลองเปิดกันส์ไดเจสต์ย้อน กลับไปดูเล่มล่าสุดที่ยังมีรายการของกรีซลี ก็คือปี 1999 โดยเหลือเฉพาะมาร์ค-วัน กับ มาร์ค-ไฟว์ สำหรับมาร์ค-วัน มีขนาด .45 วินฯ แม็กฯ กับ .357 แม็กฯ แล้วก็คอนเวอร์ชั่น ที่เหลือเฉพาะ .357 แม็กฯ, .45 ACP, 10 มม., .45 วินฯแม็กฯ และ .357/45 วินฯแม็กฯ ตัวปืนราคา 1,000 เหรียญ คอนเวอร์ชั่น 233-248 เหรียญ ส่วนมาร์ค-ไฟว์ ราคาแพงกว่าหน่อย 1,152 เหรียญ มีเฉพาะ .50AE แต่มีคอนเวอร์ชั่น .44 แม็กฯ, .45 ACP, .45 วินฯแม็กฯ และ .357/45 วินฯแม็กฯ

ส่วนกรีซลี มาร์ค-วัน ที่เรานำมาทดสอบในฉบับนี้เป็นปืนเก่าเก็บ ตัวที่โชว์ ปกหน้าเป็นรุ่นโครงปืนชุบฮาร์ดโครม สไลด์ รมดำฟอสเฟต ส่วนกระบอกที่ทดสอบจะรมดำฟอสเฟตด้านทั้งกระบอก ความรู้สึก ครั้งแรกที่จับก็คือปืนหนักมากเพราะน้ำหนักปาเข้าไป 3 ปอนด์ พอๆกับรูเกอร์เรดฮอว์ก แต่พอลองดึงสไลด์ดูก็พบว่าไม่หนักแรงเท่าไหร่ ลองถอดออกมากดรีคอยล์สปริงดู
กะได้ว่าประมาณ 24 ปอนด์

คนที่จะใช้กรีซลีต้องมือใหญ่พอสมควร เพราะด้ามปืนกว้างมาก คนมือเล็กใช้ด้ามปืน หนายังจับได้ถนัดดีกว่าด้ามกว้าง แต่ถ้าเข้ามือได้เหมาะเจาะดีแล้วจะรู้สึกกระชับดีทีเดียว เพราะอาศัยโครงด้ามของ 1911 ซึ่งเป็น ธรรมชาติดีอยู่แล้ว ด้ามมาตรฐานของกรีซลี จะใช้แก้มประกับด้ามที่สั่งเป็นพิเศษมาจากแพชเมียร์ทำให้ยิงได้สบายมือดีทีเดียว นายห้างฯ ต้อยแห่งห้างฯ ปืนสันทนา มอบกระสุนวินเชสเตอร์แบบมาตรฐาน ซึ่งใช้หัว 230 เกรน ความเร็ว 1,400 ฟุต/วินาที ซึ่งเป็นกระสุน .45 วินฯแม็กฯ ที่ดุเดือดที่สุด และน่าจะเป็นการทดสอบปืนออโตที่ใช้กระสุน แรงที่สุดเท่าที่ อวป. เคยทำกันมา เนื่องจาก กระสุนวินเชสเตอร์รุ่นนี้มีพลังงานถึง 1,001 ฟุต-ปอนด์ เหนือกว่า .44 แม็กนั่มเสียอีก กระสุนที่แรงกว่านี้จะต้องเป็น .357 แม็กซิมั่ม, .440 คอร์บอนหรืออีกทีก็ต้องเป็น .454 คาซูล กับ .50AE นั่นละครับ ถึงจะข่ม .45 วินฯแม็กฯ แบบหัว 230 เกรนได้ สำหรับกระสุน .45 วินฯแม็กฯ รุ่นหลังๆ จะเพิ่มน้ำหนักหัวขึ้นเป็น 260 เกรน ความเร็วลดลงเป็น 1,250 ฟุต/วินาที ทำให้มีพลังงานลดลงเหลือ 902 ฟุต-ปอนด์ ต่ำกว่า .44 แม็กนั่ม

อวป. นำกรีซลี .45 วินฯ แม็กฯ กระบอกนี้ไปยิงทดสอบที่สนามยิงปืนราชนาวี ที่บางนาเหมือนเช่นเคย เมื่อเราวัดความเร็ว กระสุนก็ปรากฏว่าลำกล้อง 5.4 นิ้วของ กรีซลีทำความเร็วเฉลี่ยได้ 1,298 ฟุต/วินาที ต่ำกว่ามาตรฐานที่วัดจากลำกล้อง 6.5 นิ้ว ประมาณ 100 ฟุต/วินาที แต่ยังไงๆ เรา ก็ต้องไปตั้งเป้าที่ด้านขวาสุดของสนาม ซึ่ง เป็นช่องยิงที่จัดไว้สำหรับกระสุนไรเฟิล เนื่องจากทางสนามเกรงว่าแผ่นเหล็ก แบ็กสต๊อปธรรมดาอาจจะกั้นกระสุนไม่ไหว

ปืนกรีซลีกระบอกนี้ยังมีคอนเวอร์ชั่นอีก 2 ชุดเป็นขนาด .357 แม็กนั่ม และ.45 ACP ที่จริงในวันนั้นเราทดลองเปลี่ยนคอนเวอร์ชั่นทั้ง 2 ชุดมาลองยิงดูแล้ว และให้ความประทับใจได้พอๆกับ .45 วินฯแม็กฯ แต่พอดีหน้ากระดาษของเราหมดแล้วจึงขอ ยกยอดไปพูดถึงคอนเวอร์ชั่นทั้งสองชุดนี้ในฉบับหน้า สำหรับผู้ส่งทดสอบคือ ห้างฯ ปืน สันทนา ส่วนการต่อรองราคาหรือจะซื้อแยกเฉพาะตัวปืนหรือคอนเวอร์ชั่นได้หรือเปล่า รวมทั้งการขอใบ ป.3 จะต้องระบุรายละเอียดกันอย่างไร ขอเฉพาะตัวปืนแยกกับคอนเวอร์ชั่น หรือต้องรวมคอนเวอร์ชั่นด้วย ก็ลองโทรฯ ไปสอบถามได้ที่หมายเลข 02-225-8798,
02-222-0542 และ 02-222-6270

นิตยสารอาวุธปืน ฉบับที่ 327 มกราคม 2545 มีวางจำหน่ายตามแผงหนังสือทั่วประเทศ

Copyright ©2000 www.gunsandgames.com Powered by eighteggs.com