โคลท์
1911A1 สเตนเลสส์ เรื่องราวของปืนแบบโคลท์ 1911 นั้น ผมนับจำนวนบทความในนิตยสารอาวุธปืน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 มาถึงปัจจุบันได้มากกว่า 50 เรื่องที่มีทั้งเรื่องราวทางเทคนิค ทั้งเรื่องแปลและการทดสอบยิง คนที่อ่านหนังสือ อวป. คงจะคุ้นเคยกับปืนแบบนี้ถึงขั้นรู้จักกันดี เพราะไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์เกี่ยวกับปืน ประเด็นทางเทคนิค/การออกแบบ ความหลากหลายที่มีการดัดแปลงปืนไปแล้ว ยังคงเป็นปืนแบบ 1911 และผลการยิงทดสอบที่สะใจทั้งผู้อ่านและผู้ยิงทดสอบแทบจะไม่รู้ว่าจะเอาอะไรมาเล่าสู่ท่านผู้อ่านอีกแล้วครับ แต่จำนวนและความถี่ของบทความนั้นหมายถึงว่าปืนแบบนี้ยังได้รับความนิยมจากนักเล่นปืนอย่างไม่เสื่อมคลาย ผู้คนยังนิยมเล่นกัน ผู้ผลิตปืนก็ยังทำออกมาขายอยู่ตลอดละครับ
ข่าวคราวความเป็นไปของปืนแบบ 1911 ยี่ห้อโคลท์นั้นออกจะน่าเป็นห่วง นับตั้งแต่สิทธิบัตรผูกขาดการผลิตปืนแบบ 1911 หมดไปก็มีบริษัทต่างๆ ผลิตออกมาขายโดยไม่ต้องเรียกว่าเลียนแบบอีกต่อไป แต่เป็นการผลิตของที่แบบเป็นสาธารณะ และบริษัทเล็กที่เป็นนักแต่งปืนก็ได้พยายามดัดแปลงเพิ่มคุณค่าเข้าในปืนที่ตนผลิตเพื่อให้มีข้อแตกต่างไปจากของบริษัทอื่นๆ โดยหวังว่าจะสร้างเอกลักษณ์ของตนเองให้เป็นที่รู้จักติดปากลูกค้าให้จงได้
ลองย้อนมาดูว่าอะไรทำให้เราเรียกปืนกระบอกหนึ่งว่าเป็นแบบ 1911 แน่นอนว่า อย่างแรกคือไกแบบซิงเกิลแอ๊คชั่นที่ลากเข้า มาตรงๆ (ไม่มีแกนจุดหมุนของไก) เข็มแทงชนวนจะถูกกระทบด้วยนกสับที่ดันด้วยสปริง นกสับจากกล่องสปริงที่ถอดได้ และต้องไม่ลืมเซฟหลังอ่อนด้วย ในส่วนของสไลด์ก็มีลำกล้องที่ลดท้ายด้วยห่วงโตงเตง ท้ายลำกล้องล็อก กับภายในของสไลด์ด้วยร่องบากหลายร่อง (ตรงนี้ทำให้แต่งปืนให้ฟิตยากชะมัด) มองดูปืนด้านซ้ายจะมีคันปลดล็อกสไลด์อยู่ข้างหน้า คันเซฟอยู่ข้างหลังพอดีหัวแม่มือขวาและปุ่มปลดแม็กกาซีนอยู่หลังโกร่งไก จากตรงนั้นมาก็เริ่มมีการแปรรูปแทบจะทุกส่วน บูชปากลำกล้องมีสารพัดแบบ รวมทั้งไม่มีบูชแต่ใช้ลำกล้องหัวโต โครงปืนหลายร้อยแบบในหลายขนาด สไลด์และลำกล้องยี่สิบถึงสามสิบยี่ห้อ และอุปกรณ์เติมเสริมแต่งทุกชิ้นเต็มแคตตาล็อกเล่มโต