สมิธฯ ซีเอส 45 ชีพสเปเชียล
ปืนสั้นออโตดับเบิลแบบซับคอมแพ็กอย่างแท้จริงของสมิธฯ

เมื่อบรรดานักนิยมปืนได้ยินคำว่า "ชีฟสเปเชียล" โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำว่า "สมิธฯ ชีฟ" ด้วยแล้ว แทบทุกท่านก็จะนึกมโนภาพมองเห็นปืนลูกโม่ลำกล้องสั้น ขนาด .38 สเปเชียล โครงเจ โม่บรรจุกระสุนได้ 5 นัด โมเดล 36 หรือโมเดล 60 ซึ่งถือเป็น ปืนลูกโม่ดับเบิลแอ๊คชั่นใช้กระสุนชนวนกลาง ขนาดเล็กกะทัดรัดที่สุดของสมิธแอนด์เวสสัน และเป็นคู่แข่งสำคัญของโคลท์ "ค็อบร่า" ที่ได้รับฉายาน่าเกรงขามว่า "เห่าไฟ" จากบรรดาผู้สนใจปืนของไทยมาก่อน และได้พัฒนามาเป็นโคลท์ ดีเทคตีฟ ในที่สุด จุดขายที่โรงงานคิดออกแบบทำปืนลักษณะนี้ขึ้นมาก็เพื่อวัตถุประสงค์ให้พกพา ติดตัวได้สะดวกและปกปิดได้มิดชิดเป็นหลัก แต่นักนิยมปืนของไทยรุ่นก่อนๆกลับมองว่า เหมือนอสรพิษร้ายหลบซ่อนตัวอยู่ พร้อมที่จะฉกกัดเมื่อใดก็ได้ ก็เลยตั้งชื่อเสียจนน่ากลัวเหมือนกับว่าเป็นปืนที่อานุภาพร้ายแรงอะไรปานนั้น พลอยทำเอาผู้ฟังจำนวนไม่น้อยพากันคอย่นหัวหดไปได้พอสมควร เหมือนกันครับ

รูปด้านซ้ายของ ซีเอส 45 กับ แม็กกาซีนอะไหล่

แม้ว่าปืนลูกโม่แบบ "เห่าไฟ" จะเริ่มต้นมาจากปืนลูกโม่ลำกล้องสั้นโครงดี (D Frame) ของโคลท์ แต่ปืนลูกโม่รูปร่างประเภทเดียวกันของสมิธแอนด์เวสสันนั้นคนที่ไม่ใช่ นักเล่นปืนจริงๆ (คือชอบหยิบปืนมาเล่น) ก็เหมาเอาว่าเป็นปืนแบบเดียวกัน ปืนลูกโม่ "ชีฟสเปเชียล" ของสมิธฯจึงพลอยเรียกว่า เป็นรุ่น "เห่าไฟ" เข้าไปด้วย แม้ว่ารูปร่าง รายละเอียดจะไม่เหมือนกัน และโม่ของโคลท์ บรรจุ 6 นัด ในขณะที่โม่ของสมิธฯบรรจุ ได้ 5 นัดก็ตาม แต่เมื่อคิดดูให้ดี การเรียกปืนลูกโม่ลำกล้องสั้น (ลำกล้อง 2 นิ้ว) ว่าเป็นปืน "เห่าไฟ" ก็มีเหตุผลสมควรอยู่ไม่น้อย เพราะปืนแบบนี้เมื่อยิงในยามค่ำมืดหรือ มีแสงน้อยย่อมมีเปลวไฟที่ปากกระบอกแลบยาวเห็นเด่นชัดกว่าปืนลำกล้องยาวกว่าเป็นธรรมดา แสดงว่ายิงหรือ "เห่า" ทีไร ก็เห่าเป็น "ไฟ" ออกมาทุกที เท็จจริงอย่างไรผู้เขียนไม่ยืนยันครับ อย่างไรก็ตามคำที่ใช้เรียกขานสิ่งใดๆ ย่อมเลิกราหรือลบเลือนไปตามกาลสมัย ดังนั้น ปืนลูกโม่ ลำกล้องสั้นแบบดับเบิลแอ๊คชั่นอย่าง "สปีด ซิกส์" ของรูเกอร์ที่ออกมาภายหลัง จึงไม่เห็นมีใครเรียกว่า "เห่าไฟ" รวมเข้าไปด้วย ทั้งๆที่เมื่อเห่าครั้งใดก็เป็นไฟไม่แพ้กันครับ

