เคลบลี
คัสตอมไรเฟิล
อวป. ได้เคยเสนอรายงานทดสอบปืนไรเฟิลคัสตอมจากโรงงานเคลบลี ซึ่งเป็นปืนไรเฟิลที่ออกแบบมาสำหรับการยิงแข่งขันในแบบพาดแท่นโดยเฉพาะ เป็นปืนที่ใช้โครงปืนจากฝีมือการออกแบบของคุณ Ralph Stolle โดยพัฒนาจากโครงปืนของเรมิงตัน แต่เปลี่ยนวัสดุที่ใช้ใน การผลิตจากเหล็กเป็นอะลูมินั่มแบบที่ใช้ทำโครงสร้างเครื่องบิน เบอร์ 7075-T651 ซึ่งเป็นอะลูมินั่มอัลลอยที่เจือสังกะสีเป็นส่วนผสมหลัก อะลูมินั่มสูตรนี้มีคุณลักษณะในเรื่องของความแข็งและทนต่อการเสียดสีได้ดี การที่ใช้โครงปืนเป็นโลหะน้ำหนักเบาทำให้ออกแบบโครงปืนมีพื้นที่หน้าตัดกว้างค่อนข้างมาก ช่วยส่งถ่ายแรงรีคอยล์ไปสู่สต๊อกได้เต็มที่
ปัจจัยที่ทำให้เคลบลีกระบอกนั้นยิงได้แม่นยำเป็นพิเศษก็คือใช้วิธีคว้านรังเพลิงให้ มีส่วนคอรังเพลิงแคบกว่ารังเพลิงมาตรฐาน เนื่องจากคอรังเพลิงปืนมาตรฐานจะโตประมาณ 0.342-0.345 นิ้ว แต่คอรังเพลิงเคลบลีกระบอกนั้นมีเส้นผ่าศูนย์กลางเพียง 0.332 นิ้ว คอรังเพลิงที่เล็กลงจะช่วยให้เจ้าของปืนสามารถนำเอากระสุนพิเศษที่ หัวกระสุนวางตัวอยู่ในรังเพลิง แบบที่แนวแกนหัวกระสุนอยู่ร่วมแกนเดียวกับลำกล้องปืน พอดิบพอดี แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นปืนที่ใช้รังเพลิงคอแคบจะยิงกระสุนธรรมดาไม่ได้เลย เพราะจะต้องใช้กระสุนปืนพิเศษที่กลึงปากปลอกกระสุนให้มีความหนาเพียง 0.012 นิ้ว สม่ำเสมอกัน (คอปลอกมาตรฐานจะหนา = 0.013"-0.015") เทคนิคการใช้รังเพลิงแบบ
"คอแคบ" ในปัจจุบันนี้ได้กลายเป็นเรื่องปกติที่ปืน เบ็นช์เรสต์ทุกกระบอกในอเมริกาใช้กันอยู่
ใครไม่ใช้ถือว่าต้องการเข้ามาแข่งเพื่อเป็น ไม้ประดับในสนาม ไม่มีโอกาสได้รางวัลกลับบ้าน
แต่ในบ้านเราออกจะมีปัญหาค่อนข้างมาก เพราะธรรมดากระสุนไรเฟิล .308 แบบมาตรฐานก็หายากอยู่แล้ว
ยิ่งเป็น กระสุนพิเศษแบบนี้ก็คงไม่ต้องพูดถึง ดังนั้น ทางผู้นำเข้าจึงได้สั่งเคลบลีแบบคอรังเพลิง
ยังสงสัยอยู่ว่าทางเคลบลีคงจะงงๆ อยู่เหมือนกันว่าทำไมถึงได้สั่งปืนคัสตอม แต่ดันใช้รังเพลิงมาตรฐาน อันที่จริงนั้นการที่ เคลบลีเป็นผู้ผลิตปืนคัสตอมที่เราสามารถจะสั่งให้ทำรังเพลิงปืนแบบไหนก็ได้ ก็น่าจะสั่ง ให้เป็นแบบรังเพลิงที่คอแคบมากที่สุดเท่าที่ยังใช้กระสุนทั่วไปได้ ผมลองรวบรวมหากระสุน .308 มาวัดขนาดคอปลอกกระสุน โดยพยายามหามาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ก็พบว่ากระสุนที่คอปลอกเล็กที่สุดเป็นของวินเชสเตอร์ กับ RWS โดยวัดได้ค่าเฉลี่ยได้ 