นิวโมเดล แบล็กฮอว์ก
ขนาด .357 แม็กนั่ม เปลี่ยนโม่ 9 มม. พาราฯได้
ครึ่งศตวรรษแห่งความภูมิใจของรูเกอร์

ไม่รู้ว่าผมได้กลายเป็นผู้ที่หลงเสน่ห์ แห่งความเป็นอยู่แบบตะวันตกประเภทขี่ม้า ยิงปืนของสหรัฐฯ ตั้งแต่เมื่อใด แต่รู้ตัวอีกครั้งก็ถอนตัวไม่ขึ้นเสียแล้ว ผมเป็นผู้หนึ่งที่พยายามสะสมภาพยนตร์ประเภทนี้ เท่าที่หาได้ในประเทศไทยมาครอบครองไว้ เพื่อศึกษาวิถีชีวิตของโคบาลที่มุ่งตะวันตกตามนโยบายอาณาเขตครอบครองของ ประธานาธิบดี โธมัส เจ็ฟเฟอร์สัน ความเหน็ดเหนื่อยแบบเหงื่อตกกีบและความบึกบึน เป็นบุคลิกของโคบาลผู้ที่ต้องต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอดจากภัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติหรือชนพื้นเมือง รวมทั้งจากพวกเดียวกันเองที่ขัดแย้งกันและต้องตัดสินกันด้วยอาวุธ ภาพของนักเลงปืนในสมัยนั้น ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายดีอย่าง ไวเอ็ท เอิร์บ, ด็อก ฮอลิเดย์ หรือฝ่ายร้ายอย่างบิลลี เดอะ คิด หรือฝ่ายกึ่งดีกึ่งร้ายอย่างเจสซี่ เจมส์ ยังฝังอยู่ในความทรงจำเสมอมา

รูเกอร์ นิวโมเดล แบล็กฮอว์ก ขนาด .357 แม็กนั่ม มีโม่ขนาด 9 มม.พาราฯ เปลี่ยนยิงได้

ในทัศนะของผม อาวุธที่พวกโคบาลเหล่านี้ใช้กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปืนสั้นมีเสน่ห์ ยิ่งทั้งในด้านรูปร่างและวิธีใช้ พวกเขาต้องง้างนกยิงทีละนัด ต้องคัดปลอกกระสุนที่ยิงแล้วออกทีละนัด การต่อสู้กันด้วยปืนก็กระทำกันอย่างสุภาพบุรุษ ยืนยิงกันต่อหน้า ไม่มีประเภท "เล่นทีเผลอ" หรือ "แทงกันข้างหลัง"

ในระยะแรกๆ ปืนที่เป็นเพื่อนคู่ใจคู่กายชาวโคบาล และถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การสร้างชาติของชาวสหรัฐฯ ก็มีเพียงยี่ห้อหนึ่งหรือสองยี่ห้อเท่านั้น แต่ต่อมาในระยะหลังมีผู้คนนิยมปืนประเภทนี้เพิ่มขึ้น จึงมีตัวเลือกใหม่ๆ เข้ามาเสนอให้ผู้นิยมปืนเลือกใช้ ในตลาดปืนประเภทซิงเกิลแอ๊คชั่นแบบโคบาลไม่ได้มีเฉพาะโคลท์ ซิงเกิลแอ๊คชั่น อาร์มี อย่างเดียวอีกต่อไป แต่มีปืนอื่นๆ ที่มีคุณภาพและคงเอกลักษณ์ของปืนโคบาลไว้อย่างครบครันให้เลือกอีกมาก

ปุ่มล็อกแกนโม่ใช้กดลงเวลาจะถอดโม่

รูเกอร์ ก็เป็นผู้ผลิตปืนซิงเกิลแอ๊คชั่นรายหนึ่ง ที่เสนอทางเลือกให้กับชาวปืนในการครอบครองปืนซิงเกิลแอ๊คชั่น นอกเหนือจากปืน "แบรนด์เนม" สำคัญ 2-3 ยี่ห้อที่กล่าวมา รูเกอร์เริ่มต้นผลิตปืนซิงเกิลแอ๊คชั่นครั้งแรก เมื่อ ค.ศ.1953 ใช้ชื่อรุ่นว่า "ซิงเกิลซิกส์" เป็นปืนขนาด .22 ในอีก 2 ปีต่อมาก็ได้ผลิตปืน "แบล็กฮอว์ก" ขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการพวกชอบความรุนแรง เพราะแบล็กฮอว์กไม่ใช้กระสุนขนาดเล็กๆ อย่างลูกกรดอีกต่อไป แต่ใช้กระสุนมหาโหดขนาด .357 แม็กนั่มแทน

