สปริงฟิลด์
M1911-A1 9 มม. เกรดคัสตอม ต้องยอมรับว่าเอกลักษณ์ของปืน M1911 คือกระสุน .45 ACP และเมื่อพูดถึงกระสุน .45 ACP ก็ต้องนึกไปถึงปืน M1911 ที่เป็นอย่างนั้นก็เป็นเพราะว่าปืน 1911 ที่ ผลิตออกมามากที่สุดก็คือปืนที่ผลิตให้กับกองทัพสหรัฐฯ ซึ่งระบุให้ใช้กระสุนขนาดนี้นั่นเอง อันที่จริงแล้วโคลท์ออโตกระบอกโตๆ ในระดับพกซองนอกรุ่นดั้งเดิมอย่างเช่น ปืนโมเดล 1900 กับ 1902 จะใช้กระสุน ขนาด .38 ACP ซึ่งเป็นกระสุนที่ใช้ปลอกกระสุนและหัวกระสุนแบบเดียวกับกระสุนขนาด .38 ซูเปอร์ เพียงแต่ความเร็วต่ำกว่า เนื่องจากโครงปืนของโคลท์ โมเดล 1900 ยังไม่แข็งแรงนัก จนกระทั่งโคลท์ออกปืน 1911 ออกมาแล้วจึงได้โหลดกระสุน .38 ACP ให้ร้อนแรงขึ้นเป็น .38 ซูเปอร์ในปี ค.ศ. 1929 และในปัจจุบันนี้จะเป็นที่รู้กันว่า .38 ACP จะใช้ปลอกทองเหลือง ส่วน .38 ซูเปอร์จะใช้ปลอกชุบนิเกิล กับเพิ่มโค้ด +P เตือนไว้ว่าห้ามเอาไปใช้กับปืนรุ่นโบราณ
กระสุนขนาด 9 มม. พาราเบลลัม เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของปืน 1911 เอาในช่วงหลังสงครามเกาหลี เนื่องจากกองทัพสหรัฐฯเริ่มสนใจในกระสุนขนาดนี้ เรื่องของเรื่องคงจะเห็นว่าเป็นสิ่งที่มองข้ามไปไม่ได้เสียแล้ว เพราะเป็นกระสุนที่เยอรมันใช้เป็นกระสุนปืนพกกับปืนกลมือในสงครามโลกทั้งสองครั้ง คือในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ดูเหมือนว่า จะมีเยอรมันเพียงประเทศเดียวที่ใช้กระสุน 9 มม. พาราเบลลัม แต่พอถึงสงครามโลกครั้งที่สองประเทศต่างๆ ก็พากันรับเอากระสุนขนาดนี้ไปใช้กับปืนกลมือของตัวเอง กระสุน 9 มม. มีข้อดีหลายอย่าง เช่นมีขนาดเล็กสั้น จึงมีน้ำหนักเบา กระสุนทั้งนัดหนักเพียง 170-180 เกรน ซึ่งเบากว่าหัวกระสุน .45 ออโตแบบที่เบาที่สุดเสียอีก เคยอ่านหนังสือปืนหลายๆ เล่มตำหนิการตัดสินใจของกองทัพสหรัฐที่รับกระสุน 9 มม. มาใช้แทน .45 เมื่อปี ค.ศ. 1985 ในทำนองว่ากระสุน 9 มม. มีอำนาจหยุดยั้งน้อยเกินไป ซึ่งผมยังไม่ค่อยจะเห็นด้วยเท่าใดนัก เพราะกระสุน 9 มม. ที่ใช้ทางทหารนั้นมีอำนาจมากกว่ากระสุนพาณิชย์โดยทั่วไป อย่างเช่นกระสุนมาตรฐานของกองทัพอังกฤษ แบบมาร์คทู ใช้หัว 115 เกรน ความเร็ว 1,300 ฟุต/วินาที และมีพลังงาน 431 ฟุต-ปอนด์ หรือกระสุนมาตรฐานของกองทัพสหรัฐฯ แบบ M882 ซึ่งใช้หัว 124 เกรน ความเร็ว 1,251 ฟุต/วินาที ได้พลังงาน 431 ฟุต-ปอนด์ เอไม่รู้ทำไมตัวเลขดันไปเท่ากับกระสุนทหารของอังกฤษได้ เล่นเอาต้องกลับเปิดตำราดูใหม่อีกรอบหนึ่ง
