สปริงฟิลด์
M1911A1 .45 ACP นักเล่นปืนในบ้านเราหลายๆท่านยังสับสนเกี่ยวกับชื่อปืนแบบ M1911 A1 และ M1991 A1 เพราะว่าชื่อพ้องกันมาก ต่างกันเฉพาะตัวเลขเพียงตัวเดียว ทั้งๆที่ในความเป็นจริงแล้วปืนทั้งสองแบบนี้มีความเป็นมาแตกต่างกันเป็นคนละเรื่องเลยทีเดียว คือปืนแบบ M1991 A1 จะเป็นปืนรุ่นใหม่ที่ผลิตจากโคลท์เพียงโรงงานเดียว แล้วก็เพิ่งจะทำออกมาในปี ค.ศ. 1991 หรือประมาณสิบปีมานี้เอง ส่วนปืน M1911 A1 เป็นปืนที่ผลิตตามความข้อกำหนดของกองทัพสหรัฐฯ เมื่อปี ค.ศ. 1923 หรือเกือบแปดสิบปีมาแล้ว และก็มีหลายโรงงานซึ่งรับหน้าที่เป็นผู้ผลิตปืนแบบนี้ รวมทั้งในปัจจุบันก็ยังมีผู้ผลิตอิสระต่างๆในหลายประเทศยังคงผลิตปืน M1911 A1 ขายเป็นสินค้าหลักของตัวเองอยู่
ความเป็นมาของปืน M1911 มีกำเนิดมาจากความต้องการของกองทัพสหรัฐฯเมื่อเก้าสิบกว่าปีก่อน ถ้าจะย้อนยุคขึ้นไปก่อนหน้านั้นอีกก็คือในตอนที่เคาบอยยังเฟื่องอยู่นั้น ทหารอเมริกันก็ใช้ปืนลูกโม่แบบซิงเกิลแอ๊คชั่นขนาด .45 แบบเดียวกับชาวบ้าน แต่เมื่อถึงยุคของปืนลูกโม่ดับเบิลแอ๊คชั่น ซึ่งบรรจุกระสุนได้เร็วกว่าทหารก็เปลี่ยนปืนเป็นแบบดับเบิลแอ๊คชั่นให้ทันยุคทันสมัยกับเขาด้วย ซึ่งก็เป็นปืนแบบสวิงโม่ออกมา บรรจุกระสุนแบบเดียวกับปืนที่หัวนอนของพวกเรานี่ละครับ เพียงแต่กลไกของปืนลูกโม่ดับเบิลยุคแรกๆ ยังไม่แข็งแรงเท่าไหร่ ก็เลยใช้กระสุนได้เพียง .38 เท่านั้น ทหารอเมริกันเอาปืนลูกโม่ .38 ไปใช้ปราบปรามการก่อความไม่สงบในฟิลิปปินส์ แล้วก็พบว่ากระสุน .38 มีอำนาจไม่เพียงพอ โดนพวกขบถโมโรใช้ดาบฟันสวนกลับมาเจ็บตายเสียนักต่อนัก จึงได้เปลี่ยนปืนเป็นแบบออโต .45 แล้วก็ไม่ได้สั่งซื้อจากโคลท์ แบบเฉพาะเจาะจงหรือล็อกสเป็กอะไร ทำนองนั้นหรอกนะครับ แต่ทำเป็นโครงการจัดหาปืนพกขนาด .45 กันอย่างเปิดเผยยุติธรรม มีหลายโรงงานส่งปืนเข้าร่วมคัดเลือกด้วย ซึ่งว่ากันว่าเป็นโครงการที่โปร่งใสกว่าโครงการจัดหาปืนพก 9 มม. แบบ M9 ในอีกเจ็ดสิบกว่าปีต่อมาเสียอีก
หลังจากโคลท์ชนะการประมูลในครั้งนั้นแล้ว กองทัพก็บรรจุปืนโคลท์ออโต .45 เข้าประจำการในปี ค.