เริ่มแรกทีเดียวก็จะมีการแต่งปืนให้แม่นยำกว่าปกติ ต่อมาก็ทำให้สวยกว่าเดิมหรือกลับกันแล้วแต่รสนิยม รูปทรงดั้งเดิมของปืนแบบ 1911 นั้น ตั้งใจให้เป็นปืนทหารใช้ออกรบ การออกแบบต้องมีความบึกบึน แข็งแรง ทนทาน ซึ่งมีผลกับรูปแบบและขนาดของปืน แต่ด้วยความที่ออกแบบมาเมื่อหนึ่งร้อยปีที่แล้ว คนสมัยนั้นจะทำอะไรก็ต้องมีเส้นสายที่อ่อนช้อยปนอยู่ ในสายตาความคิดของเขาเสมอ ดังนั้น แม้ 1911 จะเป็นปืนสงคราม แต่รูปแบบโดยรวม ก็ยังมีเส้นโค้งมนพองาม คือเส้นตรงตามสมัยนิยมและความจำเป็นในการผลิต/การทำงาน เส้นโค้งลดความแข็งของการมอง และเป็นส่วนที่ให้มือจับได้พอเหมาะพอเจาะ
สำหรับโคลท์ 1991 A1 สเตนเลสส์ กระบอกนี้ก็เป็นไปตามชื่อรุ่น คือรุ่น 1991 นี้ทำออกมาก็ราวๆปี ค.ศ. นั้นละครับ ตั้งใจให้เป็นปืนทหารแบบพื้นๆ ไม่สวิงสวาย แต่ความที่โคลท์เองดัดแปลงเสริมแต่งโมเดล ที่ขายให้ประชาชนไปมากแล้วน่าจะเอามาใส่ไว้ในปืนพื้นฐานของตัวเอง ซึ่งก็คงจะโดนความจำเป็นบังคับด้วยที่ต้องปรับปรุงปืนของโคลท์เองให้ดีขึ้น เพราะในปี 1985 ก็เสีย ตลาดปืนทหารให้ยี่ห้ออื่นไปแล้ว ถัดจากนั้น มาสักพักก็ผลิตรุ่น 1991 A1 นี้ด้วยเหล็กสเตนเลสส์ ซึ่งก็คือปืนกระบอกที่เราได้รับมาทดสอบครั้งนี้ครับ โคลท์ 1991 A1 สเตนเลสส์นี้รูปร่าง และส่วนประกอบเหมือนกับ 1991 A1 แบบรมดำทุกประการ เพียงแต่ต่างกันที่วัสดุที่เป็นเหล็กสเตนเลสส์ ผิวปืนเป็นสีเทาด้านทั้งกระบอก ประกับด้ามเป็นยางแข็งสีดำติดไว้สองข้างไม่หุ้มหน้าด้ามเหมือนรุ่นมาร์คโฟร์ ซีรีส์ 80 จะงอยหลังอ่อนแบบเล็กดั้งเดิมแต่เพียงพอสำหรับกันมือถูกสไลด์หรือนกสับกัด ในการใช้งานปกติ นกสับเป็นทรงหงอนนก ที่ให้ชื่อนกสับแก่ชิ้นส่วนนี้มาแต่ต้น ศูนย์เล็งหน้าติดตาย ศูนย์หลังเคาะซ้าย-ขวาได้ ทั้งคู่ สีดำเฉยๆ ไม่มีการแต่งแต้มสีใดๆ ดูทั่วไปแล้ว เรียบ ดูข้างขวา...เรียบ ดูข้างซ้าย...มีแค่คันบังคับสามรายการที่กล่าวแล้วแต่ก็ยังเรียบ นี่เป็นลักษณะที่ฝรั่งเรียกปืนกระบอกนี้มาแต่ดั้งเดิมเมื่อแรกเข้าแทนที่ปืนลูกโม่ เขาเรียกกันว่า "ปืนแบน" คือ slab side ครับเพราะเมื่อเทียบกับปืนลูกโม่ที่มีโม่โผล่อ้วนออกมา เขาว่าเจ้า "สแลบไซด์" นี้พกพาง่ายกว่าเพราะความแบนของมันนี่เอง ความนิยมอย่างสูงที่ได้รับก็คงจะมาจากการพกง่าย