เดสเซิร์ท
อีเกิล .44 แม็กนั่ม สมัยที่ปืนสั้นลูกโม่ .44 แม็กนั่ม เป็นปืนสั้นที่มีอานุภาพมากที่สุดในโลก และปืนสั้นออโตขนาด .45 เอซีพีเป็นปืนออโตแรงฤทธิ์ที่สุดในประเภทของมันนั้น กระสุนปืนสั้นที่สามารถใช้ได้ทั้งกับปืนลูกโม่และปืนออโตก็เห็นจะมีแต่กระสุนลูกกรด .22 เท่านั้นแหละครับ ถึงจะมีปืนโคลท์ 1911 และสมิธแอนด์เวสสัน โมเดล 52 ขนาด .38 สเปเชียล ซึ่งใช้ยิงกระสุนปืนลูกโม่ .38 สเปเชียลได้ ก็เพื่อใช้งานในการยิงเป้า แข่งขันมากกว่าที่จะใช้งานต่อสู้ป้องกันตัวตามปกติ ทำนองเดียวกันกับปืนสมิธแอนด์เวสสัน โมเดล 25 ซึ่งเป็นปืนลูกโม่ แต่ใช้กระสุน .45 เอซีพี ก็เนื่องมาจากผู้ใช้ปืนนิยมชมชอบปืนลูกโม่ และชอบกระสุนปืนออโตขนาดนี้ในเวลาเดียวกัน นอกเหนือจากวัตถุประสงค์เพื่อใช้ยิงเป้าตามปกติอีกเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ความคิดของคนที่อยากให้กระสุนปืนลูกโม่ยิงได้ทั้งในปืนสั้นลูกโม่และปืนสั้นออโต หรือกระสุนปืนออโตยิงในปืนลูกโม่ได้ด้วยนั้น เคยมีมานานแล้วดังตัวอย่าง ที่เห็นได้จากปืนลูกโม่ประเภทซิงเกิลแอ๊คชั่น โดยเฉพาะขนาด .45 โคลท์ ก็ทำโม่อะไหล่ ขนาด .45 เอซีพีให้มาด้วยนั่นแหละครับ การที่ทำปืนลูกโม่ให้ยิงกระสุนของปืนออโตได้ ไม่สู้จะยุ่งยากเท่ากับทำปืนออโตให้ยิงกระสุนปืนลูกโม่ได้ เพราะปืนออโตบรรจุกระสุนด้วยแม็กกาซีน และกระสุนปืนลูกโม่เป็นแบบจานท้ายมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางโตกว่าปลอกของมัน หรือที่ฝรั่งเรียกว่า ริม (Rim) ดังนั้น เมื่อทำแม็กกาซีนบรรจุกระสุนปืนแบบลูกโม่ จึงมักเกิดปัญหาเรื่องการป้อนกระสุน แต่เรื่องนี้ก็พอแก้ไขโดยวิธีลองผิด ลองถูกกันไปได้ ปัญหาที่สำคัญจริงๆกลับเป็นเรื่องการทำงานของลำเลื่อนครับ ถ้าเป็นกระสุนขนาดเล็กหรือขนาดเบา ก็ไม่สู้กระไรนัก แต่ถ้าเป็นกระสุนขนาดโตกว่าหรือหนักกว่าขนาด .38 สเปเชียล เริ่มมีปัญหาเรื่อง แรงรีคอยล์ เพราะมันไปเกี่ยวข้องกับขนาด และน้ำหนักของลำเลื่อนกับความแข็งของสปริงรีคอยล์ (บางท่านเรียกว่า สปริงรับแรงถอย ซึ่งสื่อความหมายได้ไม่เลวเลยครับ) ถ้าจะทำปืนออโตให้ยิงกระสุนลูกโม่ขนาดใหญ่ๆได้ คงต้องทำสปริงรีคอยล์แข็งชนิดขึ้นลำกันทีต้องแยกเขี้ยวคอขึ้นเอ็นกันเลย ไม่ต้องพูดถึงผู้ใช้ปืนร่างเล็กอย่างผู้เขียนหรอกครับ นี่คือเหตุผลหลักที่ทำปืนออโตให้ยิงกระสุนขนาดแรงๆไม่ได้ รวมถึงยิงกระสุนปืนลูกโม่ไม่ค่อยจะได้ผลครับ
