ิวลสัน
KZ-45 ปืนออโตที่จัดว่าเป็นปืนอภิมหาอมตะมีอยู่ด้วยกันหลายแบบ แต่ปืนส่วนใหญ่อย่างเช่น พาราเบลลัม หรือเมาเซอร์ด้ามไม้กวาด ถึงจะจัดได้ว่าเป็นปืนที่เคยประสพความ สำเร็จเป็นอย่างสูงในยุคสงครามโลกทั้งสองครั้ง แต่ก็คงจะต้องยอมรับว่าระบบกลไก ของปืนเหล่านี้ได้ล้าสมัยไปแล้ว ยังคงเหลือแต่ปืนโคลท์ M1911 เท่านั้นที่ยังคงยืนหยัด อยู่ในแวดวงของนักเล่นปืนได้ตลอดมา และที่สำคัญก็คือ M1911 ไม่ได้เป็นปืนที่โดนจับ ขึ้นหิ้งในฐานะวัตถุโบราณประเภทที่เวลาจะเอามายิงแต่ละครั้งต้องตรวจสภาพปืนแล้ว ยังต้องระวังว่ากระสุนรุนแรงเกินไปหรือเปล่า
แต่ปืนในตระกูล M1911 จะเป็นปืนที่เจ้าของนำขึ้นแท่นรับรางวัลในการแข่งขัน แบบรณยุทธ์หรือกึ่งรณยุทธ์ประเภทต่างๆ นับตั้งแต่ IPSC และการแข่งในแบบสปีดอีเวนท์ทั้งหลายมาจนถึงปืนสั้นชาวบ้านและระบบพาดยิง 50 เมตรที่กำลังเข้มข้นกันที่ สนาม ร.ด. และถ้าเราจะสังเกตให้ดีก็จะพบว่านับตั้งแต่สิทธิบัตรในการคุ้มครองแบบปืน ชนิดนี้หมดอายุลงไป ก็ได้มีผู้ผลิตปืนในสไตล์ของ M1911 เกิดขึ้นอย่างมากมาย ซึ่งมีทั้ง ปืนที่ลอกแบบ M1911 มาทั้งดุ้นกับประเภทเกรดสุดยอดที่เป็นปืนคัสตอมหรือไม่ก็เป็น ปืนที่ปรับปรุงออกไปโดยมีจุดยืนเป็นของตัวเอง อย่างเช่น คิมเบอร์ STI หรือว่า แคสเปี้ยน ส่วน บิล วิลสัน
ก็จัดเป็นผู้ผลิตปืนรายใหม่ที่เริ่มเข้ามาสู่วงการด้วยการเป็นช่าง รับจ้างแต่งปืนคัสตอมกับเปิดโรงเรียนสอนยิงปืน
ต่อมาก็ได้เริ่มผลิตชิ้นส่วนซิ่งปืนออก มาขายในแบรนด์ของตัวเองมาจนขึ้นสู่ระดับของการเป็นโรงงานผู้ผลิตอาวุธปืนในที่สุด
ปืน M1911 ในขนาด .45 แต่เดิมมา ซองกระสุนจะบรรจุได้ 7 นัด แล้วก็มีการ ตัดสปริงให้สั้นลงนิดหน่อยทำให้บรรจุได้เพิ่มขึ้นอีก 1 นัดกลายเป็น 8 นัด แต่ก็มีผู้ผลิต อีกหลายรายที่ใช้วิธีระเบิดโครงด้ามออกไป เพื่อจะใช้ซองกระสุนแบบแถวคู่ทำให้บรรจุ กระสุนได้เพิ่มเป็น 13 หรือว่า 14 นัด หรือถ้าเป็นปืนแบบโมดูลาร์ก็อาจจะบรรจุได้มาก กว่านั้นถ้ายอมให้ด้ามยาวออกมาสักหน่อย แต่เมื่ออเมริกาเกิดออกกฎหมายลอกตามอย่างประเทศไทยให้ซองกระสุนบรรจุได้ไม่เกิน 10 นัด เที่ยวนี้ปืนที่เคยบรรจุกระสุนได้ 13-14 นัดชักจะอยู่ไม่เป็นสุขแล้ว