แรงปะทะที่สูงมาก และจำนวนกระสุนก็มากกว่าลูกโม่บรรจุเพิ่มก็เร็ว รูปร่างของปืนที่มีส่วนของรุ่นซีรีส์ 80 เอนฮานซ์ มาปนด้วยก็มีส่วนหลังของโกร่งไก มีการปาดลงให้นิ้วเข้าถึงไกได้ดีขึ้น และปากบ่อแม็กกาซีนผายเล็กน้อยให้ใส่แม็กกาซีนง่ายขึ้น ที่แปลกสำหรับกระบอกนี้คือตัวไกที่เป็นแบบยาวและมีสกรูสำหรับปรับการยันของไกมาให้ด้วย (ไกยาวคือยาวออกไปข้างหน้าครับ ต้องยืดนิ้วชี้ไปหาเพื่อจะเหนี่ยวไก แต่ไม่ต้องห่วงว่าจะยืดนิ้วไม่ถึงนะครับ คือว่า ไกสั้นแต่เดิมนั้นน่ะสั้นเสียจนบางคนใช้ข้อนิ้วชี้ในสุดลั่นไก ฝรั่งเองก็ยังงงว่าทำไมทำเสียสั้นอย่างนั้นมาแต่เดิม) แต่การเอนฮานซ์อื่นๆ ไม่ได้ติดมาด้วย ก็มีช่องคายปลอกที่ไม่ได้ปาดเพิ่ม, ใต้โกร่งไกตรงชิดกับหน้าด้ามไม่ได้ปาดเว้าขึ้น, เซฟหลังอ่อนทรงงุ้มลงแบบเดิม และการเซาะร่องกันลื่นบนสไลด์ยังดิ่งลงตรงๆ ผมดูแล้วชอบมากครับ ชอบให้ปืนมันเรียบๆ แบบนี้แหละ เคยเห็นและก็เคยเล่นมาตั้งแต่เป็นเด็ก (ปืนพลาสติก) มีส่วนที่อยากเปลี่ยน ก็คือหลังด้ามที่เป็นห้องสปริงนกสับให้เป็นแบบโค้ง ซึ่งผมก็เปลี่ยนใส่เจ้าโกลด์คัพของผมเองไปแล้ว จะจับดีขึ้นหรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ แต่ว่าชอบให้มันดูมีส่วนโค้งตรงนี้เห็นว่าสวยดี
การถอดประกอบเพื่อทำความสะอาดเริ่มที่ทำให้แน่ใจว่าปืนไม่มีกระสุน ผมสอนที่บ้านว่านอกจากจะค้างสไลด์แล้วก็ให้ดูด้วยตาด้วย แถมใช้มือคลำด้วยยิ่งดี พวกผมไม่ดึงสไลด์สามทีครับ ใช้คลำเอา จะถอดปืนก็กดหลอดครอบสปริงลำเลื่อนเข้าเล็กน้อยจนพ้นบุชชิ่งแล้วบิดบุชชิ่งไปทางตามเข็มนาฬิกาค้างไว้ ตลอดเวลานี้ต้องจับหลอดครอบไว้ตลอดนะครับ ไม่งั้นมันจะถูกสปริงดันพุ่งขึ้นไปทำให้เพดานห้องเป็นรอยเหมือนของผม ค่อยๆผ่อนสปริงออกมา จากนั้นก็ถอยสไลด์ไปจนบากบนสไลด์ด้านหลังอันที่โค้งเล็กๆตรงกับส่วนโค้งบนคันล็อกสไลด์ ตรงนี้ต้องง้างนกสับไว้ก่อนครับ เคาะตุ่มแกนคันล็อกสไลด์มาจากทางด้านขวาเบาๆก็น่าจะออก แล้วก็เอามือหยิบออกได้แล้ว จากนั้นก็ดันชุดสไลด์/ลำกล้องออกทางด้านหน้าได้ ถึงตรงนี้ระวังอย่าเหนี่ยวไกให้นกสับลั่นมา เพราะมันจะมากระทบกับโครงปืนที่เป็นมุมคม ไม่หักก็โชคดีไป ได้ชุดสไลด์ออกมาแล้วก็แคะสปริงลำเลื่อน และแกนออกมา บิดบุชชิ่งทวนเข็มนาฬิกาจนสลักตรงกับช่องว่างก็ดึงออกมาข้างหน้า ตัวลำกล้องก็ชะลอออกมาข้างหน้าด้วยลำกล้อง จะเข้าจะออกจากสไลด์ก็ให้บิดโตงเตงขึ้นชิดลำกล้องไว้จะได้พ้นสไลด์ ล้างสะอาดจนหนำใจ แล้วก็ประกอบเข้าทางเดิม ระวังปลอกครอบสปริงลำเลื่อนพุ่งชนเพดานเหมือนเดิมครับ
