NEW COLT GOLD CUP TROPHY
นิวโคลท์ โกลด์คัพ โทรฟี

เมื่อสองเดือนที่แล้วได้ทดสอบโคลท์ 1991A1 สเตนเลสส์ มาคราวนี้ได้มีโอกาสทดสอบโคลท์ โกลด์คัพ โทรฟี อันเป็นรุ่นพิเศษ เป็นโอกาสดีที่จะได้ดูให้เห็นว่าปืนโคลท์ .45 ยุคเดียวกันนี้ โคลท์ได้บรรจงแต่งอย่างไร จึงทำให้รุ่นใช้งานธรรมดากลายเป็นรุ่นพิเศษใช้ยิงเป้าแม่นยำขึ้นมา


รูปด้านซ้ายของปืน ลายเส้นต่างๆของตัวปืนคล้ายกับรุ่น 1991A1 ซึ่งเรียบง่าย

เริ่มต้นด้วยดูลักษณะทั่วไปของโคลท์ โกลด์คัพกระบอกนี้ ดูทีเดียวก็บอกได้ว่าเป็นพวก 1911 กำปั้นทุบดินจริงๆ โกลด์คัพกระบอกนี้ทำผิวโลหะมาเหมือนกับกระบอก 1991A1 ที่ผ่านการทดสอบไปแล้ว ถ้าย้อนกลับไป อ่านทดสอบ อวป. 321 (ก.ค.44) ก็จะทราบได้ว่าเป็นผลงานที่ประณีตสวยงาม ไม่ใช่ว่าโกลด์คัพจะใช้วัสดุที่ระดับต่ำเหมือนรุ่นธรรมดา ความจริงแล้วต้องบอกว่าโคลท์ได้ใจดีกับลูกค้า โดยใช้วัสดุและความประณีตในการแต่งผิวโลหะของปืนระดับโกลด์คัพให้แก่ 1991A1 ต่างหาก

ประกับด้ามก็เป็นวัสดุยางเดียวกัน แต่ว่าของโกลด์คัพจะเป็นชิ้นเดียวโอบหน้าด้ามไว้ เวลาจับถือจะให้ความรู้สึกว่าด้ามใหญ่ขึ้นนิดหน่อยแต่ลายเพชรที่มีเพิ่มขึ้นด้านหน้าทำให้จับปืนได้มั่นคงมากขึ้น
ตราม้าคาบศรที่ประกับด้ามของโกลด์คัพก็เป็นวัสดุแยกชิ้นต่างหาก สีเงินสว่างของ 1991A1 เป็นแค่ ลายพิมพ์ไว้ที่ประกับด้ามเท่านั้น


เริ่มต้นกระบวนการถอดปืนด้วยการตรวจ ให้แน่ใจว่าไม่มีกระสุนอยู่ในปืน แล้วกด หลอดครอบสปริงลงไปพร้อมกับบิดบุชชิ่ง หลบไป


ผ่อนหลอดครอบสปริงออกมาอยู่ระยะนี้

ตัวสไลด์นั้นเป็นอย่างที่เรียนไว้แล้วว่าวัสดุเหมือนกัน แต่รายละเอียดต่างกัน ดูยังกับว่าโคลท์หยิบโครงสไลด์ที่ขึ้นรูปแล้วมาแยกสายการผลิต โดยของโกลด์คัพจะ เซาะหางเหยี่ยวสำหรับติดศูนย์หน้า แบบนี้จะเปลี่ยนไปใช้ศูนย์หน้าแบบใดก็ทำได้ง่าย จะเลือกเอาความหนาให้ฟิตร่องศูนย์หลังเท่าไหร่ก็ได้ หรือเลือกความสูงเท่าไหร่ก็ได้ แต่ต้องไปซื้อมาใส่เอาเองนะครับ ศูนย์หน้าที่เปลี่ยนเองได้ง่ายนี้ผมเห็นว่าสำคัญและเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ "เล่น" โคลท์ .45 นี้อยู่มาก ยกตัวอย่างว่าถ้าจะต้องยิงแข่งขันแบบจับสองมือหรือจับมือเดียว ก็สามารถ เลือกศูนย์หน้าให้ได้ภาพศูนย์ที่ฟิตพอดีตามใจเรา ศูนย์หน้าที่ฟิตพอดีศูนย์หลังตอน จับมือเดียวจะหลวมเหลือช่องว่างมากขึ้นเมื่อจับสองมือ ถ้าเป็นแบบเดิมต้องสอดแกน ศูนย์หน้าเข้าในรูแล้วตอกให้มันบานกันหลุด ต้องใช้เครื่องมือพิเศษสอดเข้าไปตอกครับ