ด้านซ้ายลำเลื่อนมีอักษร Chiefs Special ตีตราบอกชื่อรุ่น ส่วนที่โครงปืนเหนือโกร่งไกมีอักษร MOD. CS 45 กับซีเรียลนัมเบอร์จากโรงงาน
  สันบนลำเลื่อนแบนราบ หักมุมสามด้าน ช่องคายปลอกเปิดกว้าง และศูนย์หน้าเสียบร่องขวางปลายลำเลื่อน

เมื่อความนิยมปืนลูกโม่ของสมิธแอนด์เวสสันในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งขึ้นมาเทียบกับปืนลูกโม่ของโคลท์ ที่ตั้งหลักปักฐานมั่นคงมาก่อน ขนาดคนทั่วไป นึกถึงปืนเมื่อไรเป็นต้องนึกถึงโคลท์อยู่ร่ำไป จึงเป็นที่มาของคำที่ใช้เรียกปืนเถื่อนทำเองว่า "คอลท์ตราควาย" เพราะของแท้ดั้งเดิมมีตรา "ม้า" อยู่แล้ว เมื่อปืนลูกโม่ของสมิธฯ เริ่มติดตลาดเมืองไทยก็มีคำที่ใช้เรียกปืนลูกโม่ โดยทั่วไปว่า "คอลท์สมิธฯ" แทนคำว่าปืนลูกโม่สมิธฯ ก็มีครับ จวบจนกระทั่งปืนลูกโม่ของสมิธแอนด์เวสสันได้รับความนิยมมากเช่นในปัจจุบัน คำที่เกี่ยวกับปืนลูกโม่เหล่านั้นจึงค่อยเลือนหายไป แต่มีคำว่า "สมิธฯ ชีฟ" เข้ามาแทนครับ ซึ่งก็สื่อความหมายตรงกับความจริงมาก เพราะปืนลูกโม่ของสมิธฯ โมเดลที่มีรูปร่างเหมือนกับ "เห่าไฟ" ในตอนแรก ก็คือ โมเดล 36 หรือ "ชีฟสเปเชียล" นี่แหละครับ ต่อมาจึงมีแยกย่อยเป็นหลายโมเดลอย่างที่เราๆ ท่านๆทราบกันอยู่แล้ว

ศูนย์หลังแบบโนแว็กส์ ทรงเตี้ย มีจุดขาว 2 จุด นกสับปาดเสมอท้ายลำเลื่อน บูชลำกล้องค่อนข้างหนา ติดตายกับปลายลำเลื่อน

ครั้นเมื่อความนิยมปืนลูกโม่อยู่ตัว และนักนิยมปืนหันมาให้ความสนใจต่อปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติ หรือเรียกง่ายๆว่าปืนสั้นออโตเพิ่มขึ้น จนกระทั่งเฟื่องฟูมาถึงทุกวันนี้ ปืนสั้นออโตโครงร่างเล็กกะทัดรัด แต่ยังคงใช้กระสุนขนาดเดียวกับปืนโครงขนาดมาตรฐาน เพียงแต่ย่อส่วนตัวปืนลงมาก็ได้รับความนิยม เช่นเดียวกับปืนลูกโม่ประเภท "เห่าไฟ" แต่กลับเรียกว่าปืนแบบ "คอมแพ็ก" หรือ "ซับคอมแพ็ก" ทับศัพท์ลงไปเลย ทั้งๆที่ก็เห่าเป็นไฟไม่แตกต่างกันครับ และความหมายของคำว่า "คอมแพ็ก" และ "ซับคอมแพ็ก" เมื่อใช้กับปืนสั้นออโตทุกคนก็เข้าใจความหมายดีว่า มันคือปืนที่มีขนาดเล็กกะทัดรัดกว่าปืนเต็มมาตรฐานและเมื่อมีขนาดเล็กกะทัดรัดลงไปอีก จึงเรียกว่า "ซับคอมแพ็ก" แบบหลังนี้ส่วนใหญ่มีลำกล้องยาวตั้งแต่ 3.5 นิ้วลงไปครับ บริษัทสมิธแอนด์เวสสันเองมีปืนสั้น ออโตประเภทนี้อยู่หลายโมเดลเหมือนกัน แต่ไม่ได้ตั้งชื่อโมเดลพร้อมหมายเลข 2 ตัว เหมือนเมื่อก่อน หากเปลี่ยนมาใช้รหัสเลข 3 ตัวบอกโมเดลให้กับปืนสั้นทั้งลูกโม่และออโต ในชุด "เซกันด์ เจนเนอเรชั่น" และปัจจุบันก็ใช้เลขรหัส 4 ตัว สำหรับปืนออโตในชุด "เธิร์ด เจนเนอเรชั่น" เต็มไปหมด เมื่อก่อนนั้นใครที่ภูมิใจตัวเองหนักหนาว่า จำโมเดล ปืนสั้นของสมิธแอนด์เวสสันได้ทั้งหมด (ผู้เขียนคนหนึ่งละครับ) ถึงยุคนี้พอมีคนถามขึ้นมา ก็คงทำตาปริบๆ นึกออกมั่งไม่ออกมั่งครับ เผลอๆเข้าทราบว่ามีคนจะถามต้องเตรียมพลิกตำราไว้ก่อนละครับ

