รูเกอร์ โปลิศ เซอร์วิส ซิกส์
ลูกโม่ .357 แม็กนั่ม

โรงงานผลิตอาวุธปืนน้องใหม่ไฟแรงของบิลล์ รูเกอร์ เริ่มจะเข้ามามีบทบาทในวงการปืนมากขึ้นทุกที อย่างเช่น ลูกกรดรณยุทธ์ในบ้านเราทุกวันนี้ นักยิงปืนเกือบทุกคนจะใช้รูเกอร์ 10/22 คือถึงแม้จะซิ่งเพิ่มกันเข้าไปจนแทบจะจำหน้าตา 10/22 ของเดิมไม่ได้ยังไงก็ตาม แต่โครงปืนก็ยังคงเป็น
10/22 อยู่ดี และในปัจจุบันนี้รูเกอร์ก็ผลิตปืนออกมาทุกชนิดเท่าที่ตลาดปืนพาณิชย์นิยมใช้กันอยู่ นับตั้งแต่ปืนไรเฟิลแรงสูงในระบบลูกเลื่อนกับปืนซิงเกิลช็อต ยิงทีละนัดแบบฟอลลิ่งบล็อก รูเกอร์ก็มีโมเดล 77
กับปืน No.1 มากมายหลายรุ่นตั้งแต่ปืนยิงช้างขนาด .458 วินฯแม็กฯ กับ .416 ริกบี้ลงมาจนถึงกระสุนขนาดจิ๋วอย่าง .218 บี และ .22 ฮอร์เน็ต


ภาพเต็มทั้งสองด้านของ รูเกอร์ โปลิศ เซอร์วิส ซิกส์

ส่วนไรเฟิลออโตฯก็มีโมเดลมินิ 14 ในขนาด .223 และ 7.62x39 มม.(กระสุน AK-47) ท่านผู้อ่านที่เคร่งครัดในเรื่องการ ใช้ภาษาไทยอาจจะตำหนิว่าผมใช้คำว่า "ไรเฟิลออโตฯ" ไม่ถูกต้อง เพราะรูเกอร์ มินิ 14 เป็นปืนระบบกึ่งอัตโนมัติ ซึ่งก็จริงอยู่ละครับ แต่คำว่าไรเฟิลออโตนั้นสามารถหมายถึง "ออโตโหลดเดอร์" ได้ด้วย และเชื่อไหมครับว่าปืนมินิ 14 เป็นปืนที่เอาไปดัดแปลงให้ยิงแบบออโตเมติกได้ง่ายมาก มีชุดคิตสั่งซื้อทางไปรษณีย์ได้ด้วย เรื่องนี้ไม่ต้องแปลกใจหรอกครับ เพราะมินิ 14 เป็นปืนที่รูเกอร์ย่อส่วนมาจากปืน M14 ของทหารอเมริกัน ซึ่งเป็นแอสซอลท์ไรเฟิลหรือปืนแบบออโต/เซมิออโตแบบแรกของกองทัพสหรัฐฯ
ปืนมินิ 14 เป็นปืนที่กะทัดรัดน่าใช้มาก สำหรับปืนมินิ 14 รุ่นที่ใช้กระสุนอาก้าที่ได้ชื่อใหม่ว่า "มินิ 30" ตอนออกมาใหม่ๆ รูเกอร์โฆษณาว่า "Big Enough for Deer, Small Enough for Handy" หมายความว่า เป็นคาร์ไบน์ที่เล็กกะทัดรัดเอาไปไหนมาไหนได้สะดวก แต่ใช้กระสุนโตในชั้นล่ากวางได้สบาย

ปืนไรเฟิลคานเหวี่ยงรูเกอร์ก็ทำนะครับ เป็นกระสุนลูกกรดธรรมดา ลูกกรด แม็กนั่มกับกระสุนชนวนกลาง .44 แม็กนั่ม แต่หน้าตายังเอาออกไปอวดเพื่อนฝูงลำบากหน่อย อยู่ในเกณฑ์ที่พาไปออกงานตอนสายๆ สงสัยอีกไม่นานรูเกอร์คงจะทำไรเฟิลปั๊มแล้วก็ลูกซองห้านัดด้วย เพราะไหนๆก็ทำลูกซองแฝดซ้อนขายอยู่แล้ว

แต่ปืนที่เป็นหัวหอกให้รูเกอร์เข้าสู่แวดวงการค้าอาวุธปืนจริงๆแล้วจะเป็นปืนรีวอลเวอร์ คือเดิมทีเดียวรูเกอร์จะทำ
ปืนสั้นลูกกรดแบบกึ่งอัตโนมัติที่เรียกว่ารุ่นมาร์กวันออกมาก่อนเพื่อน คือตั้งแต่ปี ค.ศ. 1949 ตอนนั้นยังถือว่ามือใหม่ซิงๆ ขนาดซองกระสุนยังบรรจุได้แค่ 9 นัด เพราะไปซื้อของคนอื่นมาดัดแปลงอีกทีหนึ่ง รูเกอร์ทำปืนมาร์กวัน ขายอยู่สามสิบกว่าปีจึงได้เปลี่ยนแบบเป็น มาร์กทู ขายต่อมาจนถึงทุกวันนี้ แต่สำหรับปืนที่สร้างชื่อเสียงให้รูเกอร์จริงๆนั้นจะเป็นปืนรีวอลเวอร์แบบซิงเกิลแอ๊คชั่นมากกว่า


มาลองถอดปืนดู ก่อนอื่นเปิดโม่ออกมาถอดกระสุนออกเสียก่อน รูเกอร์คุยนักคุยหนาว่าปืนรีวอลเวอร์ดับเบิลแอ๊คชั่นของเขาถอดง่าย ไม่ต้องใช้เครื่องมือ มีแค่เหรียญไดม์ (เหรียญ 10 เซ็นต์) อันเดียวก็ถอดปืนออกมาได้ ผมหา
เหรียญ 10 เซ็นต์ไม่ได้ จะใช้เหรียญสลึงแทนก็ตะขิดตะขวงใจอยู่
เพราะเหรียญของเรามีพระบรมฉายาลักษณ์อยู่ด้วย
เลยใช้จานท้ายกระสุน .357 คลายสกรูด้ามแทน


พอคลายสกรูยึดแก้มประกับด้ามออกมาแล้ว
เบี่ยงสกรูเล็กน้อย ดันแก้มอีกฝั่งหนึ่ง
หลุดออกมาก่อน

รูเกอร์เริ่มทำปืนซิงเกิลแอ๊คชั่นออกมาในปี ค.ศ.1953 ตอนแรกยังคงเป็นกระสุนลูกกรดในรุ่นซิงเกิลซิกส์
และต่อมาอีก 2 ปี จึงได้ขยายออกไปเป็นกระสุนชนวนกลางในรุ่นแบล็กฮอว์ก หรือเหยี่ยวดำ ปืนซิงเกิลของรูเกอร์ก็อปปี้รูปร่างภายนอกมาจากโคลท์ซิงเกิลแอ๊คชั่น อาร์มี่ แต่ดัดแปลงใช้สปริงนกเป็นแบบขดลวดเพื่อให้แข็งแรง ทนทาน และที่สำคัญก็คือลดต้นทุนลง
จุดอ่อนของโคลท์ SAA ตรงที่สกรูยึดโครงปืนทั้ง 5 ตัวคลายตัวออกมาได้ง่ายๆนั้น
รูเกอร์แก้ปัญหาโดยการเคลือบไนล่อนที่เกลียวเพื่อป้องกันการคลายตัวออกมาเอง