ในขณะนั้นต้องนับว่ารูเกอร์เป็นผู้มีโลกทัศน์กว้างไกล เพราะพวกเขามองเห็นว่า ปืนซิงเกิลแอ๊คชั่นในขณะนั้นมีแต่ประเภทศูนย์ตายตามแบบอย่างโคลท์ซิงเกิลแอ๊คชั่น อาร์มี ฉะนั้นปืนใหม่ของรูเกอร์จึงติดศูนย์หลังแบบปรับได้ 4 ทิศทางมาให้ นอกจากนั้น ยังออกแบบศูนย์หน้าเสียใหม่ เป็นแบบสามเหลี่ยมตั้งอยู่บนฐานทรงสูง (PATRIDGE) เพื่ออำนวยความสะดวกในการเล็งได้ดียิ่งขึ้น เพราะศูนย์แบบเดิมเป็นแบบกระโดงปลาที่ทรงเตี้ยๆ ทำให้ไม่เห็นเด่นชัด

สกรูถอดโครงปืน มีด้านล่างตรงหลังโกร่งไก่ 3 ตัว และใต้นกสับอีก 2 ตัว

นอกจากศูนย์ปรับได้แล้ว ปืนซิงเกิลแอ๊คชั่นของรูเกอร์ยังมีความยาวลำกล้องให้ เลือกหลายขนาด ตั้งแต่ 4 5/8 นิ้ว ไปจนถึง 7 1/2 นิ้ว นอกจากนั้นยังได้ออกแบบปืนที่ใช้ กระสุนต่างๆกันหลายแบบ เช่น ขนาด .45 ลองโคลท์ตามแบบดั้งเดิม หรือขนาด .30 คาร์ไบน์ หรือ .357 แม็กนั่ม เป็นต้น นอกเหนือจากขนาดลูกกรดที่มีอยู่เดิมแล้ว

ในปี ค.ศ. 1973 ทางโรงงานรูเกอร์ได้บรรจุระบบทรานสเฟอบาร์เข้าไปใน ปืนลูกโม่ของตัวเองทุกรุ่นเพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้ตัวปืน พร้อมทั้งได้ปรับปรุงระบบ หมุนโม่โดยติดตั้งกลไกเชื่อมกับประตูโม่ (loading gate) เมื่อเปิดประตูโม่จะทำให้โม่ หมุนอย่างอิสระ ไม่ต้องง้างนกแบบฮาล์ฟค็อก เช่นที่เคยมีมาในปืนรุ่นก่อนๆ สำหรับปืน ซิงเกิลแอ๊คชั่นนั้น รูเกอร์เขาเรียกปืนที่ได้รับการปรับปรุงดังกล่าวนี้ว่ารุ่น "นิวโมเดล" การ ที่เราจะดูว่ากระบอกใดเป็นปืนรุ่นนิวโมเดลหรือไม่นั้น ขอให้ดูที่สลักบนโครงปืน ถ้าเป็น รุ่นเก่าจะมี 3 สลัก ซึ่งเป็นรุ่นที่ผลิตระหว่าง ปี ค.ศ.1953-1972 ยังไม่ได้รับการปรับปรุง ส่วนรุ่นนิวโมเดลนั้นจะมีเพียงสลักเพียง 2 ตัว ซึ่งแสดงว่าเป็นปืนที่ผลิตตั้งแต่ปี ค.ศ. 1973 จนกระทั่งปัจจุบัน