ศูนย์หลังของโคลท์ โกลด์คัพ แต่เดิมมีสองแบบคือ แอ๊คโคร และเอลเลียสัน มี ข้อถกเถียงกันอยู่มากว่ารุ่นไหนดีกว่ากัน คราวนี้ไม่ต้องเถียงกันเพราะกลายเป็นของโบมาร์ ชะรอยว่าโคลท์คงจะหาทางลดต้นทุนโดยไม่ทำศูนย์หลังเองแล้ว ซื้อเขามาใส่ดีกว่า แล้วที่นิยมแต่งเปลี่ยนศูนย์หลังปืน 1911 กันก็ใส่ของโบมาร์กันเสียเป็นส่วนมาก คุณสมบัติ ที่ดีของศูนย์เล็งก็คือต้องตัดคมเพื่อให้ได้ภาพศูนย์ที่คมชัดไม่มีอาการเบลอมัวซัว แล้วก็ไม่ ควรสะท้อนแสงมาเข้าตาได้เนื่องจากความเข้มของสีที่ตามองเห็นจะเปลี่ยนไป ด้วยเหตุนี้ ทั้งศูนย์หน้าและหลังของปืนยิงเป้าแม่นยำจะตัดฉากเป็นแนวดิ่งหรือย้อนหลังนิดๆ เพื่อไม่ให้แสงตกกระทบ แต่ศูนย์เล็งพวกนี้นอกจากจะใหญ่กว่าแล้วยังมีมุมคมให้เกี่ยวเสื้อผ้าได้ง่าย เลือกเอาครับว่าจะให้เกะกะแต่บรรจงเล็งได้ดี หรือเรียบง่ายแต่ปั้นเอ๊กซ์สู้เขาไม่ได้


ถอยสไลด์มาให้ร่องด้านข้างขวาตรงกับติ่ง บนคันค้างสไลด์

ดันคันค้างลำเลื่อนมาจากด้านขวา บางทีก็ต้องเคาะเบาๆ พอขยับแล้วก็ดึงออกมาทางซ้ายได้ไม่ยาก

ยังอยู่ที่สไลด์นะครับ การเซาะร่องกันลื่นสำหรับขึ้นลำโกลด์คัพจะเจาะเฉียง เล่นแนวกับมุมด้าม การใช้งานระหว่างเซาะตรงหรือเซาะเฉียงคงจับได้มั่นไม่ต่างกัน ต้นทุนการผลิตก็คงไม่ต่างกันด้วยเพราะ เพียงจับชิ้นงานเฉียงไปก็ไม่ได้ยากเย็นกว่ากัน แล้วก็มาถึงส่วนที่คิดว่าโคลท์ถอยหลังไป ขั้นหนึ่งคือหลังสไลด์ครับ ดั้งเดิมนั้นหลังสไลด์จะโค้งมนเรียบง่าย พอมีรุ่นพิเศษก็จะทำหลังสะพานเป็นร่องเล็กๆไว้ อ้างว่าช่วยลด แสงสะท้อนที่อาจจะมีบ้างและยังช่วยให้เล็งยิงอย่างเร็วได้ดีขึ้น ทำนองเดียวกับสะพานปืนลูกซอง มารุ่นนี้โกลด์คัพก็โกลด์คัพเถอะ ไม่มีสะพานแล้วครับ ความจริงก็ไม่ได้มีอะไรเสียหาย เล็งก็ไม่ได้ยากขึ้น เพียงแต่คิดถึงเครื่องประดับยศที่เคยดูแคตตาล็อกสมัยที่ยังอยากได้โกลด์คัพเท่านั้นครับ

