1911 แต่งพิเศษจากร็อคริเวอร์
ปืนอมตะขนาด .45 ACP ล่าสุดจากช่างแต่งปืนฝีมือเยี่ยม

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ยังมีบริษัทผู้ผลิตปืนรายหนึ่งใช้เครื่องหมายการค้าเป็นรูปม้าคาบศร ได้เป็นเจ้าของสิทธิบัตรปืนพกระบบกึ่งอัตโนมัติที่ออกแบบโดยยอดอัจฉริยะของวงการปืน โดยในยุคนั้น ปืนพกระบบกึ่งอัตโนมัติยังไม่ได้รับความนิยมแพร่หลายนัก แต่หลังจากที่กองทัพของประเทศมหาอำนาจประเทศหนึ่ง ทำการทดสอบเปรียบเทียบกับปืนแบบลูกโม่ที่ใช้อยู่เดิมจนแน่ใจว่า ปืนระบบใหม่ใช้งานได้ดีกว่าปืนพกที่ว่านี้ ก็ได้รับการบรรจุเข้าประจำการ เรียกว่าปืนแบบ 1911 ตามปี ค.ศ. ที่ตกลงทำสัญญาซื้อครั้งแรก ส่งผลให้บริษัทตราม้าคาบศรขายปืนได้มาก ร่ำรวยมีชื่อเสียงไปทั่วโลกว่าเป็นผู้ผลิตปืนชั้นดีมีคุณภาพสูง ส่วนปืนแบบ 1911 นั้น ทางกองทัพใช้งานต่อเนื่องไปอีกนานกว่าเจ็ดสิบปี มีการปรับแต่งพัฒนาให้เหมาะกับงานหลากหลายรูปแบบ กลายเป็นปืนที่ยอมรับกันทั่วโลกว่ายอดเยี่ยมทั้งด้านความทนทานและแม่นยำ...

ก็อย่างที่นักนิยมปืนทราบทั่วกันนะครับ บริษัทตราม้าคาบศรที่ว่าคือโคลท์ อาศัยผลงานมันสมองของ จอห์น บราวนิง ขายปืนพก .45 ออโตฯ ให้กองทัพสหรัฐฯ ผ่านสงครามโลกสองครั้ง สงครามเกาหลี สงครามเวียดนามมาจนเข้ายุค "เก้าลูกดก" จึงถูกเบเร็ตต้าชิงสัญญาสุดยอดปรารถนาของโรงงานปืนทั้งหลายไปได้ โคลท์พยายามทุกวิถีทางที่จะปกป้องสิทธิในการผลิตปืนแบบนี้ไว้เมื่อสิทธิบัตรหมดอายุ โดยออกแบบใหม่เป็นบางส่วนแล้วจดทะเบียนคุ้มครองเพิ่ม แต่ในที่สุดแทบเอาตัวไม่รอดครับ ต้องยก เครื่ององค์กรครั้งใหญ่ ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่ทราบผลว่า จะมีโอกาสกลับมายิ่งใหญ่อย่างเดิมได้หรือไม่

ทางด้านของตัวปืน กล่าวได้ว่าปืน 1911 ไม่เหมาะกับการผลิตจำนวนมาก ให้ต้นทุนต่ำในลักษณะของปืนทหาร เพราะยังต้องใช้ช่างฝีมือในการประกอบชิ้นส่วนเข้าด้วยกัน ลองเปรียบเทียบกับปืนที่ออกแบบเพื่อการผลิตสมัยใหม่อย่างกล็อกนะครับ ผลิตด้วยเครื่องทั้งกระบอกไม่ต้องอาศัยฝีมือช่างประกอบเลยก็ยิงแม่นได้ (ในระดับของปืนต่อสู้) ในขณะที่ปืน 1911 แม้จะปรับแบบให้ผลิตด้วยเครื่องมือทันสมัยเต็มที่แล้ว อย่างโรงงานคิมเบอร์ ก็ยังต้องขายในราคาที่สูงกว่ามาก แม้ว่าจะมีปัญหาเรื่องต้นทุนการผลิตดังกล่าวแล้ว แต่จากอานิสงส์ของการเป็นปืนประจำมือทหารหาญติดต่อกันมาหลายสิบปีกับสามสี่สงครามใหญ่ ทำให้มีคนศรัทธาปืน 1911 มากนะครับ อย่างนายคลินท์ สมิธ แห่งค่ายธันเดอร์ เรนจ์ และ เจฟ คูเปอร์ นักเขียนเรื่องปืนระดับแนวหน้าของสหรัฐฯ เป็นต้น ที่สำคัญคือทั้งสองรายที่ยกตัวอย่างมานี้ จัดอยู่ในระดับ "โอพิเนียน ลีดเดอร์" (Opinion Leader) คือมีอิทธิพลพอจะชักจูงความนิยมของตลาดได้ ทำนองปรมาจารย์ปืนละครับ ท่านว่าดีก็มีคนเชื่อว่าดีตามท่านเป็นจำนวนมาก และเมื่อตัวปืนเองมันก็ดีจริงเสียด้วย คนที่ซื้อมาใช้แล้วไม่ผิดหวัง แม้ว่าจะต้องจ่ายแพงกว่าปืนสมัยใหม่ไม่น้อยก็ยังมีคนเต็มใจจ่าย