การถอดโม่ให้กดปุ่มล็อกแกนโม่ และนำโม่ออกทางขวาของโครงปืน

นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1953 รูเกอร์ผลิตปืนซิงเกิลแอ๊คชั่นมาอย่างต่อเนื่องและหลายแบบ ได้แก่ รุ่นวาเคโร และรุ่นบิสลีย์ ที่เป็นแบบศูนย์ตาย ส่วนในแบบศูนย์ปรับได้ก็มีรุ่นแบล็กฮอว์ก, ซูเปอร์แบล็กฮอว์ก, ซิงเกิลซิกส์ และซูเปอร์ซิงเกิลซิกส์ ปืนรุ่นวาเคโรมีแบบที่ใช้กระสุนขนาด .357 แม็กนั่ม, .44-40, .44 แม็กนั่ม และ .45 ลองโคลท์ ปืนรุ่นแบล็กฮอว์กมีแบบที่ใช้กระสุน .30 คาร์ไบน์ .357 แม็กนั่ม และ .45 ลองโคลท์ ปืนรุ่นซูเปอร์แบล็กฮอว์ก ใช้กระสุนขนาด .44 แม็กนั่มแบบเดียว ปืนรุ่นซิงเกิลซิกส์และซูเปอร์ ซิงเกิลซิกส์ ใช้กระสุนขนาด .22 แอลอาร์ ในจำนวนปืนซิงเกิลแอ๊คชั่นของรูเกอร์ที่กล่าวมานั้น มีปืนประเภทที่มีโม่ 2 โม่ ใช้เปลี่ยนยิงได้ในปืนกระบอกเดียวกันหรือฝรั่งเรียกว่า คอนเวิร์ตทิเบิล (CONVERTIBLE) ได้แก่ รุ่นแบล็กฮอว์กที่มีโม่ขนาด .357 แม็กนั่ม และขนาด 9 มม.พาราฯ รุ่นซิงเกิล-ซิกส์และซูเปอร์ซิงเกิลซิกส์ที่มีโม่ขนาด .22 แอลอาร์ และ .22 แม็กนั่ม เปลี่ยนยิงกันได้ ปืนประเภทคอนเวิร์ตทิเบิลนี้ใช้หลักการว่า ต้องเป็นกระสุนที่มีหน้าตัดของกระสุนใกล้เคียงกัน เพราะจะได้ไม่มีปัญหาในเรื่องลำกล้องปืนที่จะต้องใช้ร่วมกัน สำหรับในบ้านเรานั้น เนื่องจากข้อจำกัดในเรื่องกระสุนปืน จึงทำให้ปืนแบล็กฮอว์กดูจะได้รับความนิยม มากกว่า เนื่องจากใช้กระสุนที่หาง่าย ทุกวันนี้ปืนแบล็กฮอว์ก หรือ "เหยี่ยวดำ" ยืนยงมาได้เกือบครึ่งศตวรรษ นับว่าไม่ได้มาด้วยโชคช่วย ในปัจจุบันแบล็กฮอว์กมีลำกล้องให้เลือก 3 ขนาด คือ ยาว 4 5/8 นิ้ว, 6 1/2 นิ้ว และ 7 1/2 นิ้ว และใช้กระสุนต่างๆกัน ตามที่กล่าวมาแล้ว


สปริงนกสับเป็นแบบสปริงตัวหนอน
แขนผลักโม่เป็นกลไกที่ทำให้โม่หมุนไปขณะง้างนก

สำหรับปืนแบล็กฮอว์กกระบอกที่ได้รับมายิงทดสอบในครั้งนี้เป็นปืนที่ใช้กระสุนขนาด .357 แม็กนั่ม ลำกล้องยาว 4 5/8 นิ้ว ที่มีลักษณะพิเศษคือ สามารถเปลี่ยนโม่ เป็นโม่ที่ใช้กระสุนขนาด 9 มม. พาราฯ ได้ เนื่องจากขั้นตอนการเปลี่ยนโม่ของรูเกอร์มีความเรียบง่าย กล่าวคือเพียงเปิดประตูโม่ จากนั้นกดสลักยึดแกนโม่ลง และดึงแกนโม่ออกด้านหน้าโม่ เท่านี้ก็สามารถนำโม่ออกทางด้านขวาของตัวปืนได้แล้ว ตรงนี้สิ่งพิเศษที่รูเกอร์เขาทำไว้ก็คือ แกนโม่จะไม่หลุดออกจากโครงปืน คือ จะวางตัวคาอยู่ที่ด้านหน้าโม่ รูเกอร์จึงถือโอกาสนี้ทำโม่ออกมาเพื่อให้สามารถยิงกระสุน 2 ชนิดได้ในปืนกระบอกเดียวกัน ปืนในลักษณะนี้เหมาะกับผู้มีหลายๆ กระบอก ทั้งปืนออโตที่ใช้กระสุนขนาด 9 มม. พาราฯ และปืนลูกโม่ที่ใช้ลูก .357 แม็กนั่ม เพราะสามารถแลกเปลี่ยนกระสุนใช้กันได้ ผู้ที่รักการผจญภัยและเดินทางไปยังที่ต่างๆ ในแบบหมู่คณะ หากแต่ละคนมีปืนพกที่แตกต่างกัน และเมื่อมีปัญหาในเรื่องกระสุนก็จะเกิดความยากลำบากขึ้น หากเป็นปืนที่ใช้กระสุนเพียงแบบเดียว ในขณะที่ปืนแบบ 2 โม่ 2 ขนาด ก็จะสามารถใช้กระสุนได้สองแบบ จึงมีความอ่อนตัวมากในการใช้ปืน