นานๆ ผมจะยิง .45 สักที โอ้โฮ ! รูบนเป้ามันโตดีแฮะ โดยปกติผมจะยิงปืน .45 เอซีพีได้แม่นยำกว่าปืนขนาด 9 มม. อาจเป็นได้ว่าปืน .45 ส่วนใหญ่ที่ยิงมักจะเป็นแบบ 1911 นี้ซึ่งแต่งไกให้เบาและยังปลอดภัยได้ง่ายกว่าพวก 9 มม. (1911 ก็มีรุ่นที่ใช้กระสุน 9 มม. นะครับ) ซึ่งบางทีทำไกเบาแล้วสับไม่แตก ซึ่งไกปืน 1911 นั้น จะทำให้เบาได้ไม่ยากถ้ามีเครื่องมือที่เหมาะสม และความเข้าใจในกลไกพื้นฐานของชุดลั่นไก ที่สำคัญคือต้องใจเย็นมากๆครับ ไม่แนะนำให้ทำเองก็เรื่องใจเย็นนี่แหละ เล่นปืนไปสักพักก็จะทราบว่าไกเบาที่สุดไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด แต่เล่นใหม่ๆ ก็มักจะอยากให้เบาสุดๆ เพราะว่ายิงได้กลุ่มดีด้วยไกเบา แต่สำหรับ 1911 นั้นเบาเกินไปไม่ได้ครับ มันจะลั่นเองง่าย ผมทดสอบกลุ่มกระสุนที่สนามกรมการรักษาดินแดนด้วยกระสุนผลิตในประเทศ บุลเล็ทมาสเตอร์ พาดยิงที่ระยะ 25 เมตร จากนั้นจึงไปทดสอบยิงกันที่สนามราชนาวี บางนา ยืนยิงในระยะ 15 เมตรด้วยกระสุน ทั้งแรงทั้งค่อย กลุ่มกระสุนพาดยิงที่สนาม ร.ด. แสดงให้เห็นศักยภาพความแม่นยำของปืนกระบอกนี้อย่างดี ตอนได้รับมาทีแรกผมสังเกตว่าท้ายลำกล้องฟิตกับโครงสไลด์ค่อนข้างแน่น ซึ่งเป็นสิ่งดีสำหรับความแม่นยำ ตอนแรกก็กลัวว่าปืนจะขัดที่ตรงนี้ แต่ตอนพาดยิงไม่มีปัญหาอะไรเลย ได้กลุ่มแน่นๆ มาฝากให้ดูกัน มีที่แตกกลุ่มก็เป็นเพราะความตื่นเต้นของผู้ยิงที่มีพนันติดปลายนวม สำหรับผู้มาช่วยยิงร้อยรูไปสาม..แตกร้อยรูไปสี่..แตกไม่ได้ร้อยรูครบห้านัดสักทีเลยเลิก
กลุ่มกระสุนที่พาดยิง 25 เมตรได้ ผมเห็นว่าน่าประทับใจมากเพราะยิงได้จากแท่นพาดตามมีตามเกิด และศูนย์เล็งที่เป็นมาตรฐานปืนทหาร คือต้องไม่ใหญ่โตเกะกะการชักออกมาใช้งาน แต่ศูนย์มาตรฐานที่ติดมากับโคลท์ 1991 A1 สเตนเลสส์ กระบอกนี้เล็งแล้วให้ภาพศูนย์เหมือนกันกับของโคลท์ โกลด์คัพ ไม่มีผิดเพี้ยน ทำเอาผมตะหงิดๆ เพราะซื้อปืนมาตั้งแพงมาเจอปืนพื้นๆ ที่ทำอะไรได้เหมือนกันหมดแถมจะแม่นกว่าเอาเสียอีก เลยต้องทำใจว่าปืนจะแม่นอยู่ที่คนยิงนะครับ ไม่ได้อยู่ที่ของ