ศ.1911 จึงได้ชื่อว่า เป็นปืนพกแบบ M1911 ซึ่งจัดเป็นใบสั่งซื้อที่ใหญ่มากรายการหนึ่ง ซึ่งนอกจากขายให้ กองทัพสหรัฐฯแล้วยังได้ขายให้กับกองทัพรัสเซียอีก 35,000 กระบอก (หมายเลข C50000-C85000) และขายให้กองทัพอังกฤษอีก 11,000 กระบอก ปืนที่ขายให้รัสเซียเป็นขนาด .45 ACP เหมือนกับของกองทัพสหรัฐฯเอง แต่ที่ขายให้อังกฤษจะเป็น ขนาด .455 เวบเลย์ ออโตเมติก ตามมาตรฐานกองทัพอังกฤษ ซึ่งใช้หัวกระสุน 224 เกรน ความเร็ว 700 ฟุต/วินาที คำนวณได้ว่ามีอานุภาพต่ำกว่า .45 ACP ประมาณ 34% สำหรับปืนที่ขายให้กับ กองทัพรัสเซียมีหน้าตาเหมือนกับของกองทัพสหรัฐฯ แต่มีข้อความสลักไว้ที่สไลด์ว่า ANGLOZAKAZIVAT และในปัจจุบันนี้จัดว่าเป็นปืนสะสมที่มีราคาสูงมากแบบหนึ่ง คือถ้ามีสภาพสมบูรณ์จะมีราคา 2,500 เหรียญสหรัฐฯขึ้นไป กองทัพสหรัฐฯทดลองใช้ปืน M1911 อยู่ประมาณสิบปีก็มีคำสั่งให้โคลท์ปรับปรุงปืน M1911 ขึ้นมาเป็น M1911 A1 ซึ่งเป็น การเปลี่ยนแปลงภายนอกเพียงเล็กๆน้อยๆ อย่างเช่นเปลี่ยนศูนย์หน้าให้กว้างขึ้นจะได้เล็ง สะดวก, ไกสั้นลง, หงอนนกกับหลังอ่อน ยาวขึ้น ใช้หลอดเมนสปริงแบบโค้ง ซึ่งรายการแต่งหน้าทาปากของปืนทหารแบบ M1911 A1 ติดเชื้อมาอยู่กับปืนรุ่นกัฟเวอร์นเมนท์โมเดลที่ขายในทางพาณิชย์ด้วย
ในยุคของ M1911 ที่ยังไม่ได้เป็น A1 ปืนส่วนใหญ่จะผลิตโดยโคลท์กับสปริงฟิลด์ อาร์เมอรี ซึ่งเป็นโรงงานชื่อเดียวกับโรงงาน ทำปืนที่เราทดสอบอยู่นี่ละครับ แต่ในยุคแปดสิบปีที่แล้วสปริงฟิลด์ยังคงเป็นโรงงาน ช่างแสงของกองทัพสหรัฐฯอยู่ และเมื่อปรับปรุงเป็น M1911 A1 แล้วในระยะแรกๆ โคลท์ก็ยังคงผลิตด้วยตัวเองเป็นหลัก โดย ในช่วงปี ค.ศ.1920-1939 โคลท์ผลิตปืน M1911 A1 ออกมา 17,249 กระบอก แต่พอโลกเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สอง กองทัพสหรัฐฯมีความต้องการปืน M1911 A1 เพิ่มขึ้นอีกมากมายมหาศาล เฉพาะเท่าที่ผลิตในระหว่างปี ค.ศ. 1940-1945 ตกเข้าไปเกือบสองล้านกระบอก ออร์เดอร์ใหญ่ขนาดนี้โคลท์ทำเองไม่ไหวแน่นอน จึง ต้องแบ่งไปผลิตที่โรงงานอื่นๆด้วย แหล่งใหญ่ที่สุดก็คือเรมิงตัน ซึ่งปั๊มออกมาได้ 1,032,000 กระบอก เรียกว่ามากกว่าโคลท์ ต้นฉบับเองที่ผลิตได้ 520,316 กระบอก แล้วยังไปทำที่อิธาก้าอีก 369,000 กระบอก, กับยูเนี่ยน สวิทช์ แอนด์ ซิกแนล 55,000 กระบอก ส่วนโรงงานที่ทำ M1911 A1 น้อยที่สุดคือโรงงานจักรเย็บผ้าซิงเกอร์ที่ออกจะหน่อมแน้มกว่าเขาสักหน่อย คือปั๊มออกมาเพียง 500 กระบอก