โปรดสังเกตสปริงนกสับขณะง้างนก เวลาจะถอดสปริงนกสับให้สอดโลหะเข้าไป ในรูด้านล่างของแกนสปริงนกสับ เพื่อไม่ให้ สปริงดีดตัว ตีนผี ด้านล่างโครงโม่ทำหน้าที่ล็อกโม่

ข้อดีประการหนึ่งของปืนรูเกอร์ ซิงเกิลแอ๊คชั่นแบบ 2 โม่กระบอกนี้ก็คือ หาก เปลี่ยนโม่ไปใช้กระสุนของปืนออโตแบบ 9 มม.พาราฯ ซึ่งไม่มีจานท้ายปลอก ก็ไม่ต้อง ยุ่งยากที่จะต้องใช้ฟูลมูนคลิพเพื่อรัดจานท้ายปลอกกระสุนเข้าด้วยกัน รูเกอร์เขาคำนึงถึง ปัญหานี้จึงออกแบบช่องโม่ให้มีบ่าสำหรับรับปลายปลอกกระสุนได้พอดี เพื่อป้องกันไม่ให้ กระสุนผลุบลงไปในช่องโม่ นอกจากนั้น เพื่อ ป้องกันการสับสนและการพลั้งเผลอนำ กระสุนขนาดหนึ่งไปใช้กับโม่ที่ใช้กระสุนอีกขนาดหนึ่ง รูเกอร์เขาทำโม่ไว้เหมาะพอดี นั่นก็คือ โม่ที่ใช้กระสุนขนาด .357 จะไม่ สามารถนำลูก 9 มม. พาราฯ ใส่เข้าไปได้ เพราะเขาทำช่องโม่ด้านในไว้พอดีกับปลอกของลูก .357 แม็กนั่ม ในขณะที่โม่ที่ใช้กระสุนขนาด 9 มม. พาราฯ ก็ไม่สามารถนำ ลูก .357 แม็กนั่มไปใส่ได้ในลักษณะเดียวกัน ทีนี้ก็มีคนหัวใสคิดดัดแปลงจะนำกระสุนขนาดต่างๆที่มีหน้าตัดหัวกระสุนใกล้เคียงกัน มาใส่เพื่อยิงได้ ซึ่งผู้ทดสอบก็ได้ทดลองแล้ว ปรากฏว่าโม่ที่ใช้กระสุนขนาด .357 แม็กนั่ม สามารถใช้ลูก .38 สเปเชียลยิงได้ ส่วนลูกขนาดอื่นๆ ได้แก่ ลูก .38 ซูเปอร์ และลูก .380 เอซีพี ไม่สามารถใช้ได้ เนื่องจากลูก .38 ซูเปอร์ จะไม่จมลงในช่องโม่จนหมดทั้งปลอก ในขณะที่ลูก .380 เอซีพีหรือ 9 มม. สั้น ก็จะจมลงไปในโม่มากเกินไป จนกระทั่ง เข็มแทงชนวนกระแทกไม่ถึง ในขณะที่โม่ที่ใช้กระสุนขนาด 9 มม.พาราฯ ก็ไม่สามารถนำ ลูก .380 เอซีพี หรือลูก .38 ซูเปอร์ใส่เข้าไปได้ พูดง่ายๆคือ รูเกอร์เขาทำมาพอเหมาะพอดี ไม่ต้องกังวลว่าจะใส่กระสุนผิดคู่ผิดฝา

