SIG P232SL VS P230
ปืนพกที่ใช้งานได้อย่างสะดวกและคล่องตัวสูง ถ้าจะเปรียบเทียบกันระหว่างแต่ละยี่ห้อ คงมีให้เลือกจริงๆ เพียงสองสามยี่ห้อเท่านั้น ส่วนในบริษัทเดียวกันกลับมีคู่เปรียบเทียบกันลงไปอีก ทำให้คนใช้จริงๆ ต้องพิจารณาว่ามีอะไรมากกว่าระหว่างของเก่ากับรุ่นใหม่ใครมาแรงกว่ากัน
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าปืนพกพาชนวนกลางที่มีความแนบเนียนที่สุด เป็นปืนที่ใช้กระสุนขนาด .380 ทั้งนี้ไม่นับเอาขนาด .22 มาเปรียบด้วย เพราะเป็นชนวนริม กระสุนในขนาด .380 ซึ่ง เป็นที่นิยมแพร่หลายมากในปืนขนาดกลางและขนาดเล็ก เนื่องจากแรงรีคอยล์ของกระสุนต่ำ แม้ในสุภาพสตรียังยิงได้อย่างสบาย ในช่วงที่ผ่านมากระสุนขนาดนี้ในบ้านเรากลับไม่ค่อยนิยม เพราะกระสุนมีราคาแพงกว่ากระสุนชนวนกลางขนาดอื่น และหาค่อนข้างลำบากในสนามยิงปืน ต่างจังหวัด แต่ในการใช้งานจริง ปืนขนาด .380 กลับเป็นปืนซุกซ่อนชั้นนำที่ก้าวขึ้นมาอย่างช้าๆ เพราะการทำตลาดจากราคาที่ไม่ค่อยมีคนสนใจนั่นเอง กระสุน .380 ซึ่งมีความเร็วเฉลี่ยประมาณ 950 ฟุตต่อวินาที เร็วกว่ากระสุนขนาด .45 เล็กน้อย แต่หัวกระสุนหนักเพียง 95 เกรน ถ้ามาเทียบกับขนาด 9 มม.พาราฯ ความเร็ว กระสุนไปถึง 1,100 ฟุตต่อวินาที น้ำหนักกระสุนยังมีมากกว่าอีกต่างหาก พูดให้ตรงจุดก็คือ อำนาจการหยุดยั้งถ้าเทียบกันกับกระสุนแบบ อื่นของชนวนกลางทั่วไปจัดว่าน้อยกว่า แปลว่า ยิงแล้วไม่ตายใช่หรือไม่ ตอบว่า ไม่ใช่ จะตาย หรือไม่ตายขึ้นกับตำแหน่งที่ถูกยิง แต่แปลว่า ยิงแล้วอาจต้องวิ่งหนี ถ้าคนที่เรายิงไม่ล้มลง หรือวิ่งหนีไปก่อน กรณียิงเข้าจุดสำคัญ ตายแน่ครับ ตรงนี้อาจเป็นจุดที่น่าสนใจ คนใช้ปืนทั่วไปอาจต้องการปืนที่สามารถหยุดยั้งได้ ตั้งแต่ยิงนัดแรก แต่ถ้าผู้ยิงไม่สามารถควบคุมปืนที่มีขนาดใหญ่แบบนั้นได้ จะเลือกขนาดที่เล็กลงมาหน่อย น่าจะอุ่นใจดีกว่า