แต่ยังไงๆ กระสุน 9 มม. ของทางทหารก็ยังมีพลังงานเหนือกว่ากระสุน .45 ถึง 20% บางท่านอาจจะติว่า 9 มม. คมเกินไป ทำให้ทิ้งพลังงานไว้กับเป้าหมายไม่มากนัก เสียแรงให้หัวกระสุนวิ่งทะลุออกไปเปล่าๆ แต่อย่าลืมนะครับเวลายิงต่อสู้กันเขาไม่ได้ เดินออกมายิงกันกลางถนนแบบในหนังเคาบอย ต้องมีการหาที่กำบังกันพอสมควร อย่างน้อยก็ต้องเป็นประตูรถ แล้วแต่ละคน ก็ยังมีเสื้อผ้าตั้งหลายชั้นเผลอๆอาจจะแถมเสื้อเกราะกันกระสุนอีกด้วย กระสุน .45 ไม่มีแบบเจาะเกราะหรอกครับ แล้วคงไม่มีใครคิดจะทำด้วย ในทัศนะของผมนั้น กระสุน .45 เหนือกว่า 9 มม. ตรงที่ยิงแม่นกว่า แล้วก็เจาะเป้ารูโตดีทำให้มีโอกาสได้คะแนนมากกว่า 9 มม. เท่านั้นเอง ตามปกติแล้วผมมักจะใช้ .45 แต่ถ้าต้องไปทำงานแบบกะทันหันชนิดที่ไม่มีข้อมูลข่าวสารอะไรมากนัก ผมจะคว้ากล็อก 17 เอาไว้ก่อนเพราะเปิดกระเป๋าขึ้นมาจะได้ปืน 1 กระบอกกับอะไหล่อีก 2 แม็กฯ ซึ่งหมายความว่ามีกระสุนติดตัวไปตั้ง 51 นัด อย่างที่เล่าให้ฟังแล้วว่าช่วงหลังสงครามเกาหลี สหรัฐฯเคยแสดงความสนใจที่จะเปลี่ยนกระสุนจาก .45 มาเป็น 9 มม. ในช่วงนั้นโคลท์จึงได้เอาปืน 1911 มาตัดลำกล้องออกไป 6 หุน เหลือ 4.25 นิ้ว แต่พอดีโครงการจัดหาปืนพก 9 มม. ครั้งนั้นต้องล้มไปเพราะว่าทหารอเมริกันย้อนกลับ ไปสำรวจดูในคลังเห็นว่ายังเหลือกระสุน .45 อยู่อีกมากมายมหาศาล จึงได้ยุติโครงการ ไปดื้อๆ ส่วนโคลท์นั้นถือหลักว่าง้างนกแล้วต้องยิง ดังนั้น ในปี ค.ศ. 1950 โคลท์จึงได้นำเอาปืน 9 มม. ของตัวเองออกมาวางตลาด ให้ชื่อรุ่นว่า คอมมานเดอร์ ซึ่งพอจะแปลได้ว่า เป็นปืนของผู้บังคับบัญชาอะไรทำนองนั้น
โคลท์ คอมมานเดอร์ ขนาด 9 มม. ได้รับการตอบรับจากตลาดพอสมควร ดังนั้น ในเวลาต่อมาโคลท์จึงได้บรรจุกระสุน ขนาดนี้กับปืน 1911 ลำกล้อง 5 นิ้ว มาตรฐานอีกด้วย ต่อมาเมื่อสิทธิบัตรคุ้มครองการผลิตปืน 1911 หมดอายุลงไป โรงงาน ต่างๆได้พากันผลิตปืน 1911 ออกมา รวมทั้งสปริงฟิลด์ของเรา ในระยะแรกสปริงฟิลด์เข้าตลาด ด้วยการขายของถูกเอาราคามาเป็นจุดขาย ต่อมาก็เริ่มปรับกลยุทธ์โดยยังไม่ทิ้งปัจจัยราคา แต่เพิ่มการรุกตลาดโดยการจัดตั้งทีมแข่งยิงปืนของตัวเอง หามือดีๆมาแต่งปืนกับใส่เสื้อสปริงฟิลด์ลงแข่ง เล่นทุกอย่างตั้งแต่การแข่งแบบ NRA ที่คล้ายๆกับปืนสั้นชาวบ้านในบ้านเรา กับการแข่งแบบรณยุทธ์ประเภทต่างๆไปจนถึงแมทช์เอ็นอาร์เอ ไฮ-เพาเวอร์ ไรเฟิล ซึ่งแข่งกันในระยะ 200, 300 และ 600 หลา สำหรับปืนสั้นแบบ M1911 ของ สปริงฟิลด์จะมีรุ่นกระสุน 9 มม. เป็นส่วนหนึ่งคู่กับ .45 และ .38 ซูเปอร์อยู่เสมอ เพราะจริงๆแล้วกระสุนทั้งสามขนาดนี้ก็จัดว่า อยู่ในรุ่นราวคราวเดียวกัน เพราะเกิดเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เหมือนๆกัน โดย .38 ซูเปอร์สมัยที่ยังเป็น .38 ACP อยู่จะเป็นพี่ใหญ่ที่สุดเพราะถือกำเนิดขึ้นมาในปี ค.ศ. 1900 ส่วน 9 มม. พาราเบลลัมน้องกลาง อายุอ่อนกว่า 2 ขวบเพราะถือกำเนิดในปี ค.ศ.1902 แล้ว .45 ออโตก็ตามมาทีหลังอีก 3 ปี แต่เป็นเด็กโข่งเกิดทีหลังกินจุกว่าเขาก็เลยตัวโตกว่าเพื่อน
ในปี ค.ศ. 1902 กระสุน 9 มม. พาราเบลลัมเป็นกระสุนที่ผลิตขึ้นมาเพื่อใช้กับปืนพาราเบลลัม เพื่อที่จะเสนอขายให้กับกองทัพเยอรมัน ดั้งเดิมทีเดียวนั้นปืนพาราเบลลัมจะทำออกมาใช้กับกระสุน 7.65x21 มม. แบบที่ชาวอเมริกันเรียกว่า .30 ลูเกอร์ เพราะคนออกแบบปืนพาราเบลลัมกับกระสุน 7.65x21 มม. และ 9 มม.พาราเบลลัมนั้นเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายเยอรมันชื่อ ยอร์จ ลูเกอร์ การที่คุณลูเกอร์แกออกแบบเป็นขนาด 7.65 มม. ก็คงเพราะต้องการแข่ง กับปืนเมาเซอร์ที่ใช้กระสุน 7.63 แต่พอดู ทางลมแล้วเห็นว่าทหารเยอรมันชอบ 9 มม. มากกว่าก็เลยขยายกระสุนของตัวเองขึ้นเป็น 9 มม. ซึ่งก็ได้ผลครับ เพราะกองทัพเรือ เยอรมันรับเอาปืนกับกระสุน 9 มม. พาราเบลลัมไว้ใช้ในราชการตั้งแต่ปี ค.ศ. 1904 และต่อมากองทัพบกเยอรมันก็รับไว้ใช้ในปี ค.ศ.1908 ซึ่งถือเป็นใบสั่งซื้อขนาดใหญ่มาก จนทำให้ปืนพาราเบลลัมในชื่อ P-08 ตามมาตรฐานกองทัพเยอรมันกลายเป็นชื่อที่แพร่หลายไปทั่วโลก
หลังจากนั้นเยอรมันก็ใช้กระสุน 9 มม. พาราเบลลัมในสงครามโลกทั้งสองครั้ง และถึงเยอรมันจะเป็นฝ่ายแพ้สงครามทั้งสองครั้งรวด แต่เราก็จะโทษว่าเป็นความผิดของกระสุน 9 มม.ไม่ได้จริงๆต้องถือว่ากระสุน 9 มม. พาราเบลลัม เป็นฝ่ายชนะสงครามเสียด้วยซ้ำ เพราะในปัจจุบันนี้กองทัพของแทบทุกประเทศต่างก็หันมาใช้กระสุนขนาด 9 มม.พาราเบลลัมกับปืนพกและปืนกลมือของตัวเอง กระสุน 9 มม. พาราเบลลัมได้รับความนิยมเสียจนมีการนำเอาไปดัดแปลงถึง 2 ครั้ง คือวินเชสเตอร์เอาไปยืดปลอกเป็น 9 มม.วินฯ แม็กฯ ในปี ค.ศ.1977 และเฟเดอรัลเอาไปใส่จานท้ายเพื่อใช้กับปืนลูกโม่ ในปี ค.