จากลักษณะเฉพาะดังกล่าวนี้ทำให้ปืน 1911 ที่เกษียณอายุออกจากวงการปืนทหารแล้ว กลับกลายเป็นผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ ที่บริษัทเล็กๆ ประเภท "เอสเอ็มอี" (SME - Small and Medium Enterprises วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม) อาศัยเป็นจุดเริ่มต้นตั้งเนื้อตั้งตัวไปได้หลายราย เพราะบริษัทขนาดเล็กย่อมไม่ลงทุนซื้อเครื่องจักรขนาดใหญ่ ที่ทำให้จำเป็นต้องผลิตจำนวนมาก แต่มักใช้วิธีซื้อชิ้นส่วนจากผู้ผลิตที่มีเครื่องมือแต่ละด้านโดยเฉพาะ มาประกอบเข้าเป็นปืนด้วยฝีมือและความชำนาญ เช่น โครงปืนจากผู้ผลิตรายหนึ่ง ลำเลื่อนจากอีกรายหนึ่ง ลำกล้องก็จากอีกรายหนึ่ง ศูนย์ สปริง ห้ามไก ซองกระสุน ฯลฯ แต่ละชิ้นมีผู้ผลิตขายโดยเฉพาะทั้งนั้น ได้ปืนที่เราเรียกว่า "คัสตอม-เมด" (Custom-made) คือลูกค้าสั่งได้ในรายละเอียดว่าชิ้นไหนชอบแบบไหน เช่น สั่งซื้อสองกระบอกให้เลขประจำปืน ต่อเนื่องกัน โดยกระบอกหนึ่งเอาแม่นสุดๆ ติดศูนย์ยิงเป้าอีกกระบอกหนึ่งเอาแบบต่อสู้ ศูนย์ตายกำหนดน้ำหนักไกตามความเหมาะสม เป็นต้น

ปืน 1911 ระดับนี้แหละครับ ที่เข้ามาขายบ้านเราในราคาทะลุแสน เท่าที่จำได้ก็ เอสทีไอ เป็นรายแรก จากนั้นมี ไบรเลย์, เลส เบเออร์, เอสวีไอ, นาวลิน ฯลฯ ตามกันมาเป็นแถว ที่ประสพความสำเร็จสูงสุด น่าจะเป็น เลส เบเออร์ ที่นักล่ารางวัลปืนสั้นชาวบ้านนิยมใช้กันมาก ยังไม่นับที่ซื้อไปเก็บไว้ดูเล่นลูบคลำด้วยความชื่นชอบในฝีมือช่าง เมื่อ เลส เบเออร์ สร้างชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในวงการมากๆเข้า ก็เริ่มมีรายการสั่งซื้อจำนวนมากแบบตั้งข้อกำหนดหรือ "สเป็ก" เป็นชุดใหญ่ เช่น ปืนของหน่วยปฏิบัติการพิเศษที่เน้นทั้งความแม่นและการทำงานของปืน นายเลส เบเออร์ ที่เคยคุยว่าปืนติดยี่ห้อนี้ทุกกระบอกฉันประกอบเอง ก็เริ่มจะมีงานล้นมือ ต้องปรับเปลี่ยนระบบการผลิต และการจัดการกระเดียดไปทางสายการผลิตปืน (Assembly Line) มากขึ้น เริ่มพัฒนาช่างแต่ละคนให้มีความชำนาญเฉพาะจุดเฉพาะด้าน ไม่ใช่แบบคนเดียว รับผิดชอบทั้งกระบอกเหมือนงานแต่งปืนระดับคัสตอม ช็อป (Custom Shop) ที่เคยทำเมื่อตั้งบริษัทใหม่ๆ