ปืนซิงเกิลของรูเกอร์แข็งแรงมาก คงจำกันได้ว่า เอลเมอร์ คีธ คนที่ออกแบบกระสุน .44 แม็กนั่มนั้น เดิมทีเดียวคุณปู่คีธ แกใช้โคลท์ซิงเกิลแอ๊คชั่น ขนาด .45 เป็นต้นแบบ พออัดกระสุนได้แรงถึงระดับ .44 แม็กฯ ลูกโม่ของโคลท์ก็แตก โครงปืนคดงอ คีธจึงได้หันไปพัฒนากับปืนสมิธฯ .44 สเปเชียลแทน แต่พอเป็นปืนซิงเกิลของรูเกอร์แล้วกลับทนได้ เพราะทันทีที่ได้ข่าวว่าสมิธฯกับเรมิงตันกำลังพัฒนาปืนและ
กระสุน .44 แม็กนั่ม บิลล์ รูเกอร์ ก็ไปตื๊อเรมิงตันจนได้
กระสุน .44 แม็กนั่มมาจำนวนหนึ่ง รูเกอร์ ใช้วิธีดัดแปลงปืนซิงเกิลรุ่นแบล็กฮอว์ก ธรรมดาให้เป็น
.44 แม็กนั่มกันตรงๆ และยังออกมาวางขายในปี ค.ศ. 1956 ใกล้เคียงกับปืนของสมิธฯเอง
รูเกอร์ทำแบล็กฮอว์ก .44 ขายอยู่ประมาณ 10 ปีถึงได้ขยายขนาดโครงปืนกับลูกโม่ให้หนาขึ้นไปอีกเป็นรุ่น "ซูเปอร์แบล็กฮอว์ก" เพื่อเอาใจนักเล่นปืนที่อัดกระสุนใช้เอง จะได้เพิ่มอานุภาพกระสุน .44 แม็กนั่มให้หนักหน่วงยิ่งขึ้นไปอีก

หลังจากประสพความสำเร็จกับปืนซิงเกิลแอ๊คชั่นซึ่งเป็นปืนสำหรับยิงเล่นแล้ว รูเกอร์ก็เริ่มขยายตลาดเข้าไปสู่ปืนใช้งาน
ในปี ค.ศ. 1972 เปิดตัวด้วยปืนโมเดล 107 โปลิศ เซอร์วิส ซิกส์ ขนาด .357 แม็กนั่ม แบบเดียวกับปืนที่เรานำมาทดสอบในฉบับนี้ ต่างกันนิดเดียวตรงที่โมเดล 107 เป็นปืนรมดำ ส่วนรุ่นสเตนเลสส์จะเป็นโมเดล 707 ที่ตามออกมาติดๆ ในปี 1973


ข้างในหมุดนี้มีสลักสำหรับช่วยถอดสปริงนก จริงๆแล้วปืนใหม่ๆจากโรงงาน
หมุดจะเสียบไว้ตรงกลางแก้มไม้ และถ้าเป็นปืนรุ่นใหม่ (GP100) สลักอันนี้จะวางนอนโดยมีแก้มประกบอยู่

ใช้สกรูดันแก้มอีกฝั่งหนึ่งออกมา หรือใครนิ้วเล็กหน่อยจะใช้นิ้วเคาะออกมาก็ได้

เมื่อสามสิบปีที่แล้วยังมีหน่วยงานตำรวจหลายๆหน่วยไม่ยอมรับกระสุน .357 เพราะกลัวว่าจะทะลุร่างกายของพลเมืองร้ายไปโดนพลเมืองดี รูเกอร์จึงต้องทำปืนโปลิศ เซอร์วิส ซิกส์ ออกมา
โมเดล 108 และ 708 เป็นกระสุนขนาด .38 สเปเชียล แต่ผู้สันทัดกรณีหลายๆ ท่านให้ความเห็นว่าปืน .38 ของรูเกอร์ใช้กระสุน .357 ได้สบาย แถมยังมีรายการนำไปทดลองคว้านโม่เป็น .357 บ้าง ใช้โม่เดิมแต่อัดกระสุน .38 ในพิกัดของ .357 ทดลองยิงกันดูหลายต่อหลายครั้ง คนยิงก็ยังคงมีอวัยวะครบ 32