ศ. 1989 แต่สำหรับ 9 มม. ดิลลอน กับ 9 มม.AE ไม่เกี่ยวกันนะครับ เพราะ 9x25 มม. ดิลลอนใช้ปลอกของ 10 มม. มาบีบคอลง ส่วน 9 AE ก็คล้ายๆกันคือใช้ปลอก .41 AE มาบีบคอ แต่สำหรับ 9 AE ออกจะเป็นเรื่องตลกที่เดิมทีเดียว AE อยากได้กระสุนหน้าตัดใหญ่ที่ยิงในปืน 9 มม. เดิมได้ จึงได้เอาปลอกกระสุนขนาด .41 มากลึงจานท้ายออกให้เหลือเท่ากับของ 9 มม. พอเปลี่ยน ลำกล้องกับซองกระสุนก็ใช้ .41 ได้เลย แต่ไปๆมาๆเกิดอยากได้ลูกความเร็วสูงขึ้นมาอีก จึงได้เอาปลอก .41 AE มาบีบคอลงกลายเป็นกระสุนจานท้ายเล็ก หัวเล็กเท่ากับ 9 มม. แต่ลำตัวปลอกกระสุนใหญ่เท่า .41 ดีเหมือนกัน เพราะถ้าเกิดอยากได้ปืน 9 มม. ที่แรงเป็นพิเศษก็แค่คว้านรังเพลิงใหม่บนลำกล้อง 9 มม. ของเดิมกับเปลี่ยนซองกระสุนมาใช้ของ .41 ก็ใช้ 9 มม. AE ได้แล้ว
ในปัจจุบันนี้กระสุน 9 มม.ในท้องตลาดมีให้เลือกใช้ได้ตั้งแต่แบบที่หัวเบาที่สุด 63 เกรนของฟิอ็อกกี้ ความเร็วต้น 1,883 ฟุต/วินาที ซึ่งเป็นกระสุนหัวพลาสติกหุ้มโลหะเพื่อที่จะได้ยาวพอที่จะทรงตัวได้ ไม่งั้นคงร่อนไปร่อนมาเหมือนเขียงบินได้อะไรทำนองนั้น สำหรับกระสุนโลหะล้วนๆ ที่เบาที่สุดคงจะเป็นเรมิงตัน 88 เกรน หัวรู แต่ตอนนี้เลิกทำไปแล้ว จึงเสียแชมป์ให้กับฮอร์เนดี 90 เกรน แบบ JHP/XTP ความเร็ว 1,360 ฟุต/วินาที ส่วน 9 มม. ที่หัวกระสุนหนักที่สุดเป็นกระสุนจากยุโรปคือแฮนเส็นกับฟิอ็อกกี้ซึ่งใช้ หัว 158 เกรน ความเร็ว 950 ฟุต/วินาที ส่วนกระสุนของอเมริกันทุกยี่ห้อจะไปหยุดกันอยู่ที่ 147 เกรน ความเร็ว 960-1,010 ฟุต/วินาที สปริงฟิลด์ 1911A1 คัสตอมกระบอกนี้ ดูรูปร่างภายนอกแล้วก็คงเหมือนกับ 1911 แบบสเตนเลสส์กระบอกอื่น แต่ศักดิ์ศรีของปืน คัสตอมจะไปอยู่ตรงที่ฝีมือการประกอบซึ่งแน่นหนาดีกว่าปืนตลาดทั่วไป แก้มประกับด้ามใช้ไม้จริงคือไม้โกโกโบโลเนื้อละเอียด สีออกไปทางโกโก้สมชื่อ เป็นสีน้ำตาลอมแดงดูแปลกตาดี แต่ที่ถูกใจที่สุดก็คือสปริงฟิลด์กระบอกนี้ใช้ลำกล้องเป็นแบบมีแรมพ์ท้าย ลำกล้องมาให้จากโรงงาน
เจ้าแรมพ์ตัวนี้ดีอย่างไรครับ ถ้าเป็น 1911 ในขนาด .45 ผมจะไม่กังวลใจเลย เพราะเป็นกระสุนที่เกิดมาคู่กับปืนแบบนี้ โดยตรงอยู่แล้ว ถ้าเราลองเอากระสุน .45 สอดเข้าไปในรังเพลิงแบบไม่มีแรมพ์แล้ว หงายดูตรงด้านล่างที่ปาดเนื้อเหล็กออกไป เป็นทางลาดป้อนกระสุน เราจะพบว่าทางลาดนี้กินเนื้อเหล็กรังเพลิงเข้าไปเพียงเล็กน้อย เพราะกระสุน .45 มีขนาดใหญ่ทำให้รังเพลิงโตตามไปด้วย เนื้อเหล็กรังเพลิงตรงนี้ ค่อนข้างบางทำให้ปาดเนื้อเหล็กเฉียงเข้าไปไม่ลึกนัก แต่ถ้าเป็นรังเพลิง .38 ซูเปอร์หรือ 9 มม. ซึ่งรูเล็กกว่า .45 แต่ข้างนอกโตเท่ากัน ทางลาดนี้หรือ Feed ramp นี้ก็จะต้องถูกคว้านให้สูงและลึกมากขึ้นตามไปด้วย