เพราะถึงแม้ว่าตัวเองจะ "ตอน" ซองกระสุนให้บรรจุกระสุนได้ 10 นัดแบบถูกต้องตามกฎหมายแล้วก็จริง แต่ลูกค้าชักสงสัยว่ามันเรื่องอะไรที่ตัวเองจะต้องทนกำด้ามอ้วนๆของ ปืนลูกดกที่บรรจุกระสุนแค่ 10 นัด ดังนั้น เพื่ออุดช่องว่างของตลาดในจุดนี้ วิลสันจึงได้ ออกแบบปืนแบบ KZ-45 ของตัวเองออกมาให้บรรจุกระสุนได้ 10 นัดตั้งแต่แรกเสียเลย
KZ-45 เป็นปืนที่วิลสันออกแบบให้ใช้โครงปืนเป็นโพลิเมอร์เพื่อลดน้ำหนัก กับทำให้โครงด้ามบางลงและยังช่วยดูดซับแรงรีคอยล์เพื่อการยิงที่นิ่มนวล แต่โครงโพลิเมอร์ ของ KZ-45 จะพิเศษกว่าชาวบ้านเขาตรงที่มีโครงสเตนเลสส์ชั้นในมาทำหน้าที่เป็นราง รับสไลด์กับส่วนที่จะร้อยสลักยึดชิ้นส่วนเครื่องลั่นไกเอาไว้ ซึ่งจะต้องรับแรงกระแทกและการเสียดสีต่างๆ พูดง่ายๆก็คือว่า เอาโครง ปืนเหล็กสเตนเลสส์มาตัดส่วนที่เป็นด้ามกับโกร่งไกออกไป แล้วก็ใช้โพลิเมอร์มาหล่อหุ้ม เอาไว้อีกทีหนึ่ง แต่การทำไม่ได้เป็นเรื่องง่ายๆ เหมือนกับการพูดหรอกครับ เพราะตามปกติ สเตนเลสส์จะเป็นโลหะที่ลื่นไม่ค่อยจะยอมยึดติดกับอะไรง่ายๆอยู่แล้ว ยิ่งมีแรงรีคอยล์ จากกระสุนปืนซึ่งมีทั้งแรงกด แรงดึง แรงเฉือนต่างๆ มาคอยห้ำหั่นอยู่แบบนี้ ดีไม่ดี อาจจะเสียชื่อเอาง่ายๆ
วิลสันใช้วิธีมอบงาน R&D หรือการวิจัยและพัฒนาการในเรื่องนี้ให้กับแอฟริกาใต้ ช่วยทำโครงปืนส่งให้ ไม่ใช่ว่าฝรั่งแอฟริกาใต้เก่งกว่าฝรั่งของอเมริกาหรอกครับ นัยว่า โรงงานทางนั้นเขาจับงานแบบนี้อยู่แล้ว และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือค่าจ้างทำ R&D ของแอฟริกาใต้ถูกสตางค์กว่าของอเมริกาโขอยู่ เรื่องนี้ต้องนับว่าวิลสันตัดสินใจได้ถูกต้องแล้ว เพราะปืนเป็นสินค้าที่มียอดขายไม่มากนักถ้าไปทุ่มงบให้กับการวิจัยในเรื่องหนึ่ง เรื่องใดมากเกินไป ราคาปืนก็จะพุ่งสูงเกินกว่าที่ผู้บริโภคจะยอมรับได้ โครงปืน KZ-45 ใช้สเตนเลสส์เบอร์ 17-4 ชุบแข็งในระดับ 28 ถึง 30 ร็อกเวล แล้วในส่วนที่จะเอาโพลิเมอร์มาหุ้มทับก็ทำผิวสเตนเลสส์ให้มีโครงสร้างเป็นรูปรวงผึ้งเพื่อ ความแข็งแรงและเพิ่มพื้นที่ยึดเกาะอย่างมั่นคง เมื่อสำเร็จออกมาเป็นโครงปืนจะได้มีน้ำหนัก เบาพอๆกับโครงปืนอะลูมินั่ม แต่ได้ความแข็งแรงของเหล็กสเตนเลสส์กับความยืดหยุ่น