อินฟินิตี้ คอมแพ็ก
.45 ACP ยักษ์แคระ ลูกดก

สำหรับท่านผู้อ่านที่เป็นนักกีฬายิงปืน และชื่นชอบกับการแข่งขันในระบบรณยุทธ์ รวมทั้งการแข่งขันในระบบปืนสั้นชาวบ้าน อยากจะให้ลองหันกลับไปดูว่าปืนคู่มือที่ท่าน ไว้วางใจที่สุด ปืนที่ท่านถือว่าจะเป็นเขี้ยวเล็บ สุดท้ายอยู่ข้างกายท่านในห้องนอน รวมทั้งเป็นปืนกระบอกที่ติดตัวท่านออกไปตรวจตรารอบๆบ้านว่าเป็นปืนอะไร

สำหรับตัวผมเองเวลาลงแข่งปืนสั้นชาวบ้านจะใช้โคลท์ M1911 ที่ตกแต่งแล้ว ปืนกระบอกนี้เป็นปืนที่ใช้งานมานานกว่ายี่สิบปี ดูจากประวัติปืนที่บันทึกเอาไว้ตั้งแต่ยังเขียนด้วยดินสอลงในสมุดธรรมดา แล้วก็ลอกลงมาบันทึกในโปรแกรมดีเบสบนเครื่องคอมพิวเตอร์ 16 บิท มาถึงปัจจุบันนี้ซึ่งถึงยุคของ Pentium lll ผมจะบันทึกประวัติปืนรวมทั้งสถิติการยิงของปืนทุกกระบอกลงใน โปรแกรมไมโครซอฟท์ เอ๊กเซล ปรากฏว่า ปืนกระบอกนี้ยิงมาแล้วกว่าเจ็ดหมื่นนัด เปลี่ยนลำกล้องมาสามครั้ง 1911 กระบอกนี้ จึงเป็นปืนสั้นที่ผมยิงมามากที่สุด คุ้นเคยที่สุด และไว้วางใจได้มากที่สุด ดังนั้น ปืนที่ผมจะคว้าติดมือออกไปเพื่อการป้องกันตัวก็จะต้องเป็นปืนกระบอกนี้นั่นเอง

ภาพเต็มด้านขวาของอินฟินิตี้ คอมแพ็ก .45

แต่สำหรับท่านผู้อ่านที่ตกแต่งปืน ไปจนถึงขนาดที่จะถือติดมือไปไม่สะดวกนัก อย่างเช่นมีการติดกล้อง หรือว่าติดศูนย์จุดแดงที่ค่อนข้างเทอะทะ ก็น่าจะหาปืนอีกสักกระบอกหนึ่งที่เวลาใช้งานจะให้ความรู้สึก ใกล้เคียงกับปืนแข่งขันกระบอกคู่มือที่ใช้งานอยู่ อย่างเช่นหากท่านใช้ 1911 ระบบโมดูลาร์ ในการแข่งขันปืนป้องกันตัวก็น่าจะเป็นปืนแบบ เดียวกันที่ติดศูนย์ขนาดกะทัดรัด ลำกล้องธรรมดายาว 3.5-5 นิ้ว แต่ควรจะใช้ไก เหมือนกับปืนแข่งขันตัวเก่ง ทั้งหน้าไกและระยะเหนี่ยวไก ด้ามปืน รวมทั้งคันห้ามไก ลักษณะเดียวกัน

คงเป็นที่ยอมรับกันแล้วว่าปืนตระกูล 1911 ที่มีอายุเก้าสิบปีกระบอกนี้เป็นปืนออโต ที่ออกแบบได้ยอดเยี่ยม โดยเฉพาะระบบลั่นไกแบบซิงเกิลแอ๊คชั่นที่ปรับแต่งได้ง่าย และตัวปืนมีมุมด้ามที่เหมาะสมทำให้ควบคุมการลั่นไกปืนได้อย่างใจ และให้ความรู้สึกที่เป็นธรรมชาติ แม้กระทั่งในระยะหลังที่มีการ ออกแบบโครงปืนใหม่ให้เป็นระบบลูกดก หรือระบบโมดูลาร์ ก็ยังต้องรักษาข้อดีเด่นทั้ง สองอย่างนี้เอาไว้เสมอ 1911 นอกรีตที่ไปละเมิดหลักการสองอย่างนี้ ถึงแม้ว่าจะออกมาจากโรงงานโคลท์เอง ก็มีอันต้องพบจุดจบในเวลาไม่นานนัก