มาถึงการยืนยิงด้วยทีม อวป. ปรากฏว่า โคลท์ 1991 A1 สเตนเลสส์ เกิดไม่ชอบกระสุนเบาๆขึ้นมาเสียแล้ว เกิดอาการแจมแบบปล่องควันไฟอย่างที่ฝรั่งเรียกกัน (stove pipe jam) คือแรงดันกระสุนอ่อนก็จะดันสไลด์ไปไม่สุด ปลอกกระสุนที่ยิงแล้วไม่ทันออกไปพ้นช่องก็โดนสไลด์ดันกลับมาคาบไว้ดูเหมือนปล่องควันไฟ แต่พอใช้กระสุนหัวแดง หรือกระสุนแรงสูงแล้วจะไม่มีปัญหานี้หรืออื่นๆ ทั้งสิ้น เลยได้ข้อสรุปว่าปืน 1991 A1 นี้ทำมาเป็นปืนต่อสู้ที่ใช้กระสุนแรงสูงเพื่อหยุดยั้งคู่ต่อสู้ เมื่อยิงรันอินไปกล่องกว่าๆ ก็เข้าที่ คณะผู้ทดสอบต่างชอบใจในการลั่นไก การกระจายแรงรีคอยล์ซึ่งไม่ว่าจะใช้กระสุนแรงเพียงใดก็สามารถควบคุมปืนได้ดี
การป้อนกระสุนทำได้ดีไม่มีติดขัด ในส่วนของลาดป้อนกระสุนเข้ารังเพลิง ซึ่งก็มีอยู่สั้นนิดเดียวเพราะใช้ส่วนของโครงปืนรับกันอยู่ มีร่องอยู่ตรงกลางลึกลงไปนิดหน่อย อาจจะมีผลช่วยนำทางให้หัวกระสุนเข้ารังเพลิง ได้ลองนึกดูถึงหัวกระสุนที่ค่อนข้างเรียวแหลมก็จะกดเข้าร่องนี้นำมาก่อน เรื่องการปาด มุมลาดเพื่อให้กระสุนป้อนง่ายไม่ติดขัดนี้ก็ต้องระวังนะครับ ไม่แน่เสมอไปว่าหัวกระสุนจะชอบมุมที่ลาดมากขึ้น ซ้ำร้ายยิ่งปาดมากท้ายปลอกกระสุนก็ยิ่งโผล่มาก ทำให้มีโอกาสที่ปลอกกระสุนจะแตกเพราะไม่มีส่วนของรังเพลิงมารองรับเป็นไปได้มากขึ้น
ลูกสาวผมถูกใช้ให้ช่วยจัดไฟส่องตอนถ่ายรูปเห็นกระบอกนี้เรียบสวยงามดีก็ขอลองยิง พอให้ลองดึงสไลด์ปรากฏว่าดึงไม่ขยับ ปืนที่ใช้กระสุนขนาดใหญ่หรือแรงสูงก็จะมีแรงรีคอยล์หรือถีบมาก สำหรับปืนออโตนั้นสปริงรีคอยล์ก็ต้องแข็งตามไปด้วย ทำให้ผู้ที่แรงแขนหรือมือน้อยๆ มักจะดึงสไลด์ถอยหลังเพื่อขึ้นลำเลื่อนง้างนกได้ลำบาก ยิ่งปืนอยู่ในสถานะสไลด์ค้างเมื่อกระสุนหมดแม็กกาซีนด้วยละก็จะต้องใช้แรงมากเป็นพิเศษ เนื่องจากสปริงถูกอัดจนเกือบสุดทางแล้ว พกพาปืนไม่มีกระสุนในรังเพลิงเวลาผู้ร้ายมาพาลจะเอากระสุนเข้ารังเพลิงเพื่อยิงไม่ได้ จะบรรจุกระสุนไว้ในรังเพลิงตลอดเวลาก็หวาดเสียว เซฟก็เซฟเถอะครับ กลไกทั้งหลายนั้นย่อมมีวันสึกหรอหรือโดนอะไรเข้าก็ปลดเซฟได้