สองปีก่อนโคลท์เริ่มโครงการที่จะทำปืนแบบ 1911 ให้ทันสมัยมีของเล่นทัดเทียมกับคู่แข่งอื่นๆ ส่วนหนึ่งที่จำได้ว่าโคลท์ทำในปืนทุกรุ่นคือการเซาะร่องให้จับที่ส่วนหน้าสไลด์ด้วย ดูเหมือนจะเรียกกันภายในว่า โมเดล "โอ" แต่ว่าตอนนี้ดูไม่เห็นจะพยายามสู้กับคู่แข่งด้วยการทำให้เหมือนกับคู่แข่ง กลับมาเป็นตัวของตัวเอง เน้นในส่วนที่โคลท์เห็นว่าดีกับปืนของตัวซึ่งผมว่าดีกว่านะครับ

ดึงชุดสไลด์ออกไปข้างหน้า

หงอนนกสับของ 1991A1 ที่เป็นกิ่งยื่นมาแบบดั้งเดิมก็เป็นแบบโค้งมนใน โกลด์คัพเจาะรูโหว่ตรงกลางไม่ให้มีน้ำหนักมากนัก เบากว่าก็สับเร็วกว่าให้ลั่นกระสุน ก่อนที่ผู้ยิงจะเบนปืนไปจากเป้ามากกว่านั้น ทางด้านซ้ายของปืนมีคันเซฟและคันปลดล็อกสไลด์รูปร่างปกติ ผิวโลหะเดียวกับโครงปืนและสไลด์ ความสูงของสันที่ให้นิ้วเกี่ยวกดอยู่ในระดับนี้มาหลายสิบปีแล้ว ใคร ที่เคยเห็น 1911 รุ่นสงครามโลก ตัวเขียวๆ นั่นแหละครับ จะเห็นมีตุ่มโผล่มาจากทั้ง คันเซฟและคันปลดล็อกนิดเดียว ผมซื้อชิ้นส่วนทั้งสองที่มีขายาวมาใส่เอง เจ้าคันเซฟนี่ต้องระวังมาก ตะไบเกินไปนิดเดียวก็พาลจะเซฟไม่อยู่แล้ว นั่งตะไบอยู่ตั้งแต่บ่ายสอง ไปใส่ได้เอาหกโมงเย็น หมดเบียร์ไปหลาย กระป๋องแต่ก็สุขใจที่ได้แต่งปืนเอง ส่วนคันปลดสไลด์นั้นไม่ได้เปลี่ยนเพราะเห็นว่ามันจะรุงรังมากไป

เซฟหลังอ่อนก็ซื้อมาจะเปลี่ยนเหมือนกัน แต่พอลองจับปืนตัวเองดูแล้วก็ชอบ ที่ติดมากับปืนซึ่งก็เหมือนกันกับโกลด์คัพกระบอกทดสอบนี้ เดิมทีก็ไม่ได้เรียกหลังอ่อน นี้ว่าบีเวอร์เทลจนกระทั่งมีการทำชิ้นส่วนนี้ ให้ผายกว้างออกมีรูปร่างเหมือนหางตัวบีเวอร์ จนเดี๋ยวนี้หลังอ่อนที่นิยมใช้กันคือ โค้งงอนขึ้นให้จับปืนได้ในตำแหน่งสูงขึ้น จนดูไม่เหมือนหางบีเวอร์แล้วก็ยังเรียกกันติดปากอยู่ หลังอ่อนที่โค้งงอนขึ้นมากๆนั้น ต้องเจาะรูให้นกสับง้างลงมาได้นะครับ บางทีนกสับบางรุ่นก็ต้องใช้ร่องในหลังอ่อนที่มีช่อง พอ จะซื้อมาใส่ก็ต้องดูกันให้ดีนะครับ ของผมเองไม่ได้เปลี่ยนเพราะชอบบีเวอร์เทลเดิมๆ ไม่จำเป็นต้องจับสูงเนื่องจากไม่ได้ยิงเร็ว บีเวอร์เทลแบบนี้โคลท์เริ่มใช้ในรุ่นที่เรียกว่ารุ่น "เอนฮานซ์" ก็เกือบๆสิบปีมาแล้ว ครั้งนั้นเอนฮานซ์หรือเสริมพิเศษด้วยการเปลี่ยนบีเวอร์เทล, ปาดช่องคาย ปลอกและหลังโกร่งไก, ปาดปากบ่อแม็กกาซีน