ของโพลิเมอร์มาช่วยดูดซับแรงรีคอยล์ ที่จริงแล้วอาจจะพูดได้เลยว่า KZ-45 เป็นฝีมือ ของวิลสันทั้งกระบอก เพราะแอฟริกาใต้ส่งโครงปืนในสภาพที่ขึ้นรูปเบื้องต้น ต่อจากนั้น วิลสันจึงได้นำโครงปืนมากัดรางรับสไลด์และเจาะรูสำหรับร้อยสลักเซียร์ และห้ามไกกับ สลักนกปืน
สไลด์ของ KZ-45 เป็นเหล็กกล้า รมดำด้านได้ผิวเหล็กกับสีของรมดำเป็น โทนเดียวกับเนื้อโพลิเมอร์ แต่ผิวเหล็กของ KZ-45 จะเรียบเนียนมือดีกว่าของปืนอื่นๆ ตรงนี้ผู้สันทัดกรณีชันสูตรดูแล้วให้ความเห็นว่า วิลสันทำผิวปืนให้ด้านด้วยวิธีพ่นด้วยทราย ลูกแก้วแทนที่จะเป็นทรายเหล็กธรรมดา ซึ่งทำให้ได้ผิวโลหะที่เรียบเนียนและไม่สะท้อน แสง นอกจากนั้น เวลาที่ใช้ผ้าน้ำมันเช็ดจะไม่เกี่ยวดึงเนื้อผ้าออกไปติดอยู่กับผิวเหล็ก เหมือนกับปืนที่ทำผิวด้านด้วยการพ่นทราย ธรรมดา ชิ้นส่วนต่างๆ ที่ประกอบมาเป็นตัวปืนล้วนแต่เป็นชิ้นส่วนสำหรับการตกแต่งเพื่อให้ ยิงได้อย่างแม่นยำและให้ความสะดวกสบายต่อผู้ใช้ และที่แน่ๆก็คือทุกชิ้นเป็นของวิลสันเอง แต่ปืนกระบอกนี้มีอยู่ชิ้นหนึ่งที่เปลี่ยนไม่ได้ เหมือนกับ M1911 กระบอกอื่นก็คือตัวเตะปลอกกระสุนหรือ Ejector เพราะทำมาเป็นชิ้นเดียวกับโครงปืน แล้วตัวเตะปลอกที่ติดมากับปืนก็เป็นแบบหางยาว ไม่ต้องเป็นห่วงว่า เวลายิงลูกอ่อนๆแล้วปลอกกระสุนจะกระเด็นใส่หน้าตาเหมือนกับโคลท์มาตรฐาน
ที่แปลกจากโคลท์อีกอย่างหนึ่งก็คือ วิลสันกระบอกนี้ใช้ขอรั้งปลอกแบบฝังเข้าไป ด้านข้างเหมือนกับปืนสมัยใหม่ทั่วไป ถ้าถามว่าดีกว่าเดิมหรือเปล่า ก็คงต้องตอบว่า ขอรั้งแบบนี้มีประสิทธิภาพดีกว่าขอรั้งของโคลท์ M1911 แน่นอน โดยเฉพาะในการ หยอดกระสุนเข้าไปในรังเพลิงแล้วปิดสไลด์ตามเข้าไป ขอรั้งจะอ้าออกมาจับจานท้ายกระสุนไว้ได้อย่างดี เพราะเขาออกแบบไว้ให้ทำอย่างนั้นอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นในแง่ของเจ้าของปืนก็คงชอบขอรั้งแบบดั้งเดิมของโคลท์ เพราะมีเพียงชิ้นเดียว ถอดก็ง่ายแค่เลื่อนแผ่นปิดท้ายเข็มลงไปก็ปลดขอรั้งออกมาจากตัวปืนได้แล้ว ขอรั้งดั้งเดิมของโคลท์จะออกแบบให้กระสุนยกตัวขึ้นมาจากซองกระสุนเลื่อน เข้าไปอยู่ในร่องขอรั้งเวลาซิ่งปืนโคลท์ ช่างที่รอบคอบมักจะลบมุมที่ปลายขอรั้งออก พร้อมกับขัดให้เรียบลื่น เพื่อให้ขอรั้งสามารถจะอ้าออกมาคาบจานท้ายกระสุนได้ เวลาที่เจ้าของปืนหยอดกระสุนเข้ารังเพลิงแล้วปิดสไลด์ตามปลายขอรั้งจะได้ไม่หักหรือบิ่น