ในส่วนของปืนโคลท์กัฟเวอร์นเมนท์ โมเดลหรือ M1911 A1 ที่ขายในทางพาณิชย์ในระยะแปดสิบปีที่ผ่านมา ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงตามระยะเวลาเป็นลำดับ อย่างเช่นใส่บูชแหนบสปริงสี่แฉกเป็นรุ่นมาร์คโฟร์ ซีรีส์ 70 หรือดัดแปลงให้มีระบบล็อกเข็มแทงชนวนในซีรีส์ 80 แต่สำหรับ ปืน M1911 A1 ในทางทหารจะไม่มีการ เปลี่ยนแปลงใดๆ ตั้งแต่เข้าประจำการในปี ค.ศ.1923 มาจนถึงเปลี่ยนเป็นปืนพกแบบ M9 หรือเบเร็ตต้า โมเดล 92 เมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมานี้
หลังจากที่สิทธิบัตรคุ้มครองการผลิต ปืนแบบ M1911 ที่โคลท์ได้รับมาจากจอห์น บราวนิงสิ้นสุดลงไป โรงงานผู้ผลิตอื่นๆก็พากันผลิตปืน M1911 M1 ออกมาขายกันอย่างสนุกสนาน ส่วนใหญ่ก็จะผลิตแบบมีเอกลักษณ์ เฉพาะเป็นของตัวเอง อย่างเช่นเดโทนิกส์ เอาไปตัดไปหั่นเป็น M1911 A1 แบบซูเปอร์ คอมแพ็ก ทำนองว่าของข้าฯ ต้องเล็กที่สุดในโลก, คูแนนเอาไปดัดแปลงเป็นปืน .357 แม็กนั่ม เลสเบเออร์ทำเฉพาะของแพงๆ ของถูกทำไม่เป็น ตรงกันข้ามกับนอริงโก้ ของจีนก็ทำเฉพาะ M1911 A1 ของถูกอย่างเดียว ของแพงทำไม่เป็น หรือพารา-ออร์ดแนนซ์ก็เอาดีทางปืนลูกดก อะไรทำนองนี้ แต่สำหรับสปริงฟิลด์ เจ้านี้น่าสนใจครับ เพราะเริ่มเข้าสู่ธุรกิจปืนด้วยการเหมาอะไหล่ของกองทัพมาประกอบเป็นปืน M1911 A1 ขายในราคาถูก แต่คุณภาพคับแก้วเพราะมีมาตรฐานของทหาร(อเมริกัน) ช่วยค้ำประกันให้หลังจากที่สปริงฟิลด์ลงหลักปักฐานตั้งตัวได้ ก็เริ่มบุกตลาด M1911 A1 เป็นการใหญ่
สปริงฟิลด์มี M1911 A1 ให้ลูกค้าเลือกซื้อตั้งแต่ปืนแบบลูกดกรายการตกแต่งเพียบ ทั้งแบบสำหรับแข่งรณยุทธ์, ปืนซิ่งหน้าตาเดิมๆ สำหรับแข่งระบบ NRA, ปืนคัสตอมสำหรับผู้มีรสนิยมสูงซึ่งมีตั้งแต่หุ่นมาตรฐาน คอมแพ็กธรรมดา คอมแพ็ก น้ำหนักเบา คอมแพ็กเจาะพอร์ท ติดคอมพ์สารพัด หรือว่าปืน 1911 มัลติคาลิเบอร์ ในรุ่นโอเมก้าที่เปลี่ยนลำกล้องได้ตั้งแต่ 9 มม., .38 ซูเปอร์, .40, 10 มม. จนถึง .45 ออโต รวมทั้งปืนประหลาดแบบซิงเกิลช็อตที่สปริงฟิลด์เรียกว่า S.A.S.S. Pistol หน้าตาคล้ายๆกับเป็นลูกผสมระหว่าง 1911 กับธอมป์สัน TC คืออาศัยโครงปืนของ M1911 เป็นด้ามปืนกับเครื่องลั่นไก แล้วเอาลำกล้องแบบหักลำมาครอบบน มีกระสุนให้เลือกตั้งแต่ .357, .44 และ 7 มม.BR, .223 จนถึงกระสุนแรงสูงอย่าง .243 วินฯ, 7มม.-08, .308 และ .358 วินฯ