จับแกนสปริงและสปริงรีคอยล์ออกมาทางด้านล่าง สังเกตตำแหน่งที่แป้นของแกนวางกดอยู่ด้วย

เมนสปริงเฮาส์ซิ่ง หรือเรือนสปริง นกสับกระบอกนี้ทำด้วยโลหะครับ ต้องถอดออกมาถึงจะรู้ได้ด้วยน้ำหนัก รุ่นถูกสตางค์ มักจะทำด้วยพลาสติก ปกติโกลด์คัพจะใช้แบบหลังตรงอยู่แล้ว มีแบบโค้งรวมทั้ง แกะลายตารางให้เลือกเปลี่ยน (ของเดิมๆ มากับปืนจะเซาะร่องตรงอย่างเดียว) แต่ก็จะทำให้ด้ามใหญ่ขึ้นนิดหน่อย

ตัวไกเป็นโลหะผสมอย่างเบา เจาะรูไว้สามรูด้วยเหตุผลว่าต้องการให้น้ำหนักเบาที่สุด ตามสูตรการแต่งปืนเมื่อทำน้ำหนักเหนี่ยวไกเบาแล้วถ้าน้ำหนักตัวไกมากอาจเกิดการกระโดดตามแรงเฉื่อย โกลด์คัพรุ่นก่อนน้ำหนักไกสูงมาก รุ่นใหม่นี้น้ำหนักเบามากครับ มีสกรูสำหรับปรับกันถลำด้วย

อีกอย่างหนึ่งที่สังเกตได้จากโคลท์ โกลด์คัพรุ่นนี้ก็คือการฟิตประกอบปืนที่สองส่วนสำคัญ ส่วนแรกคือ สไลด์กับโครงปืนที่ทำไว้ฟิตดี รุ่นเก่าจับโยกพอได้แต่รุ่นนี้แน่นดี อีกส่วนหนึ่งก็คือไกนี่แหละที่ต้องบรรจงแต่ง ให้ไหลลื่นไปมาได้ในรางของมันและก็ต้องไม่ให้โยกซ้าย-ขวา บน-ล่างได้ กระบอกนี้ทำไว้ฟิตดีมากครับ ดูอาการแล้วก็น่าจะเป็นการฟิตมาให้ก่อนซึ่งน่าจะเป็นทุกกระบอก ถ้าโคลท์คิดจะแข่งขันกับรายอื่นๆ ส่วนนี้ก็เป็น ทิศทางที่ถูกแล้วที่ทำมาให้กับลูกค้า ตำราแต่งปืน 1911 ให้แยกพิจารณาเป็นสองข้อ ข้อหนึ่งคือส่วนที่สัมผัสกับผู้ยิง ตาที่ใช้เล็งและนิ้วที่เหนี่ยวไก ข้อนี้โคลท์ทำไว้ให้ดีมากแล้ว ข้อที่สองคือการฟิตของชิ้นส่วนต่างๆ หรือความแม่นยำของตัวปืนเอง ซึ่งก็เห็นได้เหมือนกันว่าทำมาดี จะมีที่รู้สึกว่าขาดไปหน่อยนึงคือ แกนสปริงรีคอยล์หรือที่เรียกว่า ไกด์ร็อด โคลท์ โกลด์คัพ กระบอกนี้ใช้แกน สั้นเหมือนกับ 1991A1 บางตำราก็ว่าไม่เห็นเป็นไร บางตำราก็ว่าสปริงจะงออยู่ใน ช่องใต้ลำกล้องทำให้แรงสปริงไม่สม่ำเสมอ จงรีบเปลี่ยนให้ยาวตลอดเพื่อให้สปริงวิ่งยืดหดอยู่ในแนวตรงเสมอ