โม่ 2 ขนาด คือ .357 แม็กนั่ม และ 9 มม. พาราฯ โปรดสังเกตโม่ขนาด .357 แม็กนั่ม จะใช้ลูก 9 มม. พาราฯ ใส่ไม่ได้

เสน่ห์ของปืนซิงเกิลแอ๊คชั่นจุดหนึ่ง ก็คือ การบรรจุลูกและคัดปลอกที่ต้องกระทำทีละนัด รูเกอร์เขาออกแบบประตูโม่ซึ่งเมื่อเปิดออกโม่จะหมุนฟรี ไม่ต้องง้างนกแบบฮาล์ฟค็อกอย่างปืนซิงเกิลแอ๊คชั่นในสมัยก่อน ในตอนนี้เราสามารถหมุนโม่ให้ช่องโม่ตรงกับประตูโม่ และสอดกระสุนเข้าไปทีละนัด ในช่วงนี้รูเกอร์เขาสร้างระบบความปลอดภัยไว้ คือ เมื่อเปิดประตูโม่ออกจะไม่สามารถง้างนกปืนได้ นอกจากนั้นหากเราง้างนกไว้ก็จะเปิดฝาประตูโม่ไม่ได้เช่นกัน

การคัดปลอกกระสุนนั้น แบล็กฮอว์กตัวนี้เขามีก้านคัดปลอกกระสุนเป็นฝักอยู่ข้างลำกล้อง เวลาจะคัดปลอกก็ให้ชี้ปากลำกล้องขึ้นฟ้า จากนั้นเปิดประตูโม่ออก แล้วใช้นิ้วดันปลายก้านคัดปลอกเข้ามาในช่องโม่ และกระทุ้งปลอกออกทางประตูโม่ทีละนัด สำหรับตรงนี้มีปืนซิงเกิลแอ๊คชั่นบางยี่ห้อ เขาทำจังหวะที่ช่องโม่จะหมุนมาตรงกับประตูเปิดโม่ พอหมุนไปเสียงดังกริ๊กก็สามารถกระทุ้งปลอกออกได้พอดี แต่สำหรับปืนรูเกอร์ เขาไม่ได้ทำกลไกนี้ขึ้นมา ฉะนั้นจึงต้องอาศัยความคุ้นเคยกันนิดหน่อยครับ ผมแนะนำอย่างนี้นะครับ คือ เวลาคัดปลอกกระสุนนัดแรกออกไปแล้วให้หมุนโม่ไป (โม่จะหมุน ตามเข็มนาฬิกา) และเมื่อช่องโม่ที่ผ่านไปแล้ว อยู่ในตำแหน่งเกือบพ้นขอบประตูโม่ ก็จะเป็นจุดที่ช่องโม่ต่อไปตรงกับตำแหน่งคันคัดปลอกพอดี หลักการนี้สามารถใช้ในการบรรจุกระสุนได้ด้วยครับ

ภาพซ้าย : กลุ่มกระสุนของผู้ทดสอบ ขนาด 9 มม. พาราฯ(ซ้าย) และ .357 แม็กนั่ม(ขวา)
ภาพขวา : น.ท.สุรพล ผู้ทดสอบยืนยิงมือเดียวด้วยลูก .357 แม็กนั่ม

รูเกอร์ แบล็กฮอว์กกระบอกนี้ ทำผิวโลหะแบบรมดำที่เรียกว่ามันปลาบ (black and lustrous) พิมพ์ซีเรียลนัมเบอร์ไว้ที่กรอบโม่ด้านล่าง สำหรับปืนกระบอกนี้มีซีเรียลนัมเบอร์ 37-63808 และเพื่อป้องกันไม่ให้สับสนหากมีปืนหลายกระบอกและอาจสลับโม่กันเขาได้ จำหลักเลขท้าย 3 ตัวของซีเรียลนัมเบอร์ไว้ที่ด้านหน้าของโม่ทั้งสองด้วย โครงด้ามของแบล็กฮอว์กเป็นโลหะผสมเคลือบผิวดำ โดยมีประกับด้ามเป็นไม้เนื้อแข็งลายสวย

