เบเร็ตต้า
92 เอฟเอส คัสตอมแครี ทู ชื่อเสียงของปืนพกเบเร็ตต้านั้น ดังขจรขจายมาตั้งแต่แย่งตำแหน่งปืนพกประจำกายของทหารกองทัพสหรัฐอเมริกา มาได้เมื่อปี ค.ศ. 1985 คุยได้ว่าคุณสมบัติในเรื่องความทนทาน ความคล่องตัว ไม่ติดขัด และความแม่นยำต้องสูงพอที่จะชนะการแข่งขันกับปืนพกหลากหลายยี่ห้อที่สู้กันสุดฤทธิ์ที่จะได้ขายปืนให้กองทัพอเมริกัน และยังจะได้ชื่อเสียงมาใช้ในตลาดปืนพลเรือน ด้วยเบเร็ตต้าไม่ต้องดัดแปลงแก้ไขแบบปืนเลยในการทำปืนรุ่นต่างๆออกขายในตลาด พลเรือน ไม่ว่าจะเน้นตลาดไหนก็ใช้โครงสร้าง และกลไกพื้นฐานที่เอาชนะคู่แข่งมาได้ตั้งแต่ ค.ศ. 1985 ครั้งนี้เมื่อตลาดเรียกร้องหาปืน พกพาขนาดเล็ก น้ำหนักเบา เบเร็ตต้าก็แทบจะเรียกได้ว่าใช้เวทมนตร์ดั้งเดิมปลุกเสกปืนรุ่นใหม่ที่ถูกใจตลาดแต่วางใจได้แน่นอน ในเรื่องกลไกการทำงาน ลักษณะทั่วไปของเบเร็ตต้า 92 เอฟเอส คัสตอมแครี ทู นี้ก็เป็นที่คุ้นตามาแต่ดั้งเดิม ส่วนบนของสไลด์จะเปิดโล่งเห็นลำกล้องยาวเกือบตลอดอันเป็นเอกลักษณ์ เฉพาะตัวของเบเร็ตต้า หรือจะเรียกว่าช่องคายปลอกยาวตลอดสไลด์ก็พอได้ รูปทรงของโกร่งไกดูแล้วไม่พลาดว่าเป็นเบเร็ตต้าแน่นอน ช่องโกร่งไกรูปไต (หรือรูปเมล็ดถั่ว สำหรับผู้ไม่สันทัดชีววิทยา) ด้านหน้าเป็นจะงอยเล็กน้อยแกะร่องกันลื่นไว้ให้นิ้วเกี่ยวกันปืนสะบัด รูปทรงด้ามต่างจากรุ่นพี่เล็กน้อย แต่ก็ยังโค้งมนรับกับมือได้ดี เนื่องจากต้องการให้มีขนาดกะทัดรัด ส่วนต่างๆที่ดูคล้ายกันก็จะหดเล็กหรือสั้นลง
ทั้งโครงปืนและสไลด์เป็นสีสเตนเลสส์เทา แต่คันบังคับทุกชิ้นเป็นสีดำ ตั้งแต่ไกปืน, นกสับ, คันเซฟ, คันค้างสไลด์ และคันถอด สไลด์ วางอยู่ในตำแหน่งเดิมทุกชิ้น ทำให้ผู้ที่รู้จักปืนเบเร็ตต้าอยู่แล้วสามารถใช้งานได้ทันที ซึ่งการที่ชิ้นส่วนเหล่านี้มีสีดำนั้นก็ดำทั้งตระกูลครับ ทุกรุ่นใช้ชิ้นส่วนเหมือนกัน แต่รุ่นคัสตอมแครี ทู นี้เป็นสีเทาสเตนเลสส์ก็เลยดูตัดกันแปลกตาไปอีกแบบ เทียบขนาดกันในตระกูลเบเร็ตต้า ปัจจุบันกระบอกนี้เล็กที่สุด ปกติปืนคอมแพ็กของยี่ห้อต่างๆ ก็จะพยายามอาศัยชิ้นส่วนสำคัญเหมือนกัน ได้แก่ กลไกล็อกลำกล้องกับสไลด์ และชุดลั่นไก เป็นต้น ส่วนที่จะลดลงก็เห็นจะเป็นความยาวสไลด์และลำกล้อง และอีกส่วนหนึ่งคือความยาวด้ามซึ่งจะส่งผล