ภาพเต็มด้านซ้ายของอินฟินิตี้ คอมแพ็ก .45

ปืน 1911 ระบบโมดูลาร์ที่ติดปากพวกเรามากที่สุดคงจะเป็นปืนของ STI ซึ่งชื่อ ของบริษัทนี้จะมาจากชื่อผู้ก่อตั้งบริษัท 2 คน ก็คือคุณ Strayer กับคุณ Tripp ส่วน I ตัวท้ายก็มาจาก Inc. ในระยะหลังคุณสเตรเยอร์ ได้แยกตัวเองออกไปจาก STI แต่บังเอิญว่า คุณ Tripp แกไปได้คุณ Skinner มาเป็นหุ้นส่วนแทนคุณสเตรเยอร์ซึ่งมีชื่อนำหน้าด้วย S เหมือนกัน ดังนั้น คุณทริปป์จึงได้รักษาชื่อ STI ของเดิมเอาไว้เพื่อไม่ให้ลูกค้าสับสน

ส่วนคุณ Strayer ก็ยังไม่ยอมทิ้งธุรกิจอาวุธปืน โดยไปหาหุ้นส่วนคนใหม่มาได้ชื่อว่า คุณ Voigt จึงได้ตั้งเป็นบริษัทใหม่ขึ้นมาชื่อว่า Strayer-Voigt, Inc. เรียกย่อๆว่า SVI คล้ายๆ กับบริษัทเดิมที่คุณสเตรเยอร์ก่อร่างสร้างมา ร่วมกับคุณทริปป์

ปืน SVI ยังไม่ทิ้งหลักการของปืน ระบบโมดูลาร์เดิม โดยรูปร่างภายนอกยังดู คล้ายๆกับ STI เพียงแต่เพิ่มสีสันให้สะดุดตามากขึ้น แต่ถ้าพิจารณาดูข้างในแล้วจะพบว่า SVI ได้มีการพัฒนาไปจากเดิมอย่างมาก ตั้งแต่การกำหนดมาตรฐานชิ้นส่วนต่างๆเอาไว้ อย่างประณีต ตั้งแต่มาตรฐานในการอบชุบโลหะให้แข็งตามความเหมาะสม อย่างเช่น นกกับเซียร์ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญที่ต้องรับแรงเสียดสีมากที่สุดจะกำหนดเอาไว้ที่ 55 ร็อกเวลล์ สเกล C ส่วนลำกล้องไม่ได้ชุบแข็ง ด้วยความร้อน แต่ใช้วิธีเคลือบด้วยไทเทเนียม- ไนไตรด์เพื่อเพิ่มความแข็งแทน

ศูนย์หน้าแบบกึ่งยิงเป้า ตัดเกือบฉากและยังแกะลายกันแสงสะท้อน สันสไลด์ทำผิวด้าน แถมยังแกะร่องกันแสงสะท้อนตลอดระยะศูนย์ ศูนย์หลังของโบมาร์ปรับได้เต็มที่ ใบศูนย์หลังแกะลายกันแสงสะท้อน ร่องบากคมกริบ

SVI ใช้ลำกล้องแบบหัวโตซึ่งมีข้อดีหลายอย่างนับตั้งแต่ช่วยลดไวเบรชั่นที่เกิดขึ้น ระหว่างกระสุนเคลื่อนตัวไปตามเกลียว ลำกล้อง แล้วยังไปเพิ่มมวลสำหรับดูดซับแรงรีคอยล์ ยังมีของแถมตรงได้น้ำหนักเพื่อช่วยให้ปืนนิ่งขึ้น นอกจากนั้น ลำกล้องแบบหัวโต ยังลดจุดที่ต้องระวังเรื่องหลวมคลอนไปได้อีกแยะ อย่างผมเองใช้บูชลำกล้องของไบรเลย์ ซึ่งเป็นแหวนกลิ้งรัดแน่นอยู่กับปากลำกล้อง ก็ต้องคอยตรวจสอบว่าปากลำกล้องสึกมาก ไปหรือยังเพราะตัวแหวนเป็นสเตนเลสส์เคลือบไทเทเนียมไนไตรด์ ไม่สึกอยู่แล้วเพราะแข็งกว่าลำกล้อง ปัญหาจะไปอยู่ที่ผิวนอก ลำกล้องกับผิวด้านในของบูชที่แหวนกลิ้ง พลิกไปพลิกมาอยู่ นอกจากนั้น ยังต้องคอยตรวจสอบว่าบูชกับสไลด์ยังกระชับแน่นอยู่หรือเปล่า แต่สำหรับ STI ใช้ลำกล้องหัวโต ก็มีส่วนที่ต้องคอยตรวจดูเพียงจุดเดียว คือ ปากลำกล้องปืนกับสไลด์ ซึ่งตรงนี้ทางโรงงานก็ได้ชุบไทเทเนียมป้องกันเอาไว้แล้ว