อันที่จริง อวป. ฉบับที่ 310 ประจำเดือนสิงหาคม 2543 ก็เคยได้ทำการทดสอบปืนวิลสัน KZ-45 มาครั้งหนึ่งแล้ว แต่ปืนกระบอกนั้นเป็นรุ่นกึ่งยิงเป้าใช้สไลด์เป็น สเตนเลสส์ติดศูนย์หลังแบบปรับได้เต็มที่ ส่วน KZ-45 ที่เรานำมาทดสอบในฉบับนี้เป็น รุ่นใช้งานป้องกันตัวสไลด์เหล็กกล้ารมดำ ไม่ใช้ศูนย์ปรับแต่เป็นศูนย์คอมแบ็ทแบบ เรืองแสงด้วยสารทริเทียม (Tritium) ซึ่งจะเรืองแสงได้ในตัวเองและจะคงสภาพเรืองแสง ไปได้นานหลายสิบปี ทริเทียมเป็นไอโซโธปตัวหนึ่งของก๊าซไฮโดรเจน ยังจำได้ไหมครับว่าไฮโดรเจนเป็นธาตุที่เบาที่สุดในโลก เพราะอะตอมของไฮโดรเจนประกอบด้วยโปรตอน 1 ตัว ทำหน้าที่เป็นนิวเคลียสกับมีอิเล็กตรอนอีก 1 ตัววิ่งวนอยู่รอบๆ แต่ไฮโดรเจนยังมีไอโซโธป อยู่อีก 2 ตัว จัดเป็นของหายากทั้งคู่เพราะใช้ในงานเกี่ยวกับนิวเคลียร์อยู่ด้วยกัน คือ ตัวแรกจะเป็นดิวเทอเรียม (Deuterium) ซึ่งเป็นก๊าซที่มีความหนาแน่นมากกว่าไฮโดรเจน 2 เท่าเพราะมีนิวตรอนอีก 1 อนุภาคเข้าไปเป็นเพื่อนโปรตอนอยู่ในนิวเคลียส ดิวเทอเรียม จะใช้ทำน้ำชนิดหนัก (Heavy Water) หรือดิวเทอเรียมอ็อกไซด์ที่ใช้ในเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์
ส่วนอีกตัวหนึ่งคือ ทริเทียม ซึ่งเป็นไฮโดรเจนที่มีน้ำหนักมากกว่าเพื่อน เพราะดันมีนักวิทยาศาสตร์ที่มืออยู่ไม่สุขจับเอานิวตรอนอีก 2 อนุภาคเข้าไปกอดอยู่กับ โปรตอนรวมกันเป็นนิวเคลียสหรือแก่นกลางของทริเทียม ไอ้เจ้าก๊าซทริเทียมนี้ว่ากันว่า ถ้าชั่งน้ำหนักเทียบกันแล้วถือว่าเป็นสารที่แพงที่สุดในโลก แถมยังเตรียมได้ยากมีเพียงไม่กี่ประเทศที่ผลิตก๊าซนี้ออกมาได้ ตามปกติ แล้วเขาจะใช้ทริเทียมเป็นสารเพิ่มอานุภาพให้กับระเบิดนิวเคลียร์ แต่การที่ทริเทียมเป็นสารที่ปล่อยกัมมันตรังสีได้และมีความปลอดภัยพอสมควร จึงได้นำมาใช้เป็นวัสดุเรืองแสงให้กับเข็มทิศนาฬิกา หรือว่าศูนย์ปืนของเรา ตามปกติแล้วทริเทียมจะไม่เรืองแสงในตัวเอง แต่อนุภาคกัมมันตรังสีที่ทริเทียม