เมื่อสปริงออกไปแล้ว ก็หมุนบุชชิ่ง ทวนเข็มนาฬิกาจนสลักมาตรงกับช่องเปิดแล้ว ดึงออกมาได้


คราวนี้ก็ดึงลำกล้องออกมาด้านหน้า พับห่วงโตงเตงให้ชิดบนจะไม่ได้ไม่ติดขอบล่าง

สปริงรีคอยล์ให้มาสองตัว ตัวที่อยู่ในปืนและอีกตัวอยู่ในกล่อง แรงไม่เท่ากัน ถ้าเรายิงแต่เป้าแข่งขันที่ใช้กระสุนเบาก็น่าจะใส่สปริงตัวอ่อน ถ้าชอบใช้กระสุนแรงหรือ เอาไว้ใช้เป็นปืนเฝ้าบ้านบรรจุกระสุนแรงหน่อย ก็ให้ใช้สปริงตัวแข็ง ผมเองใช้โกลด์คัพยิงแต่กระสุนซ้อม กระสุน .45 เอซีพีนั้นแค่เบาๆ ก็มันสะใจแล้วครับ ผมใส่ยางกันสไลด์กระแทกกับโครงเพราะใส่สปริงอ่อนไว้ แต่ ถอดมาดูทีไรก็ไม่เห็นมีรอยกระแทก กระสุนคงไม่แรงพอกระแทก ยางรองก็เลย แค่ทำให้ปลดล็อกสไลด์ยากขึ้นเท่านั้น ขณะที่ถ้าใช้สปริงแข็งแล้วยิงกระสุนเบาก็อาจทำ ให้สไลด์ไม่ถอยมาสลัดปลอกได้ เหมือนๆ กับจับปืนไม่แน่นเวลายิงมือก็จะปล่อยโครงปืนถอยตามมา สไลด์ก็ไม่สลัดปลอก นี่ทำให้นึกถึงข่าวหนังสือพิมพ์หน้าหนึ่งเมื่อเดือนที่แล้วที่ภรรยายิงสามีแล้วจะยิงตัว ตามแต่ปรากฏว่าปืนขัดลำ อาจนะครับ อาจเป็นไปได้ว่าคุณภรรยาจะถือปืนหลวม เพราะไม่ค่อยได้ยิงปืน ทำให้กระสุนใหม่ไม่เข้ารังเพลิง ไม่ใช่ปืนหรือกระสุนที่ทำให้ขัดลำ อาการนี้พบเห็นบ่อยที่สนามยิงปืน ถ้าเห็นปืนสะบัดขึ้นไปมากแล้วไม่สลัดปลอก ก็ลองให้จับปืนให้แน่นขึ้นครับ ไม่ใช่ปืนหรอก คนยิงต่างหาก มีปืนแล้วขยันยิงหน่อยครับ