แต่ปืนออโตที่ยิงกระสุนปืนลูกโม่ได้เป็นผลสำเร็จ เห็นจะเป็นปืนคูแนน .357 แม็กนั่ม ไม่มีปัญหาเรื่องแม็กกาซีน แต่ระบบขัดกลอนล็อกลำกล้องกับลำเลื่อนแบบปืน 1911 ดูไม่สู้จะเหมาะกับกระสุนแรงๆนัก เลยทำให้ความนิยมลดน้อยลงไปครับ หากย้อนกลับไปอ่านที่ผู้เขียนเกรุ่นไว้ในตอนต้น และเมื่อนึกย้อนไปเมื่อประมาณ เกือบ 30 ปีมาแล้ว จะเห็นได้ว่าปืนสั้นออโต ใช้กระสุนแรงสุดก็คือ .45 เอซีพี ซึ่งเมื่อเทียบกับขนาด .44 แม็กนั่มของลูกโม่แล้ว อานุภาพห่างชั้นกันมาก แม้แต่เทียบกับขนาด .357 แม็กนั่มก็ยังเป็นรองครับ ผู้ใช้ปืนที่มีรสนิยมทางปืนออโต ก็อยากให้มีกระสุนปืนสั้นออโตมีอานุภาพเช่นเดียวกับกระสุนปืนลูกโม่ ถ้าหากกระสุนทั้งสองประเภทมีขนาดหน้าตัดเท่ากันหรือใกล้เคียงกัน แต่วิศวกรหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม อาวุธปืนก็ไม่ได้ละเลยหรือเพิกเฉยในเรื่องนี้ เพราะต่อมามีการผลิตกระสุนปืนสั้นออโต ขนาด .45 วินเชสเตอร์ แม็กนั่มออกสู่ตลาด ซึ่งใช้ยิงกับปืนสั้นไวล์ดีย์เป็นครั้งแรก ติดตามด้วยกระสุน .357 ออโตแม็กนั่ม และ .44 ออโตแม็กนั่ม ซึ่งใช้ยิงกับปืนสั้นออโตแม็ก แต่กระสุนเหล่านี้ก็ใช้กับปืนประเภทออโตเท่านั้น ไม่สามารถใช้ยิงกับปืนประเภทลูกโม่ได้ โดยเฉพาะกระสุน .357 ออโตแม็กนั่ม กับ .44 ออโตแม็กนั่ม จะใช้ยิงกับปืนออโตแม็กเท่านั้น แล้วกระสุน .357 แม็กนั่มและ .44 แม็กนั่มธรรมดาก็ใช้ยิงในปืนออโตแม็กไม่ได้อีกเหมือนกันครับ ถึงแม้นักนิยมปืนจะมีปืนสั้นออโต อานุภาพสูงมากให้เลือกใช้แต่อำนาจกระสุน และขนาดรูปร่างของปืนที่ค่อนข้างหนักและใหญ่โต ทำให้เหมาะสมสำหรับเป็นปืนสั้น สำหรับล่าสัตว์ขนาดกลาง หรือเหมาะ สำหรับใช้งานเฉพาะอย่าง จึงทำให้กระสุนปืนออโตขนาดใหญ่มีอำนาจรุนแรงดังที่กล่าวมาแล้วไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร และปืนที่ใช้กระสุนขนาดเหล่านี้ก็พลอยเลือนหายไปจากตลาดปืนด้วยครับ