แต่ในส่วนปืน M1911 A1 แบบมาตรฐาน สปริงฟิลด์ก็ยังไม่ยอมทิ้ง โดยยังทำออกมาทั้ง M1911 A1 ทั้งแบบลูกดก, แบบสเตนเลสส์ รวมทั้งแบบมาตรฐานดั้งเดิม แบบที่เรานำมาทดสอบซึ่งเป็นสปริงฟิลด์ M1911 A1 ขนาด .45 ACP แบบรมดำด้านคล้ายกับปืน M1 ที่ใช้ในกองทัพสหรัฐฯ แต่ก็ไม่ค่อยจะเหมือนเท่าไหร่นัก เพราะสปริงฟิลด์ก็ยังอดแต่งหน้าทาปากเอาใจลูกค้าไม่ได้ คงมีรายการผายบ่อแม็กฯ, ติดศูนย์ แบบมีจุดขาว, ใช้ตัวเตะปลอกกระสุนแบบยาวกับเปิดช่องคายปลอกให้กว้างกว่าปกติ ปลอกกระสุนจะได้ไม่กระเด็นใส่หน้าคนยิง
สำหรับสปริงฟิลด์ M1911 A1 กระบอกที่เรานำมาทดสอบในฉบับนี้เป็น แบบรมดำด้านซึ่งนอกจากจะไม่สะท้อนแสง แล้วยังช่วยให้กันสนิมได้ยาวนานกว่าแบบรมดำมัน เพราะเก็บน้ำมันเคลือบกันสนิมไว้ได้มากกว่า เรื่องนี้คงต้องบอกว่าลางเนื้อชอบลางยา บางท่านต้องการปืนใช้งานผิวด้านๆ นัยว่ามองดูดุเดือดดี หลายท่านก็ชอบแบบรมดำมัน แต่บางท่านก็ยังไม่พอใจ มีการนำไปแกะลายฝรั่งผสมไทย เสียเงินค่าแกะไปมากกว่าราคาปืนเสียอีก ไม่รู้ว่าค่าแกะลาย จริงๆ กับค่าหัวคิวอันไหนมากกว่ากัน อวป. นำสปริงฟิลด์ไปยิงทดสอบที่สนามยิงปืนราชนาวีที่บางนาเหมือนเช่นเคย ในวันนั้นเราหากระสุนมาทำการยิงทดสอบได้เพียง 2 แบบ คือกระสุนยิงเป้าแบบหัวตะกั่ว 200 เกรนของบุลเล็ทมาสเตอร์ และกระสุนใช้งานจริงแบบหัวบอล 230 เกรน ของวินเชสเตอร์ ในปัจจุบันนี้ถึงแม้ว่ากองทัพสหรัฐฯจะเปลี่ยนปืนพกจาก .45 มาเป็น 9 มม. แล้วก็ตาม แต่โรงงานกระสุนต่างๆ ก็ยังคงพัฒนากระสุน .45 ออโตออกมาอย่างสม่ำเสมอ โดยในตลาดอาวุธปืนของอเมริกาสามารถจะหาซื้อกระสุน .45 ได้ตั้งแต่แบบหัวเบาที่สุดคือ 165 เกรน ไล่ขึ้นไปตามลำดับจนถึง 230 เกรนซึ่งก็มีทั้งแบบหัวบอล หัวรูธรรมดา และหัวรู +P ซึ่งมี อานุภาพใกล้เคียงกับกระสุน 10 มม. เลยทีเดียว น่าเสียดายที่ร้านปืนบ้านเราไม่ค่อยจะสั่งกระสุนแปลกๆมาให้พวกเราได้ทดลองใช้กัน ผมจึงได้รวบรวมรายการกระสุน .45 ที่มีขายอยู่ในตลาดปืน USA รวมทั้งรหัส กระสุนของโรงงานผู้ผลิต เผื่อจะมีร้านปืนใจถึงสั่งมาขายกันบ้าง
สำหรับผู้ส่งทดสอบคือ หจก.ม.ฮะกีมี อยู่ข้างธนาคารกรุงเทพ สาขาสามยอด สี่แยกอุณากรรณ ด้านถนนเจริญกรุง ทางห้างฯ ตั้งราคาไว้ 47,000.- บาท สนใจโปรด สอบถามได้ที่หมายเลข (02) 2227791, (02) 2228371 โทรสาร (02) 2265924 . |
||||||||||||||||||
นิตยสารอาวุธปืน
ฉบับที่ 323 กันยายน 2544 มีวางจำหน่ายตามแผงหนังสือทั่วประเทศ
|
Copyright
©2000 www.gunsandgames.com
Powered by eighteggs.com