กับจำนวนกระสุนที่บรรจุในแม็กกาซีนด้วย สำหรับคัสตอมแครี ทู นี้มีสไลด์ส่วนครอบลำกล้องด้านหน้าสั้นกว่ารุ่นอื่น แถมปากลำกล้องหดอยู่พอดีกับส่วนสไลด์ ต่างจากรุ่นใหญ่ลำกล้องยาวออกหน้าสไลด์ที่เราชินตากับเบเร็ตต้า ติ่งบีเวอร์เทลด้านท้ายก็สั้นกว่ารุ่นอื่น โครงด้ามที่ชันกว่าก็ทำให้ความยาว โดยรวมของปืนสั้นลงด้วย ประกับด้ามพลาสติกสีดำบาง ทำให้ปืนรุ่นนี้บางที่สุดในแคตตาล็อกของเบเร็ตต้า รุ่นอื่นๆหนาเท่า กันหมด แผ่นปิดแม็กกาซีนเป็นจะงอยยื่น รับพอดีกับส่วนหน้าของด้าม ด้ามสั้นลงแต่ก็ ยังรับนิ้วทั้งสามได้ครบ
เบเร็ตต้า 92 คัสตอมแครี ทู นี้ใช้ระบบคันเซฟ เมื่อกระชากสไลด์เพื่อบรรจุกระสุนเข้ารังเพลิงแล้วกดคันเซฟลง นกสับจะสับเข้าชิดโครงปืนเสียงดังแชะ เล่นเอาคนไม่คุ้น กับเบเร็ตต้าอย่างผมสะดุ้งวาบไปเหมือนกัน คนที่คุ้นกับเบเร็ตต้าที่ยืนอยู่ข้างๆ ถึงกับหัวเราะ ความจริงถ้าผมเชื่อในความปลอดภัยของระบบปืนที่ผมใช้อยู่อย่างไร ระบบของเบเร็ตต้า ก็ชัวร์เหมือนกัน ตอนบิดคันเซฟลงนั้นช่องที่ส่งแรงไปยังเข็มแทงชนวนก็หมุนปิดไปเลย ถ้าจะเทียบระบบออกแบบการบล็อกเข็มแทงชนวนแล้วละก็ แบบนี้ชัวร์ที่สุดง่ายที่สุด แบบหนึ่งทีเดียว ตลอดเวลาที่นกสับชิดโครงปืนและคันเซฟอยู่ในจังหวะเซฟละก็ พูดได้ว่าปืนไม่มีรูเข็มแทงชนวนเอาเลย ยังกับลืมเจาะแน่ะ ครั้งหนึ่งนานมาแล้วปืนพกที่เรารู้จักกันดีก็คือพวกขนาดเต็มตัว เช่น ซิก 226, ซีแซด 75, กล็อก 17, เบเร็ตต้า 92 ฯลฯ พวกนี้ถูกเรียกว่าเป็นปืนพกขนาดมาตรฐาน ลำกล้องราว 5 นิ้ว แม็กกาซีนบรรจุกระสุน ได้ 15-17 นัดนี่ไม่ใช่ของแปลก ดูขนาดปืน และจำนวนกระสุนก็น่าจะเป็นปืนพกสำหรับ ทหารจะนำออกรบเสียมากกว่า เพราะถ้า ต้องใช้ปืนพกตอนออกรบก็น่าจะมีกระสุน ไปมากๆ เรื่องปืนพกของทหารที่พวกยุโรปกับอเมริกันมีความเห็นไม่เหมือนกันอยู่ตรงการปลดแม็กกาซีน พวกอเมริกันชอบให้ปลดแม็กกาซีนหลุดทิ้งไปเลยเพื่อจะใส่อันใหม่ได้ทันทีรวดเร็ว อาจจะมาจากการที่ใช้ปืนแบบ 1911 ที่มีกระสุนน้อยนัดจึงมีแนวโน้มที่ต้องเปลี่ยนแม็กกาซีน ส่วนพวกยุโรปนั้นมีความเห็นว่าถ้าต้องชักปืนพกออกมาใช้งานแล้วยิงไป 15 นัด 17 นัดยังไม่พอ ก็เห็นทีจะตก อยู่ในสถานะลำบากมากแล้วครับ พวกยุโรปจึงทำแม็กกาซีนให้ไม่หล่นออกมาเวลากดปุ่มปลด แต่พอมาทำปืนขายในอเมริกาซึ่ง เป็นตลาดใหญ่ก็เลยต้องเอาใจลูกค้า ทำให้แม็กกาซีนหล่นออกได้เลย