บริษัท ซิก-เซาเออร์ ทำการก่อตั้งขึ้นมา ในปี ค.ศ. 1853 ด้วยคนสามคนใช้เวลาสร้างโรงงานในสมัยนั้น 7 ปี ในสมัยแรกๆ จะผลิตปืนที่บรรจุทางปากกระบอกหรือปืนคาบศิลา มีปริมาณที่ผลิตถึง 30,000 กระบอก เมื่อมาถึงยุคปัจจุบัน จากซิกรุ่น P49 พัฒนาเป็น รุ่น P210 ได้รับเข้าบรรจุใช้ในกองทัพของสวิส และพัฒนามาเป็น P220 เพื่อแข่งกับเบเร็ตต้า และพัฒนารุ่น P230 เพื่อบรรจุในกรมตำรวจ เพราะพกได้สะดวก ต่อมารุ่น P230 ได้เปลี่ยนมาเป็นรุ่น P232SL ในช่วงหลังไม่กี่ปีนี้เอง สังเกตได้ว่าปืนของซิกนี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรไปจากเดิมเลย ข้อสังเกตเบื้องต้นจากรุ่น P230 โครงปืนของรุ่นนี้เป็นอัลลอย สีดำ สไลด์เป็นเหล็กรมดำ เมื่อเป็นรุ่น P232SL โครงเปลี่ยนมาเป็นสเตนเลสส์สีขาว กับสไลด์สเตนเลสส์สีขาว และมีขนาดของฝาประกับที่หนาขึ้น
ในการทดสอบคราวนี้ได้นำปืนซิก P230 มาเปรียบเทียบกับ P232SL ทั้งรูปร่างและผลการยิงทดสอบ ปืนซิกทั้งสองรุ่นนี้ใช้กระสุน .380 บรรจุในแม็กกาซีนได้ 7 นัด ทำงานด้วยระบบโบล์วแบ็ก สามารถยิงแบบดับเบิลในนัดแรก และซิงเกิลในนัดต่อมาได้ความยาวลำกล้อง 3.5 นิ้ว มี 6 เกลียวเวียนขวา ความหนาของปืนซิกรุ่น P232SL จะหนา 3 เซนติเมตร เทียบกับ P230 หนา 2.8 เซนติเมตร ซึ่งหนากว่ากันเล็กน้อย ความสูงของทั้งกระบอกเกือบเท่ากัน ต่างกันที่ความสูงของศูนย์หลังเล็กน้อย คือ P232SL สูง 121 มิลลิเมตร ส่วน P230 สูง 120 มิลลิเมตร ศูนย์หน้าของ P232SL เป็นแท่งมีจุดแดงแต้มไว้ สูง 4 มิลลิเมตร P230 เป็นแท่งจุดแดงเหมือนกัน สูง 2 มิลลิเมตร ในศูนย์หลังของ P232SL สามารถปรับซ้ายขวาได้ด้วยการคลายสกรูหกเหลี่ยมที่ตัวศูนย์ แล้วเลื่อนเอา มีจุดแดงสองจุดแต้มไว้ ส่วน P230 ต้องตอกศูนย์เลื่อน มีจุดแดงเพียงจุดเดียวที่ตรงกลางร่องบากของตัวศูนย์ ส่วนน้ำหนักค่อนข้างแตกต่างกัน P230หนัก 450 กรัม P232SL หนัก 700 กรัม แรงเหนี่ยวไกแบบดับเบิลใกล้เคียงกัน คือ 11ปอนด์ไกซิงเกิลที่3ปอนด์
ทั้งสองรุ่นมีสลักล็อกเข็มแทงชนวนเหมือนกัน เหนี่ยวไกได้แม้ไม่ใส่แม็กกาซีน แม็กกาซีนสลับกันใช้ได้ ในการทดสอบยิงในระยะ 10 เมตร กับระยะ 15 เมตร ด้วยกระสุนของบุลเล็ทมาสเตอร์หัวทองแดง วัดค่าเฉลี่ยความเร็วของกระสุนทั้งสองกระบอกได้ 958 กับ 962 ฟุตต่อวินาที ใกล้เคียงกันมาก กลุ่มกระสุน ก็ไม่แตกต่างกัน วิธีการถอดประกอบเป็นแบบเดียวกัน เริ่มจากปลดแม็กกาซีนออก ผลักคันล็อกสไลด์ที่อยู่ด้านซ้ายของปืนลงตั้งฉาก