ร่องจับกันลื่น บากลึกตอนบน ส่วนล่างตื้นยาวไม่ตลอดความกว้างของลำเลื่อน นกสับไร้หงอนแบบปืนดับเบิลทุกนัด ภาพนี้ง้างสุดในจังหวะซิงเกิล

ผู้เขียนเชื่อว่า ผู้ที่ตั้งระบบเลขรหัส โมเดลของปืนสั้นของสมิธฯเองก็คงมีปัญหาไม่ต่างกันเท่าไหร่หรอกครับ และคงจะพิจารณาเห็นว่าควรจะปรับปรุงระบบรหัสโมเดลให้ง่ายขึ้น ปืนสั้นออโตรุ่นที่ปรับปรุงออกมา ครั้งหลังๆ จึงมีการเพิ่มอักษรสื่อความหมายเข้าไปแทนการเพิ่มตัวเลข ดังนั้น ปืนออโตแบบ ซับคอมแพ็กรุ่นล่าสุดของสมิธแอนด์เวสสันจึงใช้อักษรย่อประกอบกับตัวเลขเป็นรหัสบอกโมเดล พร้อมนำเอาชื่อโมเดลเดิมๆที่ให้ความหมาย จนเป็นที่เข้าใจกันดีในหมู่ผู้ใช้ปืนกลับมาใช้อีก ปืนสั้นออโตที่ว่านี้คือปืนชุดชีฟสเปเชียล ที่ผู้เขียนกำลังจะนำเสนอต่อท่านผู้อ่านในฉบับนี้นั่นเองครับ เพราะฉะนั้นนับตั้งแต่นี้ไปถ้าได้ยินคำว่า "ชีฟ สเปเชียล" ไม่ได้หมายถึงปืนลูกโม่ โครงเจ ขนาดเล็กกะทัดรัดของสมิธฯ แต่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไปแล้วครับ ลักษณะรูปร่างของปืนออโตของสมิธแอนด์เวสสันในชุดชีฟสเปเชียล ไม่ใช่เป็นการนำเอาปืนประเภทคอมแพ็กที่มีอยู่ก่อนมา ประทับตราเปลี่ยนชื่อโมเดลเป็นชีฟสเปเชียล เอาง่ายๆอย่างนั้นหรอกครับ มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงขึ้นมาพอสมควร ดังได้เห็นในรายงานการทดสอบปืนสมิธแอนด์เวสสัน รุ่น ซีเอส 9 โดย อ๊อด บ้านโป่ง ในนิตยสารอาวุธปืน ฉบับที่ 303 มกราคม 2543 คือ เมื่อหนึ่งปีมาแล้ว โดยรุ่นนั้นใช้กระสุน 9 มม. แต่ปืนรุ่นที่ผู้เขียนกำลังนำเสนออยู่นี้เป็นรุ่น ซีเอส 45 ใช้กระสุน .45 เอซีพี หรือ 11 มม. โดยภาพรวมแล้ว ปืนทั้งสองรุ่นนี้ (ความจริงมีรุ่นซีเอส 40 อีกรุ่นหนึ่งในชุดชีฟสเปเชียล) ไม่มีความแตกต่างกัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเหมือนกันทั้งหมดเลยครับ รายละเอียดปลีกย่อยบางอย่างผู้เขียนอาจจะไม่กล่าวแบบฉายหนังซ้ำให้เปลืองหน้ากระดาษ และเสียเวลาท่านผู้อ่าน แต่จะพยายามชี้ให้เห็นบางจุดที่แตกต่างกันมากกว่า

แก้มด้ามเป็นยางนุ่ม แบบใหม่สองชิ้น ประกบกันหุ้มหลังด้าม แม็กกาซีนแถวเดี่ยวบรรจุ 6 นัด ตัวแม็กฯเป็นสเตนเลสส์ ฐานพลาสติกดำ