มาถึงสมัยนี้ชักจะรู้สึกกันแล้วว่า พกปืนไปไหนมาไหนถ้าต้องใช้ยิงแล้วละก็ไม่ต้องใช้กระสุนมากนัก พวกที่ชอบเก็บสถิติ ก็ได้ข้อมูลว่าความจริงที่ยิงๆกันไปก็ใช้กระสุนไม่กี่นัดก็เลิกแล้ว ถ้าไม่ตายหรือเจ็บก็วิ่งหนี กันไป ไม่ได้สาดกันป่นปี้แบบที่เห็นกันในหนังหรอก คนที่ชำนาญการใช้ปืนจริงๆก็จะระมัดระวังในการส่งกระสุนไปที่เป้าให้ได้ผลโดยเร็ว ส่วนคนที่ไม่ชำนาญก็จะส่งกระสุนมาขู่แล้วก็หลบหนีไป รวมความแล้วทั้งสองฝ่ายก็ไม่จำต้องใช้กระสุนกันมากนัก แรงสนับสนุนอีกประการหนึ่งที่ทำให้ลดจำนวนกระสุนในแม็กกาซีน ก็คือกฎหมายของอเมริกันที่จำกัดจำนวนกระสุนในปืนพก ที่ประชาชน (ของเขา) จะมีได้ เนื่องจากเป็นตลาดใหญ่ ผู้ผลิตอาวุธปืนก็ออกแบบปืนที่บรรจุกระสุนแค่ 10 นัดออกมาเสียเลย จากนั้นมาเราก็เริ่มรู้สึกว่าปืนลูกไม่ดกก็ไม่เห็นจะเสียหายอย่างไร จากที่เคยนิยมให้บรรจุลูกดกๆ ยิ่งมากยิ่งดี ทั้งที่ความจริงน้ำหนักกระสุนเต็มที่ 15-17 นัดนั้นไม่ใช่เบาๆเลย เบเร็ตต้า 92 คัสตอมแครี ทู นี้ก็เป็นปืนในกลุ่มที่ออกแบบมาเน้นการพกพาที่สะดวก ขนาดเล็ก น้ำหนักเบา แต่ก็เป็นการออกแบบที่อิงคุณสมบัติดั้งเดิมที่ดีของเบเร็ตต้าไว้ทั้งหมด
เบเร็ตต้าออกแบบปืนพกของตนให้มีวงจรการทำงานไม่ให้แนวลำกล้องเบนออกไปจากเส้นเล็ง รุ่นนี้เมื่อยิงลั่นกระสุนออกไป สไลด์และลำกล้องจะล็อกติดกันถอยมาระยะหนึ่ง เมื่อถึงจุดหนึ่งเดือยที่อยู่ในแท่งกระดกใต้ลำกล้องชนเข้ากับส่วนของสไลด์ยุบเข้าไป ปลดกล้องแท่งกระดกทำให้ลดตัวลงปลดล็อกลำกล้องจากสไลด์ ตัวสไลด์ก็ถอยหลังต่อไปจนสุดแรงดันสปริงเป็นจังหวะคายปลอก แนวลำกล้องก็จะยังชี้ตรงกับแนวสไลด์ ในปืนรุ่นใหม่ๆของเบเร็ตต้าใช้วิธีปลดล็อกลำกล้องกับสไลด์ด้วยการบิดหมุนตัว ซึ่งก็ยังรักษาแนวลำกล้องไว้ตรงกับสไลด์อยู่ดี เรื่องจะทำให้ปืนยิงได้แม่นยำกว่าแบบที่ลดท้ายลำกล้อง หรือไม่นั้นก็ไม่แน่ชัดเพราะตามทฤษฎี (หรือจริงๆ ก็เป็นอย่างนั้น) มีอยู่ว่ากระสุนปืนจะพ้นลำกล้องออกไปแล้วจึงจะถึงจังหวะปลดล็อก ดังนั้น ตลอดเวลาที่กระสุนวิ่งอยู่ในลำกล้อง แนวปืนก็น่าจะยังชี้ตรงไปที่เป้า