ดึงสไลด์ถอยหลังสุดแล้วยกขึ้น สไลด์จะแยกตัวออกจากโครงปืน ปล่อยสไลด์เดินหน้าจนสุดพ้นลำกล้องปืนออกมา สปริงสไลด์จะติดอยู่ที่ลำกล้องหมุนสปริงออก ตัวสปริงจะมีข้างหนึ่งใหญ่ข้างหนึ่งเล็ก ข้างที่เล็กเป็นส่วนที่อยู่กับโคนลำกล้องปืน ถ้าใส่กลับด้านจะใส่สไลด์ไม่ลง การเปิดฝา ประกับด้ามปืนต้องระวังสปริงเส้นลวดสองด้าน ด้านซ้ายจะเป็นสปริงคันลดนกสับด้านขวาเป็น สปริงที่ดันสะพานไก โดยปกติจะไม่หลุดออกจากรูที่เกี่ยว ยกเว้นเราไปขยับไกเล่นหรือ ขยับคันลดนกในขณะที่เปิดฝาประกับไว
ตั้งใจว่าจะแยกชิ้นส่วนในปืนออกมาถ่ายรูปให้หมด แต่ต้องเปลี่ยนใจเพราะสลัก ที่ยึดชิ้นส่วนเกือบทั้งหมดเป็นสลักสปริงม้วน ยกเว้นสลักของนกสับ สลักไก กับสลักเซียร์ ที่เป็นสลักเหล็กตัน สลักม้วนที่ว่าเป็นสปริงม้วนสองชั้น ถ้าตอกออกมาเวลาใส่กลับจะไม่แน่นเหมือนเดิม ซึ่งโรงงานซิกบอกว่าจะต้องเปลี่ยนสปริงม้วนที่ถอดออกมาใหม่ทุกครั้ง เมื่อเป็นเช่นนี้เราขอผ่านตรงนี้ สำหรับ เจ้าของปืนไม่มีความจำเป็นก็ไม่แนะนำให้รื้อเด็ดขาด ยกเว้นปืนมีปัญหา มีประเด็นที่อยากคุยด้วยว่าจำเป็นหรือเปล่าที่ต้องแยกชิ้นออกมาให้ดูทั้งหมด ในกรณีที่เป็นปืนส่วนตัวหรือปืนที่เจ้าของอนุญาต ไม่มีปัญหาแน่นอน แต่ถ้าเป็นปืนร้านค้า ต้องบอกว่าลำบากทั้งสองฝ่าย เนื่องจากทางร้านไม่อยากให้ปืนมีรอยหรือตำหนิ เพราะต้องนำไปจำหน่ายต่อลูกค้า สำหรับผู้อ่านก็ไม่แนะนำว่าจำเป็นต้องมารื้อปืนออกมาทุกชิ้นตามที่แสดงให้ดูเช่นกัน นอกจากจะเสี่ยงต่อปืนที่อาจจะต้องนำไปซ่อมแล้วยังต้องเสียความรู้สึกเอาง่ายๆ
สรุปปืนซิก P232SL กับ P230 เป็นปืนตัวเดียวกัน ต่างกันที่วัสดุเท่านั้น ใครชอบสีขาวก็เลือก P232SL ถ้าเลือกสีดำคงเป็นปืนเก่าเพราะไม่มีในตลาดแล้ว ซิกเป็นปืนที่มีระบบการทำงานดี ใช้เป็นปืนพกพาแบบ ซุกซ่อนไว้ใจได้ ความแม่นยำสูง P232SL กระบอกที่ทดสอบเป็นปืนของห้างฯ ปืนรัตนา ตั้งราคาไว้ที่ 60,000บาท ส่วน P230 เป็นปืนมือสองจาก หจก. สิงห์ทองไฟร์อาร์ม มีผู้นำมาฝากขาย |
||||||||||||||||
นิตยสารอาวุธปืน
ฉบับที่ 325 พฤศจิกายน 2544 มีวางจำหน่ายตามแผงหนังสือทั่วประเทศ
|
Copyright
©2000 www.gunsandgames.com
Powered by eighteggs.com