ปลดปล่อยออกมาถ้าไปกระทบกับสารเรืองแสงก็จะทำให้สารนั้นเรืองแสงขึ้นมา เป็นสีต่างๆกันตามแต่ชนิดของสารที่นำมาใช้ในทางปฏิบัติก็คือเขาจะใช้หลอดแก้วขนาดจิ๋ว ภายในหลอดเคลือบสารเรืองแสงเอาไว้ จากนั้นก็เติมทริเทียมเข้าไปในหลอดแล้ว ต้องปิดหลอดแก้วให้สนิท เนื่องจากทริเทียมได้ชื่อว่าเป็นสารที่เก็บรักษายากที่สุดแบบหนึ่ง เพราะถึงแม้จะเป็นไฮโดรเจนตัวที่หนักที่สุดก็จริงแต่ทริเทียมก็ยังเบากว่าอากาศมาก ขนาดโรงงานผลิตเองยังต้องใช้วิธีละลายก๊าซทริเทียมเก็บไว้ในสภาพของเหลว ไม่งั้นเผลอหน่อยเดียวก็ระเหยหนีไปหมด
ทราบอย่างนี้แล้วก็อย่าเอาอะไรไปแคะหลอดบรรจุทริเทียมในศูนย์ปืนเล่นนะครับ เกิดหลอดแตกขึ้นมาจุดเรืองแสงดับไปข้างหนึ่งมีหวังต้องทุบให้แตกอีกข้างหนึ่ง ไม่งั้นก็คงเล็งกลางคืนไม่ได้ แล้วถ้าจะซื้อของใหม่มาใส่ต้องซื้อกันทั้งศูนย์ เฉพาะหลอดเรืองแสง เปล่าๆ เขาไม่มีขายเสียด้วย ที่ถูกใจปืนกระบอกนี้อีกอย่างหนึ่งก็คือ วิลสันแนะนำกระสุนที่เหมาะสมกับปืนมาให้ด้วย โดยแยกออกมาเป็นกระสุนที่ไม่เหมาะกับปืนจำนวน 8 แบบ และกระสุนที่ปืนรุ่นนี้ ชอบอีกสิบกว่าแบบ มีทั้งกระสุนมาตรฐานและกระสุนแบบ +P และกระสุน Handload หรือกระสุนที่ผู้ใช้ "ปรุง" ขึ้นมาใช้กันเอง ถึงบ้านเราจะยังอัดกระสุนในบ้านเองไม่ได้ เหมือนกับในอเมริกา แต่ดูๆไว้เป็นการเสริมความรู้ดีกว่าอยู่เปล่าๆ
ดูจากรายการกระสุนแล้ว ปรากฏว่า เราหากระสุนที่โรงงานระบุมาไม่ได้เลยสักแบบหนึ่ง ก็เลยหากระสุนที่นิยมใช้ในบ้านเรามาได้ 4 แบบ เป็นบุลเล็ทหัวตะกั่ว 200 เกรนแบบที่มีขายอยู่ในสนามยิงปืนทั่วไป, ลูกเมเจอร์หัวตะกั่ว 200 เกรนที่อัดภายในประเทศ, วินเชสเตอร์หัวแข็ง 230 เกรน FMJ แล้วก็สเปียร์หัวรู +P 200 เกรน ปรากฏว่า วิลสันกระบอกนี้ยิงได้ทุกแบบโดยไม่ติดขัดเลยแม้แต่นัดเดียว นอกจากนั้น เวลายิงกระสุน เมเจอร์กับลูก +P ก็ยังมีความรู้สึกว่ายิงได้นิ่มนวลดีทั้งๆที่เป็นปืนน้ำหนักเบามาก. ผู้ส่งทดสอบ
วิลสัน KZ-45 : จาก ห้างฯ ปืนเทเวศร์ |
||||||||||||||||||||||||||
นิตยสารอาวุธปืน
ฉบับที่ 316 กุมภาพันธ์ 2544 มีวางจำหน่ายตามแผงหนังสือทั่วประเทศ
|
Copyright
©2000 www.gunsandgames.com
Powered by eighteggs.com