ซองกระสุนแบบเรียงเหลื่อมบรรจุกระสุน .45 ได้ 12 นัด ถ้ายอมใช้แบบที่ยาวกว่า นี้ก็จะบรรจุได้มากขึ้นไปอีก คือซองกระสุนรุ่น Standard บรรจุได้ 15 นัด และรุ่นที่ยาว 170 มม. จะได้ 18 นัด สำหรับซองกระสุนแบบยาว 170 มม. จะบรรจุ .40 S&W ได้ 22 นัด หรือถ้าเป็น .38 ซูเปอร์ หรือ 9 มม. จะได้ 26 นัด

จุดเด่นของ SVI อีกอย่างหนึ่งก็คือใช้หน้าลูกเลื่อนถอดเปลี่ยนได้ โดยทาง SVI เรียกหน้าลูกเลื่อนตัวนี้ว่า Brechface วิธีถอดก็ทำได้ง่ายๆ เพียงถอดเข็มแทงชนวนแล้วสอดหกเหลี่ยมขนาด 1 หุนเข้าไปคลายสกรูเท่านั้นเอง ที่ SVI ออกแบบให้เปลี่ยนหน้าลูกเลื่อนได้ ก็เพราะต้องการให้เปลี่ยนขนาดกระสุนได้โดยใช้สไลด์ตัวเดิม แต่ถ้าเป็นคน รักเดียวใจเดียวต้องการใช้กระสุนขนาดเดิมไปตลอดกาล ก็ยังนับว่าเป็นข้อดีอีกนั่นแหละเพราะว่าหน้าลูกเลื่อนเป็นชิ้นส่วนที่สึกหรอเร็วอยู่เหมือนกัน เนื่องจากต้องกระแทกกับโคนลำกล้องและก็ยังโดนก๊าซที่รั่วออกมาจากช่องชนวน (Primer pocket) เผาทุกครั้งที่กระสุนลั่นออกไป การทำชิ้นนี้ให้ถอดเปลี่ยนได้ ก็จะช่วยยืดอายุปืนไปได้อีกเพราะว่าเราสามารถเลือกใช้โลหะที่มีคุณสมบัติเหมาะสม มาใช้เฉพาะตรงจุดนี้ได้

ยกตัวอย่างของจริงก็ได้ SVI จะใช้สเตนเลสส์เบอร์ 416 ทำโครงปืนกับสไลด์สเตนเลสส์ เบอร์นี้ตามปกติแล้วจะนิยมใช้ทำชิ้นส่วนโครงสร้างอาวุธปืน รวมทั้งใช้ทำลำกล้องปืนเช่นเดียวกับเหล็กกล้าเบอร์ 4140 เนื่องจากมีคุณสมบัติคล้ายๆกันในเรื่องที่มีความแข็งกับความเหนียวอยู่พอสมควร และยังต้านทานการสึกหรอได้ดี แต่สำหรับหน้าลูกเลื่อนหรือ Brechface ชิ้นส่วนนี้ SVI จะใช้เหล็กกล้าเบอร์ 4340 แทน เนื่องจากเหล็กเบอร์นี้มีคุณสมบัติพิเศษในเรื่องความเหนียวหยุ่น (Toughness) ต้านแรงกระแทกได้ดี กับชุบแข็งได้ลึกเป็นพิเศษ


การถอดปืน ให้ปลดซองกระสุน แล้วเคลียร์รังเพลิงให้เรียบร้อย จากนั้นก็ดึงสไลด์ค้างเอาไว้
สอดลวดรูปตัว L เข้าไปที่ไกด์ร็อด แล้วปล่อยสไลด์เดินหน้า