ผู้เขียนคือ ดร.ผณิสวร ยิงมือเดียวเลียนแบบอาจารย์วีระ และกลุ่มกระสุน 2 มือ ยิงเจ็ดนัด แตกกลุ่มไปสองนัด มือเดียวยิงห้านัดได้สองกระจุกสิบทั้งหมด

ถึงจุดนี้ ช่างที่มีความสามารถครบครัน ทำได้ทุกด้าน ทุกส่วน ย่อมรู้สึกว่าไม่ได้ แสดงความสามารถเต็มที่ ถ้าพบว่างานที่รับช่วงมาด้อยคุณภาพไปบ้างจะบ่นก็ไม่ได้ กลายเป็นสร้างความแตกแยกในทีมงาน หรือในส่วนของตนทำไปอย่างดี แต่ขั้นตอนต่อไปที่คนอื่นทำเกิดผิดพลาด ผลงานก็ไม่ได้มาตรฐานที่ตั้งใจ ช่างระดับนี้มีไม่มากครับ แต่ก็มีสองคนพี่น้องที่เป็นหุ้นส่วนร่วมก่อตั้ง Les Baer Custom Inc. มาแต่แรก คือ ชัค กับ มาร์ค ลาร์สัน (Chuck, Mark Larson) ที่เข้าข่าย เมื่อพี่น้องลาร์สัน เห็นว่าลักษณะงานเปลี่ยนไป ถ้าอยู่ต่อก็จะได้ทำงานเพียง บางส่วนของปืนไม่สามารถแสดงฝีมือแบบเบ็ดเสร็จเหมือนแต่ก่อน จึงตัดสินใจแยกตัวออกมาตั้งบริษัทใหม่ชื่อว่า "ร็อค ริเวอร์ อาร์ม" (Rock River Arms) ทำปืน 1911 ตาม ถนัดนี่แหละครับ ไม่ต้องทำจำนวนมากมาย แค่เดือนละไม่ถึงสิบกระบอกก็พอกินแล้ว เพราะเป็นปืนระดับสุดยอดจริงๆ ผลงานที่ออกสู่มือลูกค้าตั้งแต่กระบอกแรกก็เป็นที่ยอมรับว่าคุณภาพไม่เป็นรองใคร

อ่านแล้วอย่าเข้าใจผิดว่าสองพี่น้องลาร์สันทะเลาะกับ เลส เบเออร์ จนออกมาตั้งบริษัทร็อคริเวอร์อาร์มทำปืนขายแข่ง ทำนองดังแล้วแยกวงนะครับ น่าจะเป็นการจากกันด้วยดีมากกว่า เพราะสองพี่น้องลาร์สันรักที่จะเป็นช่างแต่งปืนโชว์ฝีมือไม่ชอบ เป็นเพียงส่วนประกอบตัวหนึ่งขององค์กรใหญ่ เดิมเคยทำงานกับแผนกแต่งปืนพิเศษหรือคัสตอม ช็อป (Custom shop) ของบริษัทสปริงฟิลด์ พอมีโอกาสทำงานในบริษัทเล็กกว่า คือ เลส เบเออร์ คัสตอม ก็ลาออกมา และเมื่อ เลส เบเออร์ โตขึ้นจนเกินระดับที่เขาพอใจ ก็แยกตัวออกมาอีกครั้ง อย่างน้อยก็ในล็อตแรกที่เข้ามาบ้านเรานี้นะครับ ปืนของ ร็อค ริเวอร์ มีรูปแบบในรายละเอียดเหมือน กับปืนของ เลส เบเออร์ หลายจุด เช่น การแกะลายหน้าด้ามหลังด้าม ลายกันลื่นบนลำเลื่อนแบบร่องแหลมเส้นละเอียด (ยี่ห้ออื่น แกะร่องเหลี่ยมเส้นใหญ่) แม้แต่ตัวแทน จำหน่ายในประเทศไทยก็เป็นเจ้าเดียวกัน คือ ห้างฯ ปืนประโยชน์ จะให้บอกว่าใครเลียนแบบใครคงยาก เพราะพี่น้องลาร์สันในฐานะหุ้นส่วนก่อตั้ง ย่อมมีโอกาสร่วมออกแบบปืนของ เลส เบเออร์ ด้วยเช่นกัน ห้างฯ ปืนประโยชน์ เสนอขายปืนของ ร็อค ริเวอร์ ไว้ 5 รุ่น ดังนี้นะครับ