ถึงการพัฒนากระสุนอานุภาพสูง สำหรับปืนสั้นออโตจะเป็นอย่างไร แต่ผลจากการพัฒนาในเรื่องนี้ ทำให้มีการคิดค้น วิธีล็อกลำกล้องกับลำเลื่อน และการปลดล็อกระหว่างสองส่วนนี้ เพื่อรองรับอำนาจและแรงรีคอยล์ของกระสุนปืนแบบออโตขนาด หนักๆอย่างได้ผล จนปัจจุบันได้มีผู้นำหลัก การปฏิบัติการมาสร้างปืนสั้นออโตให้ยิงกระสุนปืนลูกโม่ขนาดหนักและมีแรงรีคอยล์ สูงๆได้เป็นผลสำเร็จ และปืนที่มีลักษณะเช่นว่า ซึ่งมีให้เห็นในตลาดปืนทุกวันนี้ก็คือ ปืนสั้นออโต เดสเซิร์ท อีเกิล นั่นเองแหละครับ เชื่อว่านักนิยมปืนในประเทศไทยของเรา ส่วนมากคงเคยได้ยินชื่อหรือแม้กระทั่งเคยเห็นตัวจริงมาด้วยซ้ำ ส่วนเสียงจริงคงมีคนไม่กี่คนที่เคยได้ยินมาบ้าง ความจริงปืนเดสเซิร์ท อีเกิล ที่เราทดสอบนำรายงานมาเสนอต่อท่านผู้อ่านใน ฉบับนี้ เป็นปืนสั้นออโต .44 แม็กนั่ม แบบเดียวกับที่ พ.ท.สุพินท์ ทดสอบเมื่อ 4 ปี มาแล้ว ในหนังสืออาวุธปืน ฉบับที่ 270 เดือนเมษายน 2540 แต่กระบอกที่ผู้เขียนทดสอบเป็นรุ่นใหม่กว่า ส่งมาจากห้างฯ ปืน ศ.ธนพล ดูจะได้แก้ไขบางจุดที่ไม่สู้เรียบร้อย เมื่อคราวก่อนไปแล้ว ดังนั้น ถึงปืนเดสเซิร์ท อีเกิล รุ่นหลังๆจะยังผลิตในสหรัฐอเมริกา แต่ฝีมือก็ดูเรียบร้อยดี ไม่ต่างจากปืนที่ผลิตในอิสราเอลเหมือนเมื่อก่อนๆครับ ลักษณะรูปร่างภายนอกปืนเดสเซิร์ท อีเกิล .44 แม็กนั่ม ยังคงมีลักษณะบึกบึน ล่ำบึ้ก และแข็งแรงทนทานยิ่งเหมือนรุ่นก่อนๆ ที่เคยเห็นมา และกระบอกที่ได้รับมาทดสอบครั้งนี้ก็เป็นแบบชุบฮาร์ดโครมเช่นเดียวกับ เมื่อครั้งผู้พันสุพินท์ทดสอบเลยครับ แต่คราวนี้ลำกล้องดูเหมือนจะชุบนิเกิลเพราะสีเหลือบๆ คล้ายชุบเยลโลว์เมท และยังคงผลิตในอเมริกา โดยบริษัทแม็กนั่ม รีเสิร์ช อินค์ แห่งเมืองมินนิอาโปลิส มลรัฐมินนิโซต้า โดยทั่วๆไปแล้ว รูปร่างหน้าตาภายนอกแทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลยครับ ผู้เขียนเลยไม่อยากพรรณนาซ้ำกับรายละเอียดที่เคยทดสอบมาก่อน คงจะชี้ให้เห็นในภาพประกอบเสียมากกว่า ที่ดูว่าเรียบร้อยขึ้นก็เห็นจะเป็นปุ่มล็อกคันถอดลำกล้อง ทางโรงงานแก้ไขให้ทำงาน เรียบร้อย ล็อกหรือปลดล็อกทำได้แน่นอน เชื่อใจได้ว่าจะไม่หลุดหลวมออกมา บางทีจุดนี้อาจเป็นบางกระบอกก็ได้ครับ เพราะกระบอกที่ได้รับมาทดสอบไม่ส่อว่าจะมีอาการแบบนั้น