ระบบเครื่องลั่นไกก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่ SVI สร้างนวัตกรรมหรือ Innovation เอาไว้ เหนือกว่าผู้ผลิตปืนสไตล์ 1911 อื่นๆ โดยการฝังลูกปืนพิเศษเอาไว้ที่แหนบสามชาย, ดิสคอนเน็กเตอร์ และสะพานไก วัตถุประสงค์ก็คือต้องการให้ปืนมีจังหวะการลั่นไกและ น้ำหนักไกสม่ำเสมอกันทุกนัด เนื่องจากระบบการลั่นไกของ 1911 มาตรฐานนั้น ถ้าเกิดมีน้ำมันหรือคราบสกปรกจากเขม่าหรือฝุ่นละอองเข้าไปอยู่ในระบบลั่นไก สิ่งแปลกปลอมเหล่านี้ก็จะไปรบกวนการทำงานของระบบการลั่นไกให้จับกันหนาบ้าง บางบ้าง แต่ระบบฝังลูกปืนของ SVI จะทำให้มีจุดสัมผัสกัน เฉพาะตรงลูกปืนเท่านั้น ช่วยให้การลั่นไกมีจังหวะและน้ำหนักคงเส้นคงวา

ขยับสไลด์จนคันค้างสไลด์มาตรงกับรอยบากรูปเล็บมือ ปลดคันค้างสไลด์ออกมา หงายปืนแล้วดึงสไลด์ออกไปทางด้านหน้า ยกไกด์ร็อดออกมาทางด้านหลัง

SVI อินฟินิตี้ ที่ อวป. ได้รับมาทำการทดสอบในฉบับนี้เป็นรุ่นคอมแพ็ก ซึ่งมีความกะทัดรัดกว่ารุ่นมาตรฐานเฉพาะสไลด์กับลำกล้องที่สั้นลงมาเหลือสามนิ้วครึ่ง แต่ยังใช้โครงด้ามของรุ่นมาตรฐานได้ ดังนั้น จึงหมายความว่า คอมแพ็ก อินฟินิตี้กระบอกนี้สามารถใช้ซองกระสุนของรุ่นแข่งขันได้ทั้งหมด คือถ้าเป็นซองกระสุนรุ่นสั้นที่สุดจะเป็นซองกระสุนแบบเรียงเหลื่อมที่อินฟินิตี้ เรียกว่ารุ่นใช้งาน (Duty) บรรจุกระสุน.45 ได้ 12 นัด และยังมีซองกระสุนที่ยาวกว่านี้ซึ่งจะบรรจุกระสุนได้มากขึ้นไปอีก คือแบบที่เรียกว่ารุ่นมาตรฐาน (Standard) บรรจุได้ 14 นัด และซองกระสุนแบบที่ยาวที่สุดที่มีความยาว 170 มม. จะใส่ได้มากถึง 18 นัด อันนี้ หมายถึงกระสุน .45 ACP นะครับ ถ้าเป็นกระสุนที่เล็กกว่านี้ก็ยิ่งใส่ได้มากขึ้นไปอีก คือถ้าเป็น .40 S&W จะได้ 22 นัด ยิ่งเป็น 9 มม. หรือ .38 ซูเปอร์ละก็จะได้ถึง 26 นัด น้องๆซองกระสุนของปืนกลมือเลยทีเดียว้