ปืนโมเดล 107, 108, 707 และ708 เป็นแบบศูนย์ตาย รูเกอร์ดับเบิลแบบศูนย์ปรับจะเป็นรุ่นซีเคียวริตี้ ซิกส์
โมเดล 117 และ 717 โมเดล 117 เป็นเหล็กรมดำ ส่วน 717 เป็นสเตนเลสส์ และปืนดับเบิล ในรุ่นซีเคียวริตี้ซิกส์จะไม่ทำ .38 สเปเชียล แต่ทำเฉพาะ
.357 แม็กนั่มเพราะยังไงๆก็ใช้กระสุนได้ทั้งสองขนาดอยู่แล้ว

ปืนดับเบิลแอ๊คชั่นของรูเกอร์ได้รับความนิยมมากพอสมควร เนื่องจากแข็งแรง ทนทาน มีความแม่นยำสูง และราคาถูกกว่า โคลท์และสมิธฯ ปัจจัยที่ทำให้รูเกอร์ขายปืนได้ในราคาถูกก็คือรูเกอร์ขึ้นรูปโครงปืนด้วยการหล่อ แทนที่จะนำเอาแท่งเหล็กตันๆ มาเซาะ กัด ไส กลึงเช่นเดียวกับโรงงานผลิตปืนเก่าแก่อื่นๆ รูเกอร์หล่อโครงปืนแบบเดียวกับการหล่อพระในบ้านเราคือวิธี หล่อพระนั้นช่างหล่อบ้านเราเขาจะใช้ขี้ผึ้งปั้นเป็นรูปองค์พระขึ้นมาก่อน จากนั้นจึงใช้ดินผสมกับวัสดุต่างๆให้ทนไฟได้ แล้วเอา มาหุ้มพระที่ปั้นจากขี้ผึ้งไว้ พอแบบเสร็จก็เททองเหลืองหลอมเหลวลงไป น้ำทองเหลือง จะเข้าไปแทนที่โดยละลายขี้ผึ้งออกมาทางช่องที่เจาะเตรียมเอาไว้ ส่วนวิธีการของรูเกอร์ ก็ทำโดยใช้หลักการเดียวกัน แต่ประณีตกว่า คือจะทำแม่พิมพ์สำหรับหล่อขี้ผึ้งขึ้นมาก่อน โดยมีลักษณะเป็นแม่พิมพ์เหล็กหลายชิ้นนำมาประกบเข้าด้วยกัน แล้วก็ฉีดขี้ผึ้งหลอมเหลวเข้าไปในแบบ เมื่อแยกแบบออกก็จะได้โครงปืนรูปร่างเหมือนกับที่จะนำมาประกอบเป็นปืนจริง เพียงแต่ยังเป็นขี้ผึ้งอยู่เท่านั้นเอง

ต่อจากนั้นก็ใช้เซรามิกเหลวเคลือบทับโครงปืนขี้ผึ้งให้ได้ความหนาพอสมควร โดยมีการเปิดช่องสำหรับเทน้ำโลหะหลอมเหลว รวมทั้งช่องระบายอากาศตามตำแหน่งต่างๆที่เหมาะสม พอเซรามิกแห้งแข็งดีแล้วก็นำไปอบเพื่อละลายขี้ผึ้งออกมาจากแบบ ต่อจากนั้นจึงนำเซรามิกไปใช้เป็นแบบสำหรับหล่อโลหะขึ้นมาเป็นโครงปืน พอโลหะ แข็งตัวได้ที่ก็ทุบแบบเซรามิกแล้วนำโครงปืนที่ได้ไปตกแต่งเป็นขั้นตอนสุดท้าย