ผู้เขียนอยากเน้นลักษณะบางอย่างที่พิเศษออกไปจากปกติธรรมดาคือปฏิบัติการของปืนเป็นแบบโบล์วแบ็ก ใช้ระบบแก๊สหรือจะเรียกว่า แก๊ส อ็อพเพอเรชั่น ก็ได้ครับ ที่บอกว่าเป็นแบบโบล์วแบ็กเพราะลำกล้อง อยู่กับที่ ไม่ถอยหลังหรือเดินหน้าขณะยิง ส่วนที่ว่าเป็นระบบแก๊สเพราะใช้แก๊สที่เกิดจากการเผาไหม้ดินปืนส่วนหนึ่ง ไปผลักลำเลื่อนให้ขยับถอยหลังในตอนแรกเพื่อเป็นการปลดกลอนหน้าลูกเลื่อนออกจากท้ายลำกล้องหรือท้ายรังเพลิง เนื่องจากส่วนลำเลื่อนที่ปิดท้ายรังเพลิงของปืนเดสเซิร์ทอีเกิลกับลูกเลื่อน เป็นคนละชิ้นแยกออกจากกัน แต่ยึดติดกันไว้ ด้วยสลักตัวเขื่องในแนวตั้ง ซึ่งทำหน้าที่เป็นสลักคุมให้ลูกเลื่อนหมุนตัวได้ด้วยลูกเลื่อนของปืนเดสเซิร์ทอีเกิล มีหน้าลูกเลื่อนคล้ายกับหน้าลูกเลื่อนของปืนไรเฟิลชนวนกลางมาก และเหมือนกับลูกเลื่อนของปืนเล็กยาวอัตโนมัติมากยิ่งกว่า เพราะหน้าลูกเลื่อนมีปีก อยู่ 3 แฉก ทำมุมกัน 120 องศา ขอรั้งปลอกกระสุนและตัวดีดปลอกทำเหมือนกับของปืนไรเฟิลชนวนกลางเลยครับ ท้ายรังเพลิงจึงต้องเซาะให้เป็นร่องรับหน้าลูกเลื่อน และให้ลูกเลื่อนขัดกลอนได้ แต่การที่หน้าลูกเลื่อน ขัดกลอนกับท้ายรังเพลิงด้วยปีกลูกเลื่อนของปืนไรเฟิลนั้น ลูกเลื่อนหมุนตัวได้โดยการปิดก้านลูกเลื่อนลง และเมื่อยกก้านลูกเลื่อนขึ้น เป็นการหมุนปลดกลอนหรือปลดล็อก แต่ในปืนเดสเซิร์ทอีเกิล ลูกเลื่อนหมุนตัวเหมือนกัน และหมุนไปในทางเดียวกันด้วย แต่อาศัยร่องปาดเว้าเป็นร่องเบี้ยวบริเวณด้านข้างขวาของลูกเลื่อนครับ ขอนำผู้อ่านไปดูกลไกทำงานของแก๊ส อันเกิดจากการเผาไหม้ของดินปืนกันบ้าง เริ่มต้นจากภายในลำกล้องก่อน เพราะการเผาไหม้ของดินปืนหรือดินขับเกิดขึ้นในรังเพลิง ซึ่งก็คือส่วนท้ายของลำกล้อง (ยกเว้นปืนลูกโม่ ซึ่งรังเพลิงแยกตัวออกจากลำกล้องเป็นคนละส่วน) จะมีรูระบายแก๊สเจาะไว้ที่ตำแหน่ง 7-8 นาฬิกา ก่อนจะถึงส้นเป็นที่รองรับ ปลายปลอกอยู่เล็กน้อย เมื่อกระสุนอยู่ในรังเพลิง ปลายปลอกกระสุนจะปิดทับไว้พอดี ซึ่งเป็นการป้องกันกากดินปืนหรือเศษหัว กระสุนไม่ให้เข้าไปอุดตันได้ แต่ปืนเดสเซิร์ท อีเกิลรุ่นแรกๆที่ผลิตในอิสราเอล เจาะรูแก๊ส เลยปากปลอกกระสุนไปบ้าง โอกาสรูแก๊สจะอุดตันก็มีมากขึ้นครับ รูแก๊สที่เจาะออกจากรังเพลิงจะมีทางนำไปใต้ลำกล้องตามความยาวจนถึงปลายลำกล้อง ไปออกที่ช่องกลมๆ ซึ่งทำหน้าที่เป็นเสื้อสูบ ซึ่งจะมีลูกสูบเป็นแท่งกลม มีรอยควั่นไว้แทนแหวนลูกสูบท้ายเรียวเล็ก ทำหน้าที่เหมือนก้านลูกสูบ ซึ่งจะขัดตัวเกี่ยว โยงกับแท่งจมูกอยู่ตรงด้านหน้าของชุดสปริง ลำเลื่อนที่เป็นแบบสปริงคู่อยู่ด้านซ้าย-ขวา ตรงปลายลำกล้องเจาะช่องระบายแก๊สที่เหลือไว้ทั้งสองข้างด้วยครับ