เวลาจะดึงลำเลื่อนเพื่อง้างนกและป้อนกระสุน ก็ใช้มือขวากำปืนมือซ้ายจับสไลด์ดึงมาข้างหลัง ตรงนี้มีวิธีทำได้อยู่สองวิธี วิธีแรกใช้มือซ้าย "คีบ" สไลด์ตรงที่เซาะร่องกันลื่นไว้ นิ้วหัวแม่มือซ้ายจับทางขวาของปืน นิ้วชี้ (และบางทีนิ้วกลางก็ช่วยจับถึง) จับทางซ้าย แบบนี้ถ้าอยู่ที่ช่องยิงในสนามยิงปืน เราสามารถยืนหันหน้าตรงไปที่เป้า ชี้ปืนไปที่เป้า ตะแคงปืนลงทางซ้ายเพื่อให้มือซ้ายจับส่วนหลังของสไลด์ได้ถนัด อีกวิธีหนึ่งคือใช้มือซ้าย "ครอบ" สไลด์ตรงที่เซาะกันลื่น นิ้วหัวแม่มือซ้ายจะจับทางซ้ายของปืน นิ้วทั้งหมดที่เหลือจะจับอยู่ทางขวา แบบนี้ใช้หลายๆนิ้วจะได้แรงมากขึ้น อยู่ในช่องยิงจะทำอย่างนี้ต้องตะแคงตัวหันไปทางขวา เพราะท่าตามธรรมชาติเมื่อยืนหันหน้าตรงไปที่เป้า ปืนจะหันไปทางซ้าย จำไว้เสมอว่าต้องระวังทางปืนให้ชี้ไปทางปลอดภัยหรือที่ต้องการเสมอ
วิธีที่สองนี้ สำหรับคนที่แรงน้อยหน่อยอย่างดาวิษา แต่แล้วเมื่อยังไม่ไหวก็ให้ง้างนกช่วยไว้ก่อน สปริงนกสับนี่ก็ไม่ใช่เบานะครับ... ง้างนกแล้ว ก็ยังไม่ไหวอีก ! อย่างนี้ต้องเปลี่ยนจากดึงสไลด์มาเป็นดันสไลด์แล้วละครับ ใช้มือขวาดันครับ มือซ้ายนั้นจับสไลด์ไว้เฉยๆให้แน่น ออกแรงดันมือขวาออกไป ซึ่งอาการนี้คนเราจะใช้หัวไหล่ดันโดยไม่รู้สึกตัว แบบนี้คือใช้แรงทั้งตัว ไม่ได้ใช้แค่แขน จะตีกอล์ฟ ตีเทนนิส หรือยิงธนู ก็แบบเดียวกันที่แหละครับ
ข้อสรุปของ โคลท์ 1991 A1 สเตนเลสส์นี้ชัดเจนว่าเป็นปืนต่อสู้ที่สมบุกสมบันที่สุด เดิมๆของเขาก็อึดอยู่แล้ว ยิ่งได้โครงสร้างเป็นสเตนเลสส์ก็ยิ่งไปไหนไปกัน แถมด้วยนิสัยชอบกระสุนที่แรงก็ยิ่งตอกย้ำการใช้งาน แต่ถึงแม้จะไม่เน้นการใช้เป็นอาวุธอย่างหนัก ก็สามารถใช้เป็นจุดเริ่มต้นของปืนซิ่งให้สวยงาม ตามแต่รสนิยมของแต่ละบุคคล ความจริงโคลท์นั้นเลิกผลิตปืนดีๆไปหลายรุ่น ห้างฯ ปืนราชา รวบรวมของดีๆที่กำลังจะหมดไปรุ่นนี้ มาบริการแก่คนที่ต้องการปืนเรียบง่ายบึกบึน ทางห้างฯเคาะราคาไว้ที่เก้าหมื่นต้นๆครับ โทร. (02) 2221254. |
|||||||||||||||||||||||||||||
นิตยสารอาวุธปืน
ฉบับที่ 322 สิงหาคม 2544 มีวางจำหน่ายตามแผงหนังสือทั่วประเทศ
|
Copyright
©2000 www.gunsandgames.com
Powered by eighteggs.com