1. เบสิก ลิมิเต็ด แมทช์ (Basic Limited Match) ปืนแข่งต่อสู้ ลำกล้อง 5 นิ้ว แกนสปริงสองท่อน ซองกระสุนแถวเดี่ยว แกะลายหน้าด้าม ศูนย์ปรับได้ ไก 3.5 ปอนด์
2. บูลส์อาย แว็ดคัทเตอร์ (Bullseye Wadcutter) สำหรับยิงเป้าโดยเฉพาะ ลำกล้อง 5 นิ้ว แกนสปริงสองท่อน ซองกระสุน แถวเดี่ยว ศูนย์ปรับได้แบบสะพานยาวตลอด ไก 2 1/2 ปอนด์
3. เอลีท คอมมานโด (Elite Commando) ปืนต่อสู้ ลำกล้อง 4 นิ้ว ศูนย์ โนแว็กส์ฝังหลอดเรืองแสง ซองกระสุนแถว เดี่ยว ไก 3.5 ปอนด์
4. ไฮ-แคพ เบสิก ลิมิเต็ด (Hi-Cap Basic Limited) ปืนแข่งต่อสู้ลูกดกโครงกว้าง (เอสทีไอ, เอสวีไอ หรือพาราฯ) ลำกล้อง 5 นิ้ว แกนสปริงสองท่อน ศูนย์ปรับได้ ไก 3.5 ปอนด์
5. สแตนดาร์ด แมทช์ (Standard Match) รุ่นคลาสสิก ลำกล้อง 5 นิ้ว ซองกระสุนแถวเดี่ยว ศูนย์ไฮนีย์ ไก 3.5 ปอนด์

กลุ่มกระสุน ของ ผอ.สุวิทย์ ห้าสิบ สี่เอ๊กซ์

สิ่งที่เหมือนกันทุกรุ่นคือ ลำเลื่อน/โครง ฟิตอย่างน้อยระดับปืนแข่งเนชั่นแนล แมทช์ (National Match ตัวย่อ NM) แกะลายบนลำเลื่อนแบบเส้นละเอียดทั้งหน้าหลัง ลำกล้องระดับยิงเป้าแข่งขันของคาร์ท (Kart NM-Grade) ทุกรุ่นรับประกันกลุ่มกระสุน 2.5 นิ้ว ที่ 50 หลา (ยกเว้นรุ่นลูกดก ที่ให้ตัวเลขมาเพียง 3 นิ้ว) และสำหรับรุ่นยิงเป้า (1 กับ 2) สั่งพิเศษให้ทำกลุ่ม 1.5 นิ้วได้ โลหะเป็นเหล็กรมดำหรือชุบฮาร์ดโครม

รุ่นที่ ห้างฯ ปืนประโยชน์ ส่งมาให้ทดสอบ เป็นรุ่นเบสิก ลิมิเต็ด แมทช์ ผิวฮาร์ดโครมครับ ตัวนี้ลูกค้าซื้อแล้ว ทางร้านแต่งไกไปบ้างแล้ว จากที่โรงงานกำหนด 3.5 ปอนด์ เราชั่งได้ 2.5 ปอนด์ รูปแบบของปืน เป็น 1911 แบบยิงเป้าสมัยใหม่ คือศูนย์ปรับได้ฝังลึก ศูนย์หน้าแบบลิ่มสอดขวางครับ หลังอ่อนหางยาวเจาะหลุมรับนกสับโปร่ง เพิ่มสันหนาให้ทำงานแน่นอนเมื่อกำด้าม ไกโปร่งแบบยิงเป้ามีสกรูปรับหยุดไก ห้ามไก ซ้าย-ขวา ลายที่แกะทั้งบนลำเลื่อนและหน้า/หลังด้ามเรียบร้อยไม่มีที่ติ ที่จริงก็คือ ปืนทั้งกระบอกครับ เรียบร้อยไม่มีที่ติจริงๆ ด้ามไม้สีเข้ม (Rosewood) สวยงามมาก โครงปืนยังเป็นแบบเดิม ไม่ใช่แบบเสริมยาวตลอด