ปฏิบัติการของปืนเริ่มขึ้นด้วย บรรจุกระสุนลงในแม็กกาซีน ซึ่งทำได้ไม่ยากเย็นอะไรนัก แม็กกาซีนบรรจุเต็มที่ได้ 8 นัด ถ้าฝากไว้ในรังเพลิงก็ได้อีก 1 นัด ในเมื่อเสียบแม็กกาซีนเข้าไปในโครงด้ามแล้ว และยังไม่ได้ส่งกระสุนเข้ารังเพลิง โดยที่ลำเลื่อนปิดท้ายรังเพลิงอยู่หน้าลูกเลื่อนจะล็อกกับลำกล้อง โดยปีกลูกเลื่อนจะขัดกลอนกับส่วนท้ายลำกล้อง (รังเพลิง) ที่เซาะร่องรับกันไว้ จังหวะนี้ลูกเลื่อนอยู่ในสภาพหมุนตัวได้ เพราะตัวคุมลูกเลื่อนหรือบางท่านเรียกว่า ตัวประคองลูกเลื่อน (Stabilizer) ถูกส่วนท้าย ลำกล้องดันให้อยู่ในตำแหน่งถอยไปข้างหลัง ไม่สามารถขัดขวางการหมุนตัวของลูกเลื่อนได้ตามปกติ เมื่อจับลำเลื่อนดึงไปข้างหลัง ขณะลำเลื่อนขยับตัวลูกเลื่อนก็เริ่มหมุนตัว ทวนเข็มนาฬิกา (มองจากด้านซ้าย) เมื่อลำเลื่อนเคลื่อนตัวต่อไป ลูกเลื่อนก็หมุนตัว จนปีกลูกเลื่อนพ้นจากแง่ล็อกกับท้ายลำกล้อง ลำเลื่อนและลูกเลื่อนก็ปลดล็อกเป็นอิสระ ลำเลื่อนก็สามารถดึงถอยหลังไปจนสุดได้ตามปกติ ส่วนลูกเลื่อนก็ถูกตัวคุมซึ่งอัดสปริงไว้ ดันให้อยู่ในจังหวะเคลื่อนไปข้างหน้าสุด และถูกบังคับโดยตัวคุมไม่ให้ขยับหมุนตัวได้ เมื่อปล่อยให้ลำเลื่อนเดินหน้าด้วยแรงสปริงลำเลื่อน หน้าลูกเลื่อนก็จะผลักท้ายกระสุน ในแม็กกาซีนให้หลุดออก แล้วป้อนเข้ารังเพลิง ตอนนี้ลูกเลื่อนยังไม่หมุนตัว พอลำเลื่อนเคลื่อนตัวต่อไปถึงท้ายลำกล้อง ส่วนหน้าลูกเลื่อนจะเคลื่อนพ้นผนังท้ายลำกล้องเข้าไปก่อนตรงช่องบากรับกันไว้ แต่ลูกเลื่อนยังไม่หมุนตัวในขณะนี้นะครับ พอลำเลื่อน เคลื่อนไปได้อีก ผนังท้ายลำกล้องก็มาสัมผัสกับตัวคุมลูกเลื่อน และเริ่มผลักให้มันถอยหลัง ก็เป็นจังหวะที่ร่องเบี้ยวที่ลูกเลื่อนเริ่มเบียดตัวกับสลักลูกเลื่อน ทำให้ลูกเลื่อนทั้งอันหมุนตัวตามเข็มนาฬิกา ล็อกขัดกลอนกับท้ายลำกล้อง (หรือท้ายรังเพลิง) ปืนก็อยู่ในสภาพพร้อมยิง เพราะนกสับถูกง้างตอนที่ ลำเลื่อนถอยหลังป้อนกระสุนแล้วครับ เมื่อเหนี่ยวไกจนนกสับลงไป กระสุนลั่นขึ้นในระยะแรก แรงดันในรังเพลิงสูงมาก แต่หน้าลูกเลื่อนกับท้ายลำกล้องยังล็อกกันไว้ จึงยังมีความปลอดภัย เพราะลำเลื่อนยังไม่เคลื่อนถอยหลัง แต่หัวกระสุนเริ่มเคลื่อนตัวไปตามลำกล้องแล้ว ในจังหวะนี้แก๊สบางส่วนที่เกิดจากการเผาไหม้ดินปืนเริ่มพุ่งเข้าไปตามรูแก๊ส