ง้างนกแล้วใช้สลักที่หยิบออกมา
สอดเข้าไปขวางไกด์ร็อดเอาไว้

เอาสปริงนกกับไกด์ร็อดออกมาได้เลย ดูตรงแผ่นรองให้ดีนะครับ ร่องด้านกว้างจะอยู่ข้างหน้า ส่วนฝั่งที่แคบกว่าจะอยู่ข้างหลัง

ิวิธีการของรูเกอร์ทำให้ผลิตโครงปืนออกมาได้คุณภาพสม่ำเสมอกันโดยใช้ต้นทุนต่ำกว่าวิธีผลิตแบบเดิมๆ เพราะ
รูเกอร์ไม่จำเป็นต้องจ้างช่างฝีมือค่าตัวแพงๆมาเป็นจำนวนมาก คือทุ่มลงไปครั้งแรกในการลงทุน จ้างผู้เชี่ยวชาญให้ทำแบบหล่อขี้ผึ้งหนแรกครั้งเดียวก็พอแล้ว งานที่เหลือก็ใช้ช่างฝีมือระดับธรรมดาได้ ในปัจจุบันนี้รูเกอร์ได้ชื่อว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในการหล่อโครงปืน และยังมีรายการรับจ็อบพิเศษรับจ้างหล่อโครงปืนให้กับโรงงานอื่นๆอีกด้วย

รูเกอร์ โปลิศ เซอร์วิส ซิกส์ โมเดล 707 ขนาด .357 แม็กนั่มที่เรานำมาทดสอบในฉบับนี้เป็นปืนเก่าที่ซื้อไป
ตั้งแต่ปี 2521 แล้ว ลูกค้านำกลับมาฝากขายเอาไว้ ถึงแม้ปืนจะถูกใช้งานมากว่ายี่สิบปีแล้ว แต่ก็ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์แทบจะ 100% กระเดื่องล็อกลูกโม่ยึดได้มั่นคงแข็งแรง ลองขยับลูกโม่ดูปรากฏว่าหลวมคลอนน้อยกว่าปืนใหม่เอี่ยมหลายๆกระบอกเสียอีก ด้านข้างลูกโม่ตรง ร่องล็อกมีรอยขูดเพียงบางๆ แสดงว่าปืนยิงมาน้อยมาก ทั้งยิงแห้งและยิงจริง ดูว่าปืนลูกโม่ยิงมากยิงน้อยได้ตรงนี้ละครับ

เพราะว่าการง้างนก หรือการลั่นไก แบบดับเบิลแอ๊คชั่นทุกๆครั้งจะทำให้ลูกโม่หมุนตัวและถูกกระเดื่องล็อกโม่ขูดลากไปรอบๆโม่ ยิ่งถ้าเป็นปืนรมดำก็จะเห็นได้ชัดเจนขึ้น ร้านปืนหลายๆร้านถึงได้ใช้เข็มขัดไนล่อนรัดหงอนนกเอาไว้เพื่อไม่ให้ลูกค้าทดลองลั่นไกเปล่าเพราะกลัวลูกโม่เป็นรอย

รูเกอร์ โปลิศ เซอร์วิส ซิกส์ กระบอกนี้รวมทั้งรูเกอร์ดับเบิลแอ๊คชั่นขนาด .38 สเปเชียลและ .357 แม็กนั่มทุกกระบอก จะใช้เกลียวลำกล้องเวียนครบรอบที่ 18.75 นิ้วเท่ากับสมิธแอนด์เวสสันและแดนเวสสัน แต่ถ้าเป็นรูเกอร์แบบซิงเกิลแอ๊คชั่นจะใช้เกลียวเร็วกว่า คือเท่ากับ 1-16 เหตุผลก็คือปืนลูกโม่ดับเบิลเป็นปืนใช้งานป้องกันตัว
ซึ่งมักจะยิงไม่ไกลมากนัก ส่วนปืนซิงเกิลแอ๊คชั่นเป็นปืนยิงเล่นประเภทใช้ล่าสัตว์ หรือไม่ก็ยิงเป้าแผ่นเหล็ก ซึ่งมีระยะยิงไกลกว่า ดังนั้น จึงทำเกลียวให้เร็วกว่ากัน