ในด้านความแม่นยำเยี่ยมครับ ดูจากเป้าทดสอบที่เก็บมานี้ หลุดจากวงสิบนัดเดียว เป็นชุดที่ผู้พันสุพินท์ยิงแบบ "พอยท์แอนด์ชู้ต" (Point and Shoot) คือ ยกขึ้นถึงระดับก็ยิง ไม่ต้องเล็งปั้นกันให้เสียเวลา นอกจากนั้นสิบหมด อาจารย์วีระไม่ค่อยสบายผมยิงมือเดียวเปรียบเทียบกลุ่มแทบไม่ต่างจากที่ยิงสองมือ จุดนี้แสดงว่าไกดีมาก

ด้านการทำงาน มีบางนัดที่ลำเลื่อนเข้าไม่สุด แต่เพียงกดด้วยหัวแม่มือนิดเดียวก็เข้าครับ ไม่เชิงขัดลำ เข้าใจว่าเป็นผลจากการที่ทางร้านสั่งพิเศษให้ทำกลุ่มได้ 1.5 นิ้ว ลำเลื่อน/ลำกล้อง/บูชต้องฟิตแน่นกว่ามาตรฐาน "เนชั่นแนล แมทช์" ขึ้นไปอีกขั้น คาดว่าพ้นรันอิน (Run-in) สักสองร้อยนัด ควรจะทำงานเรียบร้อยดี

ลองถอดลำเลื่อนออกมาดูภายใน จุดนี้แหละครับที่จะวัดกันว่างานใครเรียบร้อยกว่ากัน ปืนร็อค ริเวอร์ กระบอกนี้แจ่มแจ๋วทั้งนอกทั้งใน ไม่มีอะไรต้องปกปิดหลบซ่อน ระบบการทำงานเป็น 1911 แบบเดิม แม้แต่ฐานห่วงโตงเตงก็ไม่ได้ปรับเป็นเหลี่ยม เหมือนที่ช่างแต่งปืนยิงเป้าทั้งหลายนิยมทำกันตามแบบโกลด์คัพใช้แบบโค้งตามปกติ ซึ่งช่วยให้จังหวะเข้าล็อกนุ่มนวลดีกว่า

กลุ่มของผู้พันสุพินท์ยิงแบบ "พอยท์แอนด์ชู้ต" (ยกขึ้นจับศูนย์ได้ก็ยิง) กับกลุ่มสวยๆ ของหมอจันทร์

สรุปสำหรับปืนกระบอกนี้นะครับ ใช้ได้ทั้งยิงเป้า 25 เมตร แบบปืนสั้นชาวบ้าน และแม่นพอจะพาดยิง 50 เมตร แข่งกับ คุณนที อุปถัมภ์ (คนแต่งไก) ได้สบาย และแน่นอนว่าลงแข่ง IPSC ในรุ่นลิมิเต็ดได้ด้วย ทางร้านตั้งราคาไว้ตั้งแต่กระบอกละแสนถ้วน (สแตนดาร์ด แมทช์ รมดำ) ไล่ขึ้นไปถึงแสนสาม (เบสิก ลิมิเต็ด ฮาร์ดโครม) สนใจติดต่อดูตัวจริงที่ ห้างฯ ปืนประโยชน์ ครับ ร้านอยู่ตรงข้ามคลองนาค ห้องแรกตึกใหม่ ซ้ายมือถ้ามาจากทางเสาชิงช้า นายห้างฯ ฝากบอกว่า ลีดไทม์ (Lead time - เวลาเผื่อรอของ) สำหรับร็อค ริเวอร์ ขณะนี้เก้าเดือนครับ สั่งเมื่อแต่งงานใหม่ๆ ได้ปืนพร้อมลูกคนโตพอดี.

นิตยสารอาวุธปืน ฉบับที่ 318 เมษายน 2544 มีวางจำหน่ายตามแผงหนังสือทั่วประเทศ

Copyright ©2000 www.gunsandgames.com Powered by eighteggs.com