0.365 นิ้ว ส่วนที่คอกระสุนอวบที่สุด ก็คือลาปัวกับเฟเดอรัล ซึ่งวัดค่าเฉลี่ยได้เกือบ 0.338 นิ้ว และเท่าที่รวบรวมกระสุนมายี่ห้อละ 20 นัด ก็พบว่าไม่มีกระสุนนัดใดเลยที่โตเกินกว่า 0.338 นิ้ว ดังนั้น ถ้าเราทำคอรังเพลิงให้มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.338 นิ้วก็น่าจะเพียงพอแล้ว เทคนิคอีกอย่างหนึ่งที่จะช่วยทำให้หัวกระสุนอยู่ในแนวเดียวกับแกนลำกล้องก็คือ การให้หัวกระสุนมาชนกับจุดเริ่มต้นของเกลียวลำกล้อง ท่านผู้อ่านอาจจะเคยสังเกตเห็นว่า ปืนลูกกรดยาวลูกเลื่อนหลายๆแบบอย่างเช่น อันชูตส์ เวลาที่เราป้อนกระสุนเข้ารังเพลิงไป แล้วไม่ได้ยิง เมื่อดึงออกมาจะมีรอยสันเกลียวลำกล้องกัดลึกเข้าไปอยู่ที่ด้านข้างหัวกระสุน ซึ่งอันนี้ก็เป็นการทำให้หัวกระสุนอยู่ในแนวแกนของลำกล้องปืนนั่นเอง
ในกรณีของกระสุนไรเฟิลจะออกแบบให้หัวกระสุนมุดเข้าไปแบบกระสุนลูกกรดไม่ได้
เนื่องจากกระสุนไรเฟิลมีแจ็กเก็ตทองแดงแข็งๆหุ้มแกนตะกั่วอยู่ ถ้าขืนทำแบบปืน
ลูกกรดเวลาถอนกระสุนที่ยังไม่ได้ยิงออกมาจากรังเพลิง เราอาจจะได้ออกมาเฉพาะปลอกกระสุนเปล่าๆ
โดยมีดินส่งกระสุนหกเรี่ยราดทั่วไปหมด การให้หัวกระสุนมายันกับคอรังเพลิง
ทำได้สองวิธีก็คือ ให้หัวกระสุนยื่นออกไปหาคอรังเพลิง หรือไม่ก็ร่นคอรังเพลิงเข้ามาหาหัวกระสุน
ซึ่งวิธีหลังนี้จะเป็นวิธีที่ปืนสไนเปอร์ต่างๆนิยมใช้กันอยู่ คือเขาจะสั่งทำรีมเมอร์คว้านรังเพลิงขึ้นมาเป็นพิเศษ
ให้ส่วนคอ รังเพลิงโค้งรับกับหัวกระสุนแบบใดแบบหนึ่งโดยเฉพาะ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะทำให้เข้ากับ
หัวกระสุนเซียร่า แมทช์คิง 168 เกรนที่ใช้กับกระสุนแมทช์ของเฟเดอรัล, เรมิงตัน
และวินเชสเตอร์ รวมทั้งกระสุนแมทช์ของทหารแบบ M852 รวมทั้งจะเข้าได้กับหัวรุ่นใหม่ของเซียร่า
ซึ่งอยู่ในซีรีส์แมทช์คิงเหมือนกัน แต่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเป็น 175 เกรน ในปัจจุบันนี้มีใช้อยู่ในกระสุนเฟเดอรัล
โกลด์เมดัล และกระสุนแมทช์รุ่นใหม่ของทหาร
สำหรับเคลบลีกระบอกนี้เห็นทางคนสั่งเล่าให้ฟังว่าได้ระบุให้ทางเคลบลีทำ รังเพลิงสำหรับกระสุนลาปัวของฟินแลนด์ เนื่องจากในบ้านเรากระสุนลาปัวออกจะหา ง่ายกว่ากระสุนอื่น แต่พอเห็นปืนตัวจริงแล้วคงต้องบอกตรงๆว่าจุดเด่นจะไปอยู่ที่การทำ สีพานท้ายมากกว่า เพราะไม่ว่าจะเป็นรูปร่าง หรือว่าสีของพานท้ายช่างสวยงามสะดุดตาจริงๆ คงจำได้นะครับว่าเคลบลีกระบอกที่เราทดสอบคราวที่แล้วใช้สต๊อกทำด้วยกราไฟท์ไฟเบอร์ ซึ่งมีโครงสร้างแบบโมโนค็อก ไม่มีโครงโลหะภายในแต่ทำผิวด้านนอกแข็งแกร่งแบบเดียวกับก้ามปู ทั้งนี้เป็นการลดน้ำหนัก เพื่อจะได้เพิ่มเนื้อเหล็กให้กับลำกล้องมากเท่าที่จะทำได้ สำหรับสต๊อก ของเคลบลีกระบอกที่เราทดสอบในฉบับนี้ ก็ยังคงใช้สต๊อกที่มีโครงสร้างแบบเดิม แต่เป็น แบบธัมป์โฮล คือส่วนคอปืนจะหนาอวบเต็มที่ แล้วทำเป็นด้ามปืนเจาะรูให้นิ้วหัวแม่มือ สอดผ่านออกไปได้
สต๊อกแบบธัมป์โฮลมีจุดเด่นที่คอปืนแข็งแรงและควบคุมปืนได้ดี นอกจากนั้น การที่สต๊อกแบบธัมป์โฮลทำส่วนด้ามให้ตั้งกว่าสต๊อกทั่วไป จะช่วยให้เรารู้สึกว่าปืนถีบ น้อยลงเพราะมือที่จับปืนจะช่วยยันสต๊อกเอาไว้ ซึ่งเป็นการใช้กล้ามเนื้อแขนมาแบ่ง รีคอยล์ของปืนออกไปนั่นเอง ท่านผู้อ่านที่พลิกดูหน้าสีมาแล้ว
คงจะเห็นความสะดุดตาของเคลบลีกระบอกนี้ แต่ที่เห็นในภาพนั่นยังไม่เท่าตัวจริงนะครับ
เพราะเขาทำสีมาแบบสามมิติ
เรานำเคลบลีไปยิงทดสอบที่สนามยิงปืน ศรภ. 17 รามอินทรา ปืนสวยขนาดนี้ ไม่อยากเอาไปสนามกลางแจ้ง เกิดฝนตกขึ้นมาจะหมดสวยเท่านั้นเอง ผมนำกระสุน ไปยิงทดสอบด้วยกัน 5 แบบคือ ลาปัว FMJ 185 เกรน, RWS แมทช์ 190 เกรน HpBt และกระสุนแมทช์ของเฟเดอรัล, เรมิงตันกับวินเชสเตอร์ซึ่งใช้หัวกระสุนเซียร่าแมทช์คิง 168 เกรน HpBt ด้วยกันทั้งสามยี่ห้อ ผลการยิงปรากฏว่าปืนกระบอกนี้ไม่ค่อยชอบ กระสุนหัวหนักซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าใช้เกลียว 1-13 ก็เป็นได้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้กระสุนลาปัว 185 เกรนกับ RWS 190 เกรนได้กลุ่มกระสุนได้ไม่ดีนัก น่าเสียดายที่เราหากระสุนลาปัว 170 เกรนหรือ 167 ได้มาเพียงไม่กี่นัด แถมยัง รื้อออกมาวัดเสียหมดแล้ว เสียดายจริงๆ ครับ เพราะว่าปืนกระบอกนี้ทำมาให้แมทช์ กับกระสุนลาปัวเสียด้วย และที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือกระสุนวินเชสเตอร์กับเฟเดอรัล ทำกลุ่มกระสุนได้ดีพอๆกัน ก็แสดงว่าคุณภาพของส่วนประกอบอื่นๆตลอดจนความพิถีพิถัน ในการอัดกระสุนมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าความหนาของคอปลอกกระสุน
ผู้ส่งทดสอบคือ ห้างฯ ม.ฮะกีมี อยู่ถนนเจริญกรุง ใกล้สี่แยกอุณากรรณ กรุงเทพฯ
หรืออาจโทรศัพท์ไปสอบถามได้ที่หมายเลข 0-2222-7791, 0-2222-8371 |
|||||||||||||
นิตยสารอาวุธปืน
ฉบับที่ 326 ธันวาคม 2544 มีวางจำหน่ายตามแผงหนังสือทั่วประเทศ
|
Copyright
©2000 www.gunsandgames.com
Powered by eighteggs.com