บ้างแล้ว แต่ยังมีปริมาณน้อย จึงมีแรงดันไม่พอที่จะให้ลูกสูบเคลื่อนที่ได้ เพราะมีแรงต้านที่เป็นทั้งแรงสปริงลำเลื่อนและน้ำหนักของชุดลำเลื่อนเอง ตลอดจนสปริงนกสับเสริมเข้าไปอีก พอหัวกระสุนซึ่งเคลื่อนที่หมุนตัวไปตามเกลียวลำกล้องจะพ้นปากลำกล้อง ปริมาณแก๊สที่พุ่งเข้าไปตาม รูช่องมีมากขึ้นตามลำดับ จนมีความดันแรงพอที่ผลักลูกสูบให้เคลื่อนที่ได้ ลูกสูบก็จะไปผลักแง่ของส่วนไกด์ร็อดและส่วนหน้าลำเลื่อน ทำให้ชุดลำเลื่อนเริ่มถอยหลังได้ก่อนระยะหนึ่ง เมื่อลำเลื่อนผละจากท้ายลำกล้องเล็กน้อย ตัวคุมลูกเลื่อนยังถูกกดไว้ เป็นจังหวะร่องเบี้ยว เริ่มถูกเบียดให้ทำงาน ลูกเลื่อนจึงหมุนตัวทวนเข็มนาฬิกาปลดล็อกออกจากท้ายลำกล้องได้ เมื่อลูกเลื่อนหลุดเป็นอิสระ กระสุนก็คงพ้นลำกล้องพอดี แรงดันจึงลดลงอยู่ในระดับปลอดภัย แต่ยังมีแรงที่เหลือและแรงเฉื่อยผลักให้ลำเลื่อนถอยไปจนสุด ส่วนแก๊สในช่องแก๊สที่มีปริมาณเกินพอก็ถูกระบายออกตรงช่องใต้ปลายลำกล้อง เมื่อลูกสูบเคลื่อนตัวพ้นเสื้อสูบแล้ว หรือเมื่อกระสุนพ้นลำกล้อง แก๊สบางส่วนอาจย้อนกลับออกทางรังเพลิงก็ได้ ซึ่งก็ไม่มีอันตรายหรือข้อเสียอะไรครับ
ย้อนกลับมาดูขณะลำเลื่อนถอยหลัง แต่ปลอกกระสุนเปล่ายังไม่พ้นท้ายลำกล้อง ตัวคุมก็ดันลูกเลื่อนไปข้างหน้าสุดแล้วล็อกไม่ให้ หมุนตัวได้อีก พอปากปลอกเปล่าพ้นท้ายลำกล้อง ตัวดีดปลอกกระสุนซึ่งอัดสปริงไว้ และดันจานท้ายตลอดเวลาก็ได้จังหวะหา โอกาสดีดปลอกเปล่าผึงออกไปทันทีทางด้านซ้ายของปลอก แต่ด้านขวาของจานท้ายกระสุนก็มีขอรั้งปลอกจับอยู่ตลอดเวลา นับตั้งแต่เข้ารังเพลิง ก็เป็นผลให้ดีดปลอกออกทางด้านขวาตามปกติ ก็เหมือนกับการดีดปลอกของปืนไรเฟิลลูกเลื่อนนั่นแหละครับ ทีนี้ก็เกิดมีคำถามขึ้นในใจว่า ถ้ารูแก๊ส เกิดอุดตันขึ้นมา ปืนจะยิงได้หรือไม่? ยิงได้ครับ แต่ลำเลื่อนไม่ถอยหลังดีดปลอกกระสุน ต้องใช้มือดึงลำเลื่อนเองทุกนัด ระบบอัตโนมัติ ก็กลายเป็นอัตโนมือไปครับ แต่ไม่ต้องกังวลอะไรมาก ถ้าเกิดขึ้นจริงๆ ก็มีเครื่องมือ แก้ไขตรงช่องเสื้อสูบ ซึ่งแถมให้มาพร้อมกับปืน และต้องยิงไปประมาณ 200 นัด จึงอาจจะเกิดขึ้นได้ หรืออาจจะต้องทำความสะอาดสักครั้งหนึ่งเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติดูแลรักษาปืน หนังสือคู่มือระบุไว้อย่างดีแล้ว แถมมีภาพประกอบครบครันทีเดียวครับ