เป้าซ้ายกระสุน .357
ส่วนเป้าขวา .38 สเปเชียล

ผู้เขียนยิงทดสอบที่ระยะ 15 เมตร ใช้กระสุน
.38 แบบยิงเป้าของวินเชสเตอร์ และ
กระสุน .357 หัว 158 เกรนของสเปียร์ วันนั้นพอดีอาจารย์วีระไปเตรียมเป็น
กรรมการแข่งยิงปืนที่ลำปาง ผมเลยต้องเป็นตัวแทนของนักยิงปืนมือเดียว

คือตามปกติแล้วโรงงานปืนเขาจะพยายามทำเกลียวลำกล้องให้ช้าที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อที่ว่าหัวกระสุนจะได้ไม่ต้องหมุน เร็วเกินไปจนเกิดความเครียดโดยไม่จำเป็น และปืนจะได้ไม่สะบัดแรงนักอีกด้วย อย่างเช่น ปืน .357 ซึ่งใช้กระสุน .38 สเปเชียลยิงได้ด้วยนั้น ทางโรงงานก็ต้องพยายามหาค่าเฉลี่ยว่าหัวกระสุน .38 แบบต่างๆที่นิยมใช้กันอยู่นั้น ต้องการความเร็วในการหมุนรอบตัวเองอย่างต่ำสุดมีค่าเฉลี่ยเป็นเท่าไหร่ถึงจะทรงตัวอยู่ได้ อย่างเช่นสมมติว่าหัวกระสุน .38 ต้องหมุนตัวอย่างน้อย 21,500 RPM (รอบ/นาที) ถึงจะวิ่งเอาหัวไปข้างหน้าได้

ดังนั้น ถ้าเราจะให้หัวกระสุน .38 ที่ความเร็วต้นในขั้นต่ำที่สุดก็คือ 710 ฟุต/วินาที ก็จะต้องทำเกลียวลำกล้องหมุนตัวในอัตรา 1-23.78" หัวกระสุนถึงจะทรงตัวอยู่ได้ เพียงแต่มันจะไปได้หน่อยเดียว พอความเร็วเริ่มตกก็จะพลอยทำให้รอบการหมุนตัวลดลงตามไปด้วย ผลก็คือกระสุนจะหกคะเมนตีลังกาเอาข้างเข้าเป้า ดังนั้น ทางโรงงานจะต้องทำเกลียวลำกล้องให้เร็วขึ้นสักหน่อย เป็นการเผื่อเอาไว้ก่อน อย่างเช่นถ้าทำเกลียว 1-18.75" แบบเดียวกับปืนทดสอบของเราฉบับนี้ ที่ความเร็วต้น 710 ฟุต/วินาที หัวกระสุนจะหมุนตัว 27,264 รอบ/นาที
แล้วพอวิ่งไปได้ 100 เมตร ความเร็วลดลงเหลือ 560 ฟุต/วินาที หัวกระสุนก็ยังหมุนตัว 21,504 รอบ/นาที ก็หมายความ ว่าปืนกระบอกนี้ใช้กระสุน .38 แบบความเร็วต่ำที่สุดก็ยังยิงไปได้ 100 เมตรก่อนที่กระสุนจะเริ่มเสียการทรงตัว