ถ้าผู้ยิงทำส่วนของตัวเองถูกต้องคือไม่หลับตา เล็งปืนไม่ขยุ้มไก ไม่ถือปืนอ่อนไป เรื่องการถอดประกอบเบเร็ตต้ารุ่นนี้ เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงมากที่สุดจากรุ่นก่อนๆ ในสายตาของผม โดยทั่วไปการออกแบบวิธีถอดสไลด์นั้นต้องให้ทำได้ง่าย แต่ก็ไม่ใช่บังเอิญไปโดนคันปลดจนหลุดเองได้โดยไม่ตั้งใจ จึงได้ออกแบบกันให้ต้องมีการทำงานสองขั้นตอน ทั่วไปก็ต้องออกแรงดึงแล้วก็ บิดหรือกระทุ้ง หรือกด แล้วจึงถอดสไลด์ออกมาได้ ส่วนใหญ่ก็เป็นด้านหน้าเพราะด้านหลังก็ให้มีส่วนของโครงปืนต้านแรงสปริงรีคอยล์อย่างถาวรไว้ ซึ่งเบเร็ตต้าออกแบบได้ดีมาก ออกแรงดึงหรือดันสไลด์ถอยหลังเพียงเพื่อลดแรงสปริงรีคอยล์ที่กดคันปลดอยู่เพื่อให้หมุนได้สะดวก จากนั้นก็กดแกนคันปลดสไลด์จากทางด้านขวาของปืน ทำให้ร่องที่จับคันหมุนทางด้านซ้ายยื่นออกให้หมุนคันปลดได้ง่ายๆ ซึ่งสไลด์ก็แทบจะไหลออกมาเองแล้ว เรื่องก็มีอยู่ว่าการถอดสไลด์ของเบเร็ตต้าง่ายเสียจนสามารถ ทำได้ด้วยมือเดียวโดยเฉพาะจากทางด้านหน้าของปืนเมื่อเคลียร์ปืนไม่ให้มีกระสุนแล้ว ขณะที่ปืนชี้มายังตัวเราใช้มือขวากำสไลด์ ออกแรงดันไปทางด้านหลังปืนนิดเดียว ใช้หัวแม่มือกดปุ่มแกนคันปลดสไลด์เข้าไป ซึ่งก็ไม่ต้องออกแรงอะไร พร้อมกันนั้นก็ใช้นิ้วชี้กดคันล็อกทางด้านซ้ายของปืนลง เท่านี้ปืนก็หลุดติดมือออกมาแล้ว การถอดสไลด์นี้ทำจากด้านหลังปืนก็ได้คือชี้ปืนไปข้างหน้า จับสไลด์ดึงถอยหลังใช้นิ้วชี้กดปุ่มทางขวา ใช้หัวแม่มือกดบิดคันทางซ้าย แต่ตำแหน่งนิ้วจะไม่ลงตัวเท่าทำจากทางด้านหน้าของปืน
จุดนี้เองที่มีภาพยนตร์บางเรื่องมีฉากการยิงต่อสู้ชกต่อยกันในระยะประชิดตัว และคนที่ใช้ปืนเบเร็ตต้าถูกคู่ต่อสู้จับปืนได้ และดึงสไลด์ออกไปอย่างรวดเร็ว แบบนี้ไม่ใช่ ใช้ปืนยิงไม่ได้นะครับ ปืนกลายเป็นของศัตรูไปเลย จะใช้ส่วนที่เหลือขว้างก็ไม่ได้ พวกจะเอาไปประกอบมายิงเราได้เร็วพอๆกับที่มันปลดสไลด์ไป ซึ่งแม้ว่าเหตุการณ์นี้ไม่ควรจะเกิดขึ้นในชีวิตจริง เพราะถ้าประชิดตัวกันขนาดนี้ก็น่าจะหาทางแย่งปืนทั้งกระบอกมาจะง่ายกว่า จำไว้อย่างหนึ่งว่าถ้าจะใช้ปืนจี้ขู่คน ก็อย่าให้เข้ามาใกล้ตัวได้นะครับ เผลอนิดเดียวถูกชาร์จเข้ามาจะยิงไม่ทัน ในหนังนั้นถ้าพระเอกกับผู้ร้ายยืนห่างกันมากสงสัยจะไม่ได้ มุมกล้องที่ดี และเมื่อชี้ปืนไปที่ใครแล้วก็ต้องทำตัวทำใจให้พร้อมที่จะยิงชี้ปืนไปที่ใครเขา ก็มีสิทธิจะตอบโต้ด้วยความรุนแรงที่เท่ากัน เหมือนกับที่เราคิดว่าเขาเป็นอันตรายต่อเรามากพอจะต้องใช้ปืนยับยั้ง ด้วยเหตุที่ภาพยนตร์ทำให้เห็นไปว่า ปืนเบเร็ตต้าจะถูกคนร้ายแย่งเอาสไลด์ไปได้ง่ายๆ แม้จะเป็นเรื่องทำเก๋ไปอย่างนั้นเอง แต่ก็คงทำให้เบเร็ตต้าไม่สบายใจจนปืนรุ่นคัสตอมแครี ทู นี้มีการปาดลดความหนาของคันหมุนปลดสไลด์ทางด้านซ้ายของปืน ทำให้ไม่สามารถปลดปืนด้วยมือเดียวได้อีกต่อไป การลดเนื้อที่ให้น้อยลงก็ทำให้นิ้วกดได้ลำบากขึ้นไม่ว่าจะจากด้านหน้าหรือ ด้านหลังของปืน โดยปกติผมจะใช้มือซ้ายรองปืนแล้วใช้นิ้วชี้กดปุ่มมาจากด้านขวาแล้ว ใช้หัวแม่มือขวากดคันบิดปลดสไลด์ใช้สองมือ ครับ ขนาดนี้ยังต้องจิกหัวแม่มือเข้าไปกดบิด ไม่ยากอะไรแต่ไม่เหมือนเดิมที่มันอยู่พอดี ตำแหน่งนิ้ว วางนิ้วลงไปก็เจอเลย ตอนนี้มันเรียบเป็นแนวเดียวกับสไลด์ เบเร็ตต้า ปาดโลหะออกไปไม่ถึงหนึ่งมิลลิเมตรแต่ทำให้ผู้กำกับหนังบู๊หมดลูกเล่นไปหนึ่งอย่าง
เบเร็ตต้า คัสตอมแครี ทู กระบอกนี้ น้ำหนักไกซิงเกิลไม่แปลกจากปืนพกกึ่งอัตโนมัติทั่วไปเท่าไรนัก แต่น้ำหนักไกดับเบิลแอ๊คชั่นนี่สิครับ แรงเหนี่ยวไก 16 ปอนด์ ชั่งอยู่หลายเที่ยวจึงเชื่อว่าหนักขนาดนั้น สงสัยว่าเบเร็ตต้าจะต้องการให้ปลอดภัยมากๆ ขณะพกพาปืนแบบนี้บรรจุกระสุนแล้ว จะเข้าเซฟหรือปลดเซฟก็ไม่ลั่นง่ายๆหรอกครับ แต่สำหรับซิงเกิลแอ๊คชั่นแล้วนับว่าใช้การได้ดี จังหวะลั่นหลุดคมดีและไกไม่ถลำมาก เนื่องจากการลั่นไกแบบซิงเกิลนั้น ไกมารออยู่จนเกือบจะสุดโกร่งไกข้างหลังแล้วครับ สมุดคู่มือที่แถมมาให้เป็นของรุ่น 92 เอฟเอสเฉยๆ แต่ก็ใช้กันได้ในรุ่น 92 นี้ ทั้งหมดโดยทั่วไป ศูนย์เล็ง เป็นอีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจ สำหรับปืนกระบอกนี้ ศูนย์เล็งชุดนี้เป็นแบบมาตรฐานของเบเร็ตต้าที่เห็นกันมาชินตา ศูนย์หน้าเป็นแบบหงอนตั้งฉากด้านหลังสีดำ มีจุดสีแดงกลมแต้มอยู่ ศูนย์หลังเป็นร่องบากสี่เหลี่ยมสีดำมีแต้มสีแดงกลมอยู่สองข้าง เวลาเล็งก็ให้เรียงจุดสีแดงทั้งสามให้ได้ระดับ หรือเล็งวางศูนย์หน้าไว้กลางร่องบากของศูนย์หลัง ถ้าเป้ามีสีอ่อนกว่าศูนย์ก็จะตัดกัน