อีกประการหนึ่งที่เขาเตือนกันไว้ สำหรับปืน 1911 ซึ่งโคลท์ โกลด์คัพ กระบอกนี้ก็ไม่เว้น คือการบรรจุกระสุนให้ใส่จากแม็กกาซีนเท่านั้น ไม่ให้หยอดเข้ารังเพลิงแล้วปล่อยสไลด์ปิด ในทางปฏิบัตินั้นทำได้ ปืนก็ไม่ควรติดขัด แต่ถ้าทำบ่อยๆ เขาว่าขอรั้งปลอกมันอาจจะหักได้ ขอรั้งปลอกนั้นต้อง มีอาการสปริงตัวอยู่บ้างเพื่อจะทำงานได้ ของโคลท์ 1911 ทั้งหลายนั้นแรงสปริงอยู่ในเนื้อโลหะของตัวมันเอง ไม่ได้ใช้สปริงต่างหากเพื่อยันขอรั้ง ถ้าเราปล่อยให้มันวิ่ง ตามกระสุนเข้ารังเพลิงไปตะขอที่ปลายก็จะต้องง้างเพื่อจับจานท้าย ง้างบ่อยๆ โลหะมันก็ล้าได้ แต่ถ้าป้อนกระสุนจากแม็กกาซีน กระสุนจะถูกดันขึ้นมาให้ตะขอรั้งปลอกสอดเกี่ยวกับจานท้ายพอด


ถอดออกมาทำความสะอาดทั่วไป ได้ชิ้นส่วนเท่าที่เห็นครับ ระหว่างนี้ก็เข้าเซฟ ไว้หน่อยกันเผลอเหนี่ยวไกแล้วนกสับตกลงมากระทบโครง

ลำกล้องของโคลท์ โกลด์คัพรุ่นนี้ หน้าตาเหมือนกับของโคลท์ 1991A1 แยกกันไม่ออก ลาดป้อนกระสุนมีร่องเล็กเหมือนกัน แต่ถ้าจะใส่แทนกันก็ต้องดูให้ดีนะครับ ว่าการฟิตตัวแน่นหนาดีเหมือนกันหรือไม่ การออกแบบของโคลท์ (โดยคุณจอห์น บราวนิง) นั้นมีส่วนที่ต้องฟิตให้ดีหลายที่ ที่บูชปากลำกล้อง ที่ร่องล็อกลำกล้องกับสไลด์ ที่ท้ายรังเพลิงกับบริเวณช่องคายปลอก ถ้าหลวมมีที่ให้ลำกล้องขยับได้ลำกล้องก็จะชี้ ไปทิศต่างๆกันเมื่อบรรจุกระสุนพร้อมยิง อันเป็นความไม่แม่นของปืน ถ้าฟิตเกินไป จนขยับไม่ได้ก็แน่นอนว่าเรียกว่าปืนขัด หรือยิงไปสักพักพอเริ่มสกปรกก็จะขัด ปืนแบบ 1911 นี้ลำกล้องใครลำกล้องมัน และสไลด์ใครสไลด์มันนะครับ

อีกหนึ่งอย่างสำคัญที่โคลท์ โกลด์คัพรุ่นใหม่นี้ต่างจากโกลด์คัพรุ่นก่อนก็คือที่ตัว เซียร์รุ่นใหม่นี้ไม่มีสปริงตัวจิ๋วพร้อมแผ่นกดให้อยู่กับรูในเซียร์อีกแล้ว เซียร์เหมือนกับรุ่น 1991A1 แล้วว่างั้นเถอะ วัตถุประสงค์ของสปริงตัวจิ๋วนั้นระบุไว้ว่าจะช่วยให้แต่งไกให้ เซียร์ขบกับตะขอนกสับได้อย่างหมิ่นเหม่กว่า โดยไม่ต้องกลัวว่าจะหลุดลั่นเอง คือจะช่วย ให้แต่งไกได้เบากว่านั่นเอง โกลด์คัพของผมเองมีสปริงตัวนี้อยู่ แต่การใช้งานจะจริง เท็จประการใดยังไม่ปรากฏแจ้งต่อตัวผม เพราะไม่ได้ทำไกไว้เบามากนัก และที่สำคัญ เวลาถอดออกมาแล้วประกอบเข้าไปยากชะมัด ต้องกดเจ้าสปริงตัวจิ๋วนี้ลงไปในรูแล้ว ปิดด้วยแผ่นเหล็กที่ตัวจิ๋วพอกันแถมต้องร้อยไว้ในแกนเซียร์ด้วยกัน ใช้หลายมือช่วยก็ ไม่เกิดประโยชน์อันใดเพราะไม่มีที่จะให้มือช่วยสอดเข้าไป สปริงนี้ก็ดีดแรงดีเสียด้วย พลาดแล้วดูไม่ทันว่าพุ่งไปทางไหนก็ต้องใช้ไฟฉายหากันหน้ามืด ทุกวันนี้ก็เลยไม่ได้ใส่ สปริงตัวนี้ซึ่งก็เข้าสมัยกับโกลด์คัพรุ่นใหม่พอดีที่ไม่มีมาให