แล้วทีนี้ถ้าเราเพิ่มเกลียวลำกล้องเป็น 1-16 แบบในรูเกอร์ ซิงเกิลแอ๊คชั่น ก็จะได้รอบการหมุนตัว 21,500 รอบ/นาที ที่ความเร็ว 478 ฟุต/วินาทีเท่านั้นเอง ซึ่งก็หมายความว่าเป็นการยืดระยะยิงให้ไกลออกไปอีก แต่ก็จะต้องแลกเปลี่ยนกับการที่ปืนมีรีคอยล์มากขึ้น แล้วก็หัวกระสุนจะได้รับความเครียดมากขึ้นในขณะที่อยู่ในความเร็วต้นสูงๆ แต่ถ้าอ่านมาถึงตอนนี้แล้วเกิดเป็นห่วงว่าหัวกระสุนจะดีฟอร์มทำให้ไม่กล้าใช้กระสุนแบบหัวนิ่มๆ ก็ไม่ต้องกลัวเกินเหตุไปหรอกครับ เพราะต่อให้ใช้กระสุน .357 ความเร็วต้น 1,250 ฟุต/วินาที ยิงในปืนเกลียว
1-16 ก็ยังหมุนตัวแค่ 56,250 รอบ/นาที ซึ่งเป็นอัตราการหมุนตัวที่ต่ำกว่ากระสุนไรเฟิลชนิดห่างกันไกลลิบลับ เพราะ .223 เกลียว 1-12 ความเร็วต้น 3,250 ฟุต/วินาที หมุนตัว 195,000 รอบ/นาที พอวิ่งไปกิโลฯครึ่งความเร็วหายไป 2 มัค ก็ยังหมุนจี๋อยู่ที่ 60,000 รอบ/นาที

ปืนรีวอลเวอร์ดับเบิลแอ๊คชั่นของรูเกอร์ ได้ชื่อว่าเป็นปืนที่ถอดทำความสะอาดได้ง่ายมาก ไม่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษ ไม่ต้องเคาะ ไม่ต้องตบตีทุบถองขึ้นเข่าตีศอกหรือฟาดด้วยไม้กอล์ฟให้ลงข่าวหน้าหนึ่ง มีแค่เหรียญสลึงของฝรั่งที่เรียกว่าไดม์ (เหรียญ 10 เซ็นต์) ก็ถอดปืนออกมาทำความสะอาดอย่างหมดจดได้แล้ว ในฉบับนี้เราจึงได้เสนอภาพการถอดประกอบปืนกันในขั้นเบาะๆ ตามโควต้าหน้ากระดาษที่มีอยู่ เพราะ ผอ.สุวิทย์ได้จับมือกับดุลจักรไว้แล้วว่าจบมินิซีรีส์เรื่องกระสุน เจาะเกราะเมื่อไหร่ก็จะเอาปืนที่นิยมใช้กันอยู่ในบ้านเรามาจัดการชำแหละกันแบบหมดไส้หมดพุงชนิดไม่ให้แค้นคอกา

เรานำรูเกอร์ โปลิศ เซอร์วิส ซิกส์ กระบอกนี้ไปยิงทดสอบที่สนามยิงปืนราชนาวี ที่บางนา ทดลองยิงด้วยกระสุน
.38 สเปเชียล แบบยิงเป้า และ .357 แม็กนั่มแบบหัวอ่อน หุ้มทองแดง JSP หนัก 158 เกรนของสเปียร์ ตอนยิงกระสุน .357 ออกจะเจ็บมือสักหน่อย เพราะด้ามปืนค่อนข้างเล็ก ถ้าทำด้ามใหม่ให้พอดีมือหรือว่าเปลี่ยนไปใช้ด้ามยางก็คงยิงได้สบายกว่านี้

ผู้ส่งทดสอบคือ หจก.ม.ฮะกีมี อยู่ข้างธนาคารกรุงเทพ สาขาสามยอด ถนนเจริญกรุง แถวๆสี่แยกอุณากรรณ
โทรศัพท์ 0-2222-7791, 0-2222-8371 โทรสาร 0-2226-5924

นิตยสารอาวุธปืน ฉบับที่ 325 พฤศจิกายน 2544 มีวางจำหน่ายตามแผงหนังสือทั่วประเทศ

Copyright ©2000 www.gunsandgames.com Powered by eighteggs.com