ทำให้กินเนื้อเหล็กของรังเพลิงเข้าไปโขอยู่ ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือถ้ากระสุนแรงเกินไป หรือปลอกกระสุนไม่ได้มาตรฐานอาจจะระเบิดทะลุออกมาได้ สถานเบาก็คือเศษทองเหลืองสลัดออกมาพร้อมกับปลอกกระสุน ส่วนสถานหนักนั้นแรงระเบิดอาจจะไประเบิดกระสุนที่อยู่ในซองกระสุนพุ่งลงมาข้างล่าง ถ้ายิงมือเดียวแบบอาจารย์วีระก็คงไม่กระไรนัก อย่างมากก็แค่หัวแม่เท้าบวม แต่ถ้ายิงสองมือก็ลองเล็งดูเถอะครับ แนวระเบิดจะพุ่งลงมาแถวๆเป้ากางเกงพอดีเลย
อวป. นำสปริงฟิลด์ M1911A1 ไปยิงทดสอบที่สนามยิงปืนราชนาวี บางนา เหมือนเดิม เราพยายามหากระสุนมาทดสอบให้หลากหลายที่สุดเท่าที่จะหาได้ 2 แบบแรกมาจากอเมริกา และเป็นแบบที่หัวกระสุนหนักที่สุดคือสเปียร์ 147 เกรน แบบ FMJ รองลงมาเป็นเรมิงตัน 124 เกรน แบบปลอดสารตะกั่วหรือ Lead free ซึ่งใช้หัวกระสุนแบบ TMJ คือเป็นแบบ FMJ ที่เพิ่มถ้วยทองแดงปิดตอนท้ายของหัวกระสุน ป้องกันไม่ให้เผาตะกั่วกระจายฟุ้งออกมาในอากาศ นอกจากนั้นชนวนหรือไพรเมอร์ของกระสุนเรมิงตันรุ่นนี้ก็ยังปลอดตะกั่ว คือไม่ใช้เกลือสติฟเนตของตะกั่ว หรือ Lead Styphnate (Lead Trinitroresorcinate) แบบที่ใช้กันทั่วไป กระสุนแบบนี้เหมาะสำหรับใช้ในสนามยิงปืน แบบปิดจะได้ไม่มีละอองตะกั่วลอยอยู่ในอากาศจนเข้าไปกับลมหายใจของเรา
กระสุนอีก 3 แบบที่เรานำมายิงทดสอบด้วยก็มีฟิอ็อกกี้ 123 เกรน หัวตัด แล้วก็ PMP 115 เกรน จากแอฟริกาใต้ ส่วนแบบสุดท้ายก็คือบุลเล็ทมาสเตอร์ หัวตะกั่ว 135 เกรน กระสุนที่ผลิตในบ้านเรานี่เอง ปรากฏว่าสปริงฟิลด์กระบอกนี้ยิง กระสุนได้ทุกแบบโดยไม่ติดขัดแม้แต่นัดเดียว เพียงแต่กระสุนที่อัดมาอ่อนสักหน่อยอย่างเช่น PSP 115 เกรนสไลด์จะไม่ค้างเท่านั้นเอง
ปืนกระบอกนี้ได้ข่าวว่ามีส่งเข้ามาแบบฟลุ๊กๆ เพียง 2 กระบอก ทางห้างฯ ปืน ศ.ธนพล สั่งไปเป็นแบบรุ่นธรรมดาแต่โรงงานส่งรุ่นคัสตอม แล้วก็เก็บเงินในราคารุ่นคัสตอม ไม่ทราบว่าพอหนังสือออกจะยังเหลือหรือเปล่า ลองสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ห้างฯ ปืน ศ.ธนพล อยู่บนดิโอลด์สยามพลาซ่า เดินผ่านร้านไกอาร์มลึกเข้าไปอีก 20 ก้าวก็ถึง หน้าร้านพอดี ราคาปืนเจ็ดหมื่นเศษ หรืออาจจะโทรศัพท์ไปสอบถามรายละเอียดได้ที่หมายเลข 223-6457. |
|||||||||||||||||||||||||||||||
นิตยสารอาวุธปืน
ฉบับที่ 320 มิถุนายน 2544 มีวางจำหน่ายตามแผงหนังสือทั่วประเทศ
|
Copyright
©2000 www.gunsandgames.com
Powered by eighteggs.com