ล้มห่วงโตงเตงไปข้างหน้า แล้วดึงลำกล้องออกไปทางด้านหน้าเหมือนกับ M1911 มาตรฐาน

อวป. นำ SVI อินฟินิตี้ คอมแพ็กกระบอกนี้มาทำการยิงทดสอบภาคสนาม ที่สนามยิงปืนราชนาวี บางนา เหมือนเช่นเคย ในวันนั้นเราเตรียมกระสุนมายิงทดสอบด้วยกัน 5 แบบ โดยเน้นหนักไปที่กระสุนใช้งาน มากกว่ากระสุนแบบยิงเป้า เนื่องจากอินฟินิตี้กระบอกนี้มีลักษณะเป็นปืนใช้งานมากกว่า เป็นปืนแข่งขัน โดยเราเตรียมกระสุนแบบยิงเป้ามา 2 แบบคือลูก 185 เกรนหัวทองแดง ยักไหล่ของเฟเดอรัลกับบุลเล็ทมาสเตอร์ หัวตะกั่ว 200 เกรน ที่กล่องมีตัวอักษร NC เข้าใจว่าคงจะหมายถึง New Case หรือเป็นกระสุนที่ใช้ปลอกใหม่ ไม่ใช่ปลอกรีโหลด สำหรับลูก .45 ของบุลเล็ทฯในช่วงหนึ่งปีมานี้ รู้สึกว่าจะมีคุณภาพดีขึ้นอย่างผิดหูผิดตา ทั้งในเรื่องความแม่นยำ และคุณภาพของไขหล่อลื่นที่ไม่ทำให้มีคราบตะกั่วจับเกลียวลำกล้อง ผลงานของใครไม่ทราบเหมือนกัน แต่ยังไงๆ ก็สมควรจะได้โบนัสก้อนโต

ถอดแค่นี้ก็เพียงพอสำหรับทำความสะอาดตามปกติ

ส่วนกระสุนใช้งานเราเตรียมมา 3 แบบ เป็นกระสุนของเรมิงตันแรงสูง +P 185 เกรน หัวรู และกระสุนเมเจอร์ของฟิอ็อกกี้ หัวทองแดงปลายตัด 200 เกรน กับกระสุน 230 เกรนหัวบอลแบบมาตรฐานของวินเชสเตอร์ ซึ่งผลิตตามมาตรฐานของกองทัพสหรัฐฯ ที่เรียกว่ากระสุนแบบ Cartridge Caliber .45 Ball, M1911 ซึ่งตามมาตรฐานของกองทัพนั้น กระสุนนี้จะมีแรงอัดในรังเพลิง 19,000 ปอนด์/ตารางนิ้ว ความเร็ว 855 ฟุต/วินาที บวกลบได้ 25 ฟุต/วินาที เมื่อ ยิงจากลำกล้อง 5 นิ้ว และจะต้องทำกลุ่มกระสุนไม่เกิน 7.46 นิ้วที่ระยะ 50 หลา

ผู้เขียนยิงทดสอบที่ระยะ 15 เมตร ใช้กระสุน 4 แบบ คือ เฟเดอรัล แบบยิงเป้า หัวยักไหล่ 185 เกรน, กระสุนหัวบอล 230 เกรนของวินเชสเตอร์, ลูกเมเจอร์ 200 เกรน และเรมิงตัน หัวรู +P 185 เกรน ปรากฏว่ากระสุนหัวบอล 230 เกรน ลูกเมเจอร์และลูกหัวรู +P ทำกลุ่มได้ดีที่สุด สมกับเป็นปืนใช้งาน

เราใช้กระสุนยิงทดสอบรวมกันประมาณ 80 นัด ปรากฏว่า อินฟินิตี้ คอมแพ็กกระบอกนี้ยิงกระสุนได้ทุกแบบโดยไม่มีการติดขัดเลยแม้แต่นัดเดียว แต่สำหรับในการใช้งานจริงขอแนะนำว่าควรจะใช้เฉพาะกระสุนแรงสูงเท่านั้น เนื่องจากเวลาที่ยิงกระสุนแบบลูกแมทช์ ปลอกกระสุนออกอาการว่าไม่ค่อยอยากจะดีดออกมาเท่าใดนัก ปลอกกระสุนของบุลเล็ทฯจะตกห่างจากคนยิงประมาณ 1 เมตร ส่วนลูกหัวยักไหล่ของเฟเดอรัลยิ่งแล้วใหญ่ ดูๆแล้วเหมือนกับจะค่อยๆกลิ้งออกมาจากช่องคายปลอกเท่านั้นเอง

ผู้ส่งทดสอบคือ ห้างฯ ปืนเทเวศร์ ดิโอลด์สยามพลาซ่า ถนนบูรพา กทม.
โทร. 222-7537, 226-4799, 623-7061 โทรสาร 225-0583.

นิตยสารอาวุธปืน ฉบับที่ 319 พฤษภาคม 2544 มีวางจำหน่ายตามแผงหนังสือทั่วประเทศ

Copyright ©2000 www.gunsandgames.com Powered by eighteggs.com