เห็นภาพเป้าได้ดี ศูนย์หน้าของเบเร็ตต้านี้ จะค่อนข้างเล็ก เหลือที่ว่าง (ขาว) ทั้งสองข้างค่อนข้างมากเวลาเราเล็งปืนให้ศูนย์หน้าอยู่ กลางช่องว่างของศูนย์หลังแบบนี้สำหรับ ปืนยิงเป้าแม่นยำจะไม่ค่อยดีครับ ตาคนเราจะวัดระยะสองข้างเปรียบเทียบให้เท่ากันได้ ลำบาก ที่แปลกคือ เบเร็ตต้า คัสตอมแครี ทู กระบอกนี้สามารถเล็งยิงเป้าแม่นยำได้ค่อนข้างดี น่าจะเกิดจากการตัดมุมศูนย์ที่ประณีตทำให้แสงไม่หักเหฟุ้งกระจายมาก คือ ได้ภาพศูนย์ที่คมชัดนั่นว่ากันด้วยเรื่องการยิงช้า
ถ้าจะว่ากันด้วยเรื่องการเล็งยิงอย่างเร็ว ผมเคยเห็นการสอนของฝรั่งที่สอนให้ยิงเร็วด้วยการชี้ปืนไปที่เป้าให้เป็นธรรมชาติ จะเล็งบ้างก็โดยใช้ศูนย์หน้าทาบไปที่เป้า ซึ่งศูนย์หน้าที่แนะนำให้ใช้ก็มักจะเป็นสีขาวใหญ่ เพื่อให้เห็นได้ชัดเจน ส่วนเบเร็ตต้านี้ใช้ชุด ศูนย์เล็งสีดำหมด เอาละซิ จะยิงเร็วได้เหมือนพวกศูนย์หน้าขาวหรือไม่ ได้ลองนำปืนเบเร็ตต้า คัสตอมแครี ทู นี้ไปยิงอย่างเร็ว คือถือปืนไว้ข้างตัวแล้วยกขึ้นเล็งยิง โดยที่ต้องหาศูนย์หน้าให้เจอเพื่อทาบไปที่เป้า ปรากฏว่าสามารถหาศูนย์หน้าได้เร็วไม่แพ้ปืนที่ใช้ศูนย์หน้าขาวใหญ่ ลองมานั่งพิจารณาดูก็พบว่าการที่ศูนย์หน้าสีดำขนาดเล็กทำให้มีที่ว่าง (ขาว) อยู่กว้างพอให้สายตาเราจับภาพได้ง่าย เหมือนกับตีกรอบสีดำด้วยศูนย์หลังกว้างหน่อย เมื่อยกปืนขึ้นมาก็จะเห็นศูนย์หน้าสีดำลอยอยู่ในกรอบนี้ ขออภัยครับ ที่ไม่ได้เก็บภาพมาให้ดู แต่ทั้งนี้เมื่อได้ปืนมาแล้ว ก็ต้องทำการฝึกซ้อมให้คล่องมือ ไม่ว่าจะเป็นการใช้คันบังคับต่างๆ หรือการใช้ศูนย์เล็ง
ผลการยิงของคณะทดสอบได้ผลดี และแม่นยำกันถ้วนหน้า การทำงานของปืนเรียบร้อยไม่มีติดขัด ตัวผมเองยิงเบเร็ตต้า ทดสอบมาหลายกระบอกไม่ค่อยจะได้เรื่อง แต่กระบอกนี้ผิดฟอร์ม ผมยิงได้ดีกว่าที่ผ่านๆ มา จะว่าด้ามเปลี่ยนไปเล็กน้อย หรือไม่ต้อง กลัวใครมาดึงแย่งสไลด์ออกไปได้แล้วก็บอกได้ยากครับ ห้างฯ ปืนเทเวศร์เป็นผู้นำเข้ามา ให้ทดสอบแล้วก็จำหน่ายด้วย ราคาหกหมื่นครึ่งๆครับ. |
||||||||||||||||||||||
นิตยสารอาวุธปืน
ฉบับที่ 321 กรกฎาคม 2544 มีวางจำหน่ายตามแผงหนังสือทั่วประเทศ
|
Copyright
©2000 www.gunsandgames.com
Powered by eighteggs.com