เนื่องจากสมิธฯ ซีเอส 45 เป็นปืนออโตประเภทซับคอมแพ็กเต็มตัว เพราะมีลำกล้องยาว 3.25 นิ้ว แต่ใช้กระสุนขนาด .45 ออโต รูปร่างค่อนข้างอ้วนป่องกลาง หลังด้ามงอนโค้งเหมือนบราวนิงฮังการีและเจริโค 941 เอฟบีกลายๆ เลยทำให้แลดูปุ้มปุ้ยเหมือนไม่คล่องตัวนัก แต่เมื่อพิจารณาดูให้ดี จะมองออกว่าสมดุลน้ำหนักของปืนอยู่ตรงกลางๆ ซึ่งทำให้คล่องตัวมากครับ ทางปากกระบอกลบเหลี่ยมกลมมน ชักเข้าออกซองปืนได้คล่องแคล่ว ไม่ขูดหรือกัดผิวภายในซองปืน ด้านบนลำเลื่อนปาดเรียบตามยาว ทำให้แลดูเป็นทรงสามเหลี่ยม แต่ประโยชน์ที่สำคัญก็คือทำให้ติดศูนย์ทรงต่ำได้ดี ช่องคายปลอกเปิดกว้างจนเกือบโล่ง จึงไม่มีปัญหาเรื่องดีดปลอกเปล่าที่ยิงไปแล้วครับ ท้ายลำเลื่อนปาดเฉียงตรงๆเสมอกับนกสับไร้หงอนพอดี ที่แปลกตากว่าปืนออโตแบบอื่นๆของ สมิธฯเองก็คือร่องบากค้างลำเลื่อนเป็นรูปสามเหลี่ยมยาวแหลมมาก โครงปืนทำด้วยอะลูมินั่มผสมชุบขาวเพื่อให้เข้ากับลำเลื่อนเหล็กสเตนเลสส์ โครงปืนส่วนหน้ายาวเกือบเท่าปลายลำเลื่อน โกร่งไกทำรูปร่างเหมือนกับปืนชุดแท็กทิคอล ของสมิธฯเอง ที่โครงปืนเหนือโกร่งไกปาดเหลี่ยมมุมออกได้สวยงาม ที่แตกต่างจากปืนออโตของสมิธแอนด์เวสสันทั่วไป โดยเฉพาะ รุ่น "เธิร์ด เจนเนอเรชั่น" ก็คือ ด้ามปืนแทนที่จะเป็นพลาสติกแข็งชิ้นเดียวหุ้มหลังยึดไว้ด้วยสลักที่ส้นด้าม กลับเป็นด้ามยางค่อนข้างนุ่มแต่ผิวสากสีดำสองชิ้นประกบกัน แต่หุ้มหลังด้ามยึดไว้ด้วยสกรูด้ามข้างละตัว ค่อนลงไปทางส้นด้ามคล้ายกับเจริโค 941 เอฟบีมาก เนื่องจากด้ามจับค่อนข้างสั้น จึงทำฐานแม็กกาซีนซึ่งเป็นพลาสติกสีดำให้มีลักษณะต่อด้ามยาวต่อไปให้จับได้ถนัด

ผู้เขียนยืนยิงระยะประมาณ 10-12 เมตร เมื่อกระสุนลั่น ปืนขยับจากมือซ้าย ที่ช่วยประคองปืนไปเล็กน้อย อาการแบบนี้เกิดขึ้น กับนักยิงปืนทุกคนโดยสังเกตไม่ได้ เป้าของผู้เขียนยิงด้วยกระสุน 3 ชนิด จากซ้ายกระสุนเรมิงตัน บุลเล็ทฯ และฟิอ็อกกี้ ตามลำดับ