การยิงทดสอบก็กระทำกันที่ระยะประมาณ 15 เมตร โดยไม่พาดยิงตามปกติ แม้ว่าปืนจะมีลำกล้องยาว 6 นิ้ว (วัดจริงๆ ได้ 6 1/8 นิ้ว) ถึงน้ำหนักปืนจะมาก แต่แรง รีคอยล์ก็มีพอรู้สึกทีเดียว ด้ามยางนุ่มอาจมีส่วนช่วยไว้ก็ได้ ตามความเห็นของผู้เขียน ปืนระบบแก๊สไม่จำเป็นต้องยิงได้นุ่มนวลเสมอไปหรอกครับ เพียงแต่ว่ามันไม่ค่อยเลือกลูก ยกเว้นลูกที่แรงอ่อนจริงๆ โดยรวมแล้ว ปืนเดสเซิร์ท อีเกิล ปฏิบัติการเรียบร้อยดี กลุ่มกระสุนดีมาก มีผู้เขียนอยู่เพียงผู้เดียวที่คอนน้ำหนักปืนไม่ค่อยไหว กลุ่มเลยเหมือน เรือโต้คลื่น เสน่ห์อย่างหนึ่งของมันก็คือ ความแข็งแรง บึกบึน ที่เชื่อใจได้ มันจึงเหมาะที่จะเป็นปืนคู่กายของลูกผู้ชายใจใหญ่ และลูกผู้หญิงใจถึง แต่โดยความเห็นส่วนตัวปืนเดสเซิร์ท อีเกิล ยังเหมาะสำหรับผู้ที่ปฏิบัติงานอยู่ตามชายแดนที่มีสภาพเป็น ขุนเขาลำเนาไพร ไม่จำเป็นต้องมีสภาพเป็นทะเลทรายก็ได้ครับ เขียนถึงตรงนี้ทำให้นึกถึง มีผู้เสนอความเห็นในเว็บไซต์ของ อวป. ว่า หนักไปทางวิชาการมากไป และสไตล์การเขียนก็ซ้ำๆกัน ถ้าอย่างนี้ผู้เขียนโดนเต็มๆในฉบับนี้ แน่นอนครับ เพราะอธิบายการทำงานของปืนตามหลักวิชาการเสียเกือบครึ่ง บางท่านคงอยากให้เขียนอย่างนี้หรือเปล่าก็ไม่ทราบ "เดสเซิร์ท อีเกิล กระบอกโตน่าเกรงขามไม่น้อย ยิ่งพกซองนอกด้วยแล้ว ไม่มีใครสบตาด้วย ถ้าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้ร้ายคนไหนเห็นก็ต้องถอดใจ ยิ่งถ้าซื้อไปยิงถล่มบ้านของตนเองตอนที่ไม่มีใครอยู่ในบ้าน แล้ว ไปแจ้งความว่ามีผู้ข่มขู่ปองร้าย รับรองตกเป็นข่าวใหญ่ได้ผลชะงัดแน่นอน" อย่างนี้ผู้เขียนยอมรับว่าฝีมือไม่ถึงครับ ฤาว่าตัวเราจะหมดน้ำยาแล้วก็ไม่รู้ซี !
แต่ถึงอย่างไร เดสเซิร์ท อีเกิล .44 แม็กนั่ม ปืนสั้นออโต (หรือใครจะเรียกว่า ปืนใหญ่มือถือก็ตามใจ) กระบอกนี้ยิงกระสุน ปืนลูกโม่แรงสูงได้ไม่ผิดเพี้ยน นอนรอท่านอยู่ที่ห้างฯ ปืน ศ.ธนพล บนอาคารดิโอลด์สยามพลาซ่า ด้านถนนบูรพา แถวในร้านแรก โทร. (02) 2236457 ฟังดูอาจจะงงแต่หาไม่ยาก ห้างฯเคาะราคาไว้ที่ 95,XXX บาทครับ. |
|||||||||||||||||||||||||
นิตยสารอาวุธปืน
ฉบับที่ 322 สิงหาคม 2544 มีวางจำหน่ายตามแผงหนังสือทั่วประเทศ
|
Copyright
©2000 www.gunsandgames.com
Powered by eighteggs.com