นักวิชาการปืนเขาพูดถึงปืนไว้ว่า หากลำกล้องปืนอยู่ในแนวใกล้เคียงกับแนวแขนมากที่สุด จะทำให้การยิงปืนเป็นไปด้วยดีและแม่นยำ รวมทั้งปืนจะไม่กระดกเงยมากนัก ว่ากันว่าปืนซิงเกิลแอ๊คชั่นได้รับการออกแบบให้ด้ามโค้งยกสูงขึ้นด้านบน ซึ่งจะทำให้แนวข้อมืออยู่ในแนวใกล้เคียงกับแนวลำกล้องมากขึ้น การควบคุมปืนจึงน่าจะทำได้ดีกว่า ปืนออโตหรือปืนรีวอลเวอร์ในสมัยใหม่

ซ้าย : กลุ่มกระสุนของหมอจันทร์ และขวา : กลุ่มกระสุนของ อ.วีระ ซ้าย : ผอ.สุวิทย์ ทำกลุ่มกระสุนด้วยลูก 9 มม.พาราฯ และ ขวา : กลุ่มกระสุนของดร.เทียนชัย

การยิงทดสอบปืนซิงเกิลแอ๊คชั่นเรา พยายามทำให้เหมือนจริงเช่นที่ชาวโคบาล เขาใช้ปืนกันนั่นคือ การยืนยิงมือเดียวในระยะ 15 เมตร การเล็งปืนกระทำได้ดี เนื่องจาก แนวข้อมืออยู่ใกล้กับแนวลำกล้องมากกว่าปืนรีวอลเวอร์ดับเบิลแอ๊คชั่นหรือปืนออโต รวมทั้งการที่รูเกอร์เขาทำศูนย์หน้าทรงสูงรูปสามเหลี่ยมที่ตั้งอยู่บนฐานยกสูงประกอบ กับศูนย์หลังแบบปรับได้ทำให้การจัดแนวเล็งทำได้ดี พอถึงตรงนี้ต้องขอชมเชยบรรดานักเลงปืนในสมัยก่อนของสหรัฐฯ ที่ยิงปืนชนิดนี้ได้แม่นยำโดยที่ปืนมีศูนย์หลังแบบร่องบากและศูนย์หน้าเตี้ยๆ ผู้ทดสอบเริ่มยิงด้วยลูก .357 แม็กนั่ม ก่อน รู้สึกว่าปืนเตะพอสมควรแม้ว่าจะถือปืนได้ดีและรู้สึกว่าด้ามปืนอยู่สูงก็ตาม 6 นัด ที่ยิงไปอยู่ในวงดำ 3 นัด อยู่ในวงแปด 1 นัด และวงเจ็ด 2 นัด พอมายิงในขนาด 9 มม. พาราฯ รู้สึกว่าลำกล้องแทบไม่กระดกเลย 6 นัดที่ยิงด้วยลูก 9 มม. พาราฯ อยู่ในวงดำเสียห้า หลุดไปวงแปด 1 นัด ผู้ทดสอบท่าน อื่นๆก็ยิงด้วย ในจำนวนนี้ อ.วีระยิงได้กลุ่มดีที่สุดเมื่อใช้ลูก .357 แม็กนั่มเพราะทุกนัดอยู่กลุ่มวงเอ๊กซ์และวงสิบ

กลุ่มของผู้พันสุพินท์ 2 ขนาด คือ .357 แม็กนั่ม (ซ้าย) และ 9 มม. พาราฯ (ขวา)

ปืนรูเกอร์ แบล็กฮอว์ก เป็นปืนที่ น่าสนใจจริงๆ เพราะนอกจากจะดำรงลักษณะแห่งปืนโคบาลไว้อย่างครบถ้วน แล้วยังเพิ่มเติมกลไกแบบใหม่ๆเข้าไว้ด้วย ปืนกระบอกนี้สามารถใช้ยิงซ้อมมือก็ได้ มีไว้ป้องกันตัวและผจญไพรก็ได้ และที่สำคัญที่สุดก็คือ สามารถใช้กระสุนได้หลายขนาด สนใจติดต่อ ห้างฯ ปืนเพ็ญจันทร์ มุมซอยหลังโรงหนังเฉลิมกรุง โทร. 222-9524, 222-0430 FAX : 223-2717.

นิตยสารอาวุธปืน ฉบับที่ 316 กุมภาพันธ์ 2544 มีวางจำหน่ายตามแผงหนังสือทั่วประเทศ

Copyright ©2000 www.gunsandgames.com Powered by eighteggs.com