ส่วนที่ต่างไปจากปืนซีเอส 9 อย่างเห็นได้ชัดคือปลายลำกล้องของซีเอส 45 ไม่เป็นแบบหัวโตคอคอดเหมือนกับซีเอส 9 แต่ยังคงเป็นทรงกระบอกตรงๆครับ และที่ต่างและแปลกออกไปอีกก็ตรงที่ด้านบนของ ลำกล้องไม่มีสันล็อกกับลำเลื่อนอยู่หน้ารังเพลิงเหมือนแบบฉบับเดิม อย่างที่ปรากฏในปืนออโตรุ่นอื่นๆของสมิธฯ แต่ไปใช้ระบบเดียวกันกับของ ซิก-เซาเออร์ กล็อก หรือเอชเค ยูเอสพี เป็นต้น นอกจากนี้แล้ว ส่วนอื่นๆก็เหมือนกับปืนสั้นออโตดับเบิลแอ๊คชั่นของสมิธแอนด์เวสสันตามปกติทั่วไป เพียงแต่นกสับทำให้แลดูเหมือนปืนดับเบิลแอ๊คชั่นโอนลี่เท่านั้น สิ่งหนึ่งที่ทำให้ปืนดูสะดุดตาก็คือการตัดสีกันระหว่างสีดำกับสีขาวของสเตนเลสส์ ซึ่งเป็นชิ้นส่วนหลักๆของปืน สีดำที่เด่นชัดคือด้ามยางกับฐานแม็กกาซีน ต่อไปก็มี ไกปืน สลักยึด หรือแกนไก นกสับและปุ่มปลดแม็กกาซีนช่วยแต่งแต้มสีสันเพิ่มขึ้นอีกพอสมควรครับ

เป้าซ้ายของอาจารย์วีระ ส่วนเป้าขวาของ ดร.ผณิศวร ใช้กระสุนคนละชนิด เป้าซ้ายของ ท.พ.จันทร์ ใช้กระสุนบุลเล็ทฯ เป้าขวาของ ดร.ผณิศวร ใช้กระสุนฟิอ็อกกี้

ปืนดูดีแต่ยิงไม่ค่อยดี กับปืนดูดีแล้ว ก็ยิงดีมีอยู่ก้ำกึ่งกันและปืนดูไม่ค่อยดีแต่ยิงดีก็มีไม่มาก ส่วนซีเอส 45 ดูว่าดีหรือไม่ดีก็อยู่ที่ตาใครตามันครับ ผู้เขียนเองก็เห็นว่าอะไรๆก็ดูดี แต่เป็นปืนกระบอกเล็กยิงลูกโตๆ ก็ให้นึกหวั่นๆอยู่ในส่วนลึก แต่การจับด้ามได้ค่อนข้างถนัดและมั่นคงสำหรับมือผู้เขียน ทำให้รู้สึกผ่อนคลายลงได้มาก พอยิงนัดแรกออกไปความรู้สึกก็เข้าสู่ภาวะปกติ จึงทำกลุ่มได้ดี แต่พอจะยิงลูกฟิอ็อกกี้เมเจอร์ (+พี) ก็รู้สึกไม่ค่อยมั่นใจนัก แถมกำปืนแน่นไปนิด เพื่อรับมือแรงรีคอยล์ กลุ่มก็เลยบานไปหน่อย ทั้งๆที่แรงรีคอยล์เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย เกือบจะไม่รู้สึกก็ว่าได้ครับ ผู้เขียนไม่อยากจะเชื่อก็ต้องเชื่อว่า การดูดซับแรงรีคอยล์ให้อยู่ในระดับปกติธรรมดาของด้ามยางจากโรงงานที่ติดมากับปืน จะมีประสิทธิภาพใช้งานได้ผลมากขนาดนี้ ปืนคอมแพ็กบางยี่ห้อ ด้ามพลาสติก (ไม่ใช่โครงพลาสติก) ใช้กระสุนขนาดนี้ยิงไปไม่ถึง 20 นัด ผู้เขียนรู้สึกเจ็บง่ามมือพอสมควร ไม่เหมือนสมิธฯ ซีเอส 45 เจ้ายักษ์แคระกระบอกนี้ครับ

น.ท.สุรพลยิงด้วยกระสุนเรมิงตัน ที่ปืนกระบอกนี้ชอบน้อยกว่าเพื่อน เป้าซ้ายของ ผอ.สุวิทย์ เป้าขวาของ พ.ท. สุพินท์

ห้างฯ สิงห์ทองไฟร์อาร์ม ส่งเข้าทดสอบเป็นการเฉลิมฉลองตรุษจีนปีนี้ หลังจากฉลองเปิดที่ทำการห้างฯใหม่เป็นการส่งท้ายปีเก่า พร้อมกับต้อนรับปีใหม่ 2544 มาแล้ว หากท่านใดต้องการติดต่อกับห้างฯ ขอเชิญได้ที่เลขที่ 1 ถนนอุณากรรณ เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200 หรือ โทร. 22 45 357 (อัตโนมัติ) โทรสาร : 22 45 222 ยังบริการดีเช่นเคยครับ.

นิตยสารอาวุธปืน ฉบับที่ 316 กุมภาพันธ์ 2544 มีวางจำหน่ายตามแผงหนังสือทั่วประเทศ

Copyright ©2000 www.gunsandgames.com Powered by eighteggs.com