ผมลงยิงที่ระยะ 15 หลา ด้วยกระสุนกึ่งหัวตัดและหัวกลม

ผลการยิงที่ระยะ 15 หลา กลุ่มกินขวานิดหน่อย

ทดลองยิงหนนี้ได้โอกาสวัดความเร็วหัวกระสุนสามแบบคือ บุลเล็ทมาสเตอร์ 200 เกรน หัวตะกั่วตัด, บุลเล็ทมาสเตอร์ 230 เกรน หัวกลมหุ้มทองเหลือง และกระสุนกล่องขาวยี่ห้อวินเชสเตอร์ 230 เกรน หัวกลมหุ้มทองเหลือง ได้ความเร็วเฉลี่ย 760, 840 และ 724 ฟุต/วินาที ตามลำดับ กระสุนที่ใช้ยิงซ้อมมือก็บุลเล็ทมาสเตอร์ 200 เกรนนั่นแหละครับ ราคาย่อมเยาและแม่นยำดีมาก อีกอย่างหนึ่งคือปืนไม่ช้ำเพราะความแรงของกระสุน ส่วนบุลเล็ทมาสเตอร์ 230 เกรน หัวกลมหุ้ม หรือที่เรียกกันว่าหัวบอลนั้นก็แรงสะใจ ใช้เฝ้าบ้านก็น่าจะเกินพอ ซึ่งน้ำหนักหัวกระสุน 230 เกรนนี้เป็น มาตรฐานที่ออกแบบมาพร้อมกับปืน 1911 นี้ กระสุนทั้งสามแบบทำงานเรียบร้อยดีไม่มีติดขัด

เนื่องจากการทดสอบหนนี้คณะทดสอบโดนฝนไล่ทำให้ไม่มีเวลาจะพินิจพิจารณาการทำงานกันได้ละเอียด แต่ทุกท่านก็สังเกตได้ถึงความประณีตและการฟิตทำไกซึ่งให้ความรู้สึกดีในการเหนี่ยวลั่นไก ตัว ผมเองใช้ข้ออ้างว่าแขนเจ็บเพราะแบดมินตัน ยิงหนึ่งนัดก็ปวดแขนหนึ่งที คงต้องฟื้นฟู สุขภาพกันอีกพักใหญ่กว่าจะจับปืนได้เหมือนเดิม แต่สำหรับโคลท์ โกลด์คัพรุ่นนี้เมื่อได้ สัมผัสแล้วก็ไม่ผิดหวังครับ ความประณีตของการทำผิวโลหะและการประกอบทำได้ไม่มีที่ติ แล้วโคลท์ก็ทำปืนออกมาให้มีบุคลิกเป็นของตัวเอง ไม่วิ่งตามคู่แข่ง เรียบง่ายแต่แข็งแรง บึกบึนอยู่ในที ไม่เสียแรงที่เกิดมาเป็นโคลท์ .45 กระบอกนี้ขอดูตัวได้ที่ห้างฯ ปืนอำพล ตั้งราคาไว้เอาเรื่องเหมือนกัน แต่ก็โคลท์ ของแท้ครับ

นิตยสารอาวุธปืน ฉบับที่ 324 ตุลาคม 2544 มีวางจำหน่ายตามแผงหนังสือทั่วประเทศ

Copyright ©2